ที่รัฐสภา ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ รับญัตติยื่นอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 จากพรรคร่วมฝ่ายค้าน พร้อมกล่าวว่า เป็นการอภิปรายเแบบไม่ลงมติ และเพื่อสอบถาม หารือ แนะนำ ให้ความเห็น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย นอกเหนือจากฝ่ายค้านจะมีข้อมูลแล้ว ฝ่ายรัฐบาลก็จะมีโอกาสได้ชี้แจงด้วย ซึ่งสภาก็จะเตรียมการในเวลาที่เหลืออยู่ ซึ่งในช่วงของกลางเดือนมกราคมจะมีการประชุมร่วมรัฐสภา หลังจากนั้น เมื่อรัฐบาลมีความพร้อมแล้ว ก็จะบรรจุญัตติมาตรา 152 ส่วนจะเป็นช่วงเวลาใดนั้นต้องให้กรรมการประสานงานของทั้งสองฝ่ายได้หารือกัน ว่าแต่ละฝ่ายจะใช้เวลาเท่าไหร่
ส่วนการประชุมในวันนี้ก็จะเห็นแล้วว่าองค์ประชุมครบถ้วน เมื่อพิจารณากฎหมาย 5 ฉบับในวาระจบ ก็ถือว่าจบ ซึ่งถือว่าเป็นเจตนารมย์ของทั้งสองฝ่าย ซึ่งปกติตามที่ตกลงกันไว้ จะมีการประชุมนัดพิเศษในทุกวันศุกร์ แต่ศุกร์นี้เป็นวันหยุดและเป็นสิ้นปี จึงต้องใช้วันนี้และพรุ่งนี้ (28-29 ธ.ค.65) เป็นวันประชุมสภาผู้แทนราษฎรแทนการประชุมร่วมรัฐสภา
ส่วนร่างอื่นๆ รวมไปถึงร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง รวม 3 ร่าง ที่จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาในวันพุธ ตนได้หารือกับ ศุภชัย ใจสมุทร ประธานกรรมาธิการ ว่าอย่างไรกฎหมายฉบับนี้ก็ต้องใช้เวลา จึงหารือว่า จะนัดประชุมพิเศษวันใดได้บ้าง เพราะฉะนั้นจะต้องหารือกับทุกฝ่าย หากมีการประชุมพิเศษและองค์ประชุมไม่ครบก็มีปัญหา พร้อมทั้งขอความร่วมมือสมาชิก ขอร้องว่า เราจะหยุดไม่ได้ เพราะประชาชนจะตำหนิได้ว่าไม่รับผิดชอบ เรื่องที่กรรมาธิการพิจารณาผ่านพ้นไปด้วยดี ซึ่งบางเรื่องใช้เวลาพิจารณามาแล้วเป็นปี ดังนั้นไม่มีเหตุผลใดที่จะปล่อยไว้ เพราะท้ายที่สุดเมื่อปล่อยให้ค้างไว้สมาชิกก็พูดไม่สามารถพูดได้ว่ามีผลงาน เพราะทำมาในชั้นกรรมาธิการแล้ว ไม่ผ่านรัฐสภา
ด้านนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ กล่าวว่า จากการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ มาตรา 151 ที่มีการเปิดยุทธการ เด็ดหัวสอยนั่งร้าน ครั้งนี้จะเป็นการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 เปิดยุทธการ "ถอดหน้ากากคนดี" หรือหลายคนอาจจะใช้คำว่ากระชาก เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการบริหารราชการแผ่นดิน เนื้อหาโดยรวมที่เราเสนอไปคือความล้มเหลวการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเรามีข้อคำถามที่จะสอบถามต่อคณะรัฐมนตรี และหลายเรื่องมีข้อเสนอแนะที่จะครอบคลุมทุกมิติ เพราะเป็นปีสุดท้าย จะใช้นโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาเป็นกรอบในการเสนอญัตติ โดยเฉพาะนโยบาย 12 ประการเร่งด่วน ที่ตรวจสอบว่า ไม่เป็นไปตามที่แถลงไว้ ถือว่าเป็นความล้มเหลว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี
"การถอดหน้ากากคนดีในครั้งนี้ จะให้เห็นว่าคนดีที่ใส่หน้ากากให้กับพวกเราดูมา 4 ปีหรือนับย้อนหลังไป 8 ปี โดยอ้างว่าเป็นคนดีเข้ามาแก้ไขปัญหาบ้านเมืองยื้อแย่งอำนาจจากประชาชน เมื่อเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินเป็นอย่างไร เนื้อแท้คนดีเป็นอย่างไร ผลงานที่คนดีมอบให้ประชาชนเป็นอย่างไร หลายเรื่องเราได้เตรียมพร้อมไว้หมดเจาะลึกทุกประเด็น และหากถามว่าใกล้เคียงกับการอภิปรายตามมาตรา 151 หรือไม่นั้น
"เนื้อหาสาระจะไม่แตกต่างกันเพียงแต่เราจะไม่มีการลงมติ เราจะถอดหน้ากากคนดีกันเพื่อให้ประชาชนได้เห็นโดยเฉพาะปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งใหญ่ ซึ่งประชาชนจะได้ใช้โอกาสนี้ในการตรวจสอบและได้ดูคนดีที่แท้จริงเป็นอย่างไรและจะได้ตัดสินใจในการเลือกตั้งได้ พรรคร่วมฝ่ายค้านนับเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ใจว่าจะทำหน้าที่แทนประชาชนให้สมบูรณ์ที่สุดเพื่อให้ประชาชนได้ข้อมูลที่ดีที่สุด แล้วหวังว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านเราในฐานะฝ่ายประชาธิปไตยจะได้รับโอกาสจากประชาชน" นายแพทย์ชลน่าน กล่าว
เมื่อถามว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเห็นรัฐบาลที่มาจากพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือไม่ นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า เป็นการตัดสินหลังจากที่มีการเลือกตั้งถ้าพรรคร่วมฝ่ายค้านได้รับโอกาสและมอบหมายอำนาจจากประชาชน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด และมั่นใจว่าสามารถทำงานร่วมกันได้อยู่แล้ว ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าในการอภิปรายครั้งนี้จะมีอาจจะละเว้นพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายกรัฐมนตรี นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า เนื้อหาในญัตติมีการเขียนในกรอบที่เกี่ยวกับรองนายกรัฐมนตรี เราพูดในนามของคณะรัฐมนตรีเป็นความรับผิดชอบร่วมตามมาตรา 164 แต่สิ่งที่จะหยิบยกมาให้เห็นที่เป็นภาพเด่นชัดอาจจะเจาะเป็นบางคน แต่ภาพใหญ่จะมีการรวมอยู่แล้ว
และการอภิปรายตามมาตร 152 นี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นจำเลยหมายเลข 1 ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่อยากเป็นเครื่องซักล้างให้ใคร แต่เราจำเป็นต้องล้างสิ่งที่แปดเปื้อนออกจากระบบรัฐสภา ในระบบประชาธิปไตย รวมถึงโอกาสของประชาชน ซึ่งเราจะต้องซักล้างให้ได้ดังนั้นพลเอกประยุทธ์ จึงเป็นเป้าหลัก เพราะถือเป็นผู้รับผิดชอบหลักโดย ทุกพรรคจะพุ่งเป้าไปที่พลเอกประยุทธ์
ส่วนรัฐมนตรีคนอื่นจะเป็นการหยิบยกตัวอย่างให้เห็นในแต่ละประเด็น ทั้งนี้แม่ว่าจะไม่มีการลงมติในสภา แต่เราหวังให้ประชาชนลงคะแนนตัดสินว่า การทำงานภายใต้ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์มีอะไรไว้วางใจให้สืบทอดอำนาจต่อไปหรือไม่ และพรรคร่วมฝ่ายค้านทีานำเสนอ มีอะไรที่ให้ประชาชนให้ไว้วางใจเข้ามาทำงานเพื่อประชาชน ซึ่งจะชี้ให้เห็นแต่อาจจะแตกต่างจากดารอภิปราวตามมาตรา 151 ที่ผ่านมา
ธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ว่า เป็นเพียงแค่เกมการเมือง ที่ฝ่ายค้านหวังใช้เวทีนี้ดิสเครดิตรัฐบาล และลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล แต่ยอมรับว่าเป็นกลไกตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งตนเองเห็นด้วยกับวิธีการ และรัฐบาลจะใช้เวทีนี้ เป็นโอกาสในการชี้แจง ทำความเข้าใจในทุกประเด็น
ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่า ไม่มีปัญหา หรือส่งผลกระทบกับรัฐบาล เพราะเชื่อว่านายกรัฐมนตรี จะสามารถตอบได้ทุกเรื่อง