ก่อนช่วงส่งท้ายปีเก่า เน็ตฟลิกซ์ปล่อยตอนพิเศษของซีรีย์ ‘แบล็ก มิเรอร์’ ที่มีแกนเรื่องเกี่ยวกับการเสียดสีภัยร้ายโลกเทคโนโลยีออกมา โดยใช้ชื่อตอนว่า ‘แบนเดอร์สแนทช์’ เรื่องราวย้อนไปในช่วงปี 1984 เกี่ยวกับเด็กหนุ่มที่ต้องผลิตเกมวางขายให้ฮิตทันช่วงเทศกาล
ความพิเศษของซีรีย์แบล็ก มิเรอร์ รอบนี้ คือการนำฟังก์ชันอินเตอร์แอ็กทีฟ หรือการปฏิสัมพันธ์ของผู้ชมเข้ามาใส่ ผ่านการเลือกหนึ่งช้อยส์จาก 2 ตัวเลือกระหว่างรับชม ซึ่งแต่ละช้อยส์จะพาไปสู่ผลลัพธ์เกี่ยวกับเนื้อเรื่องที่แตกต่างกันออกไป
แน่นอนว่า ความสำเร็จของแบนเดอร์สแนทช์นั้น ‘ปังมาก’ ได้รับความสนใจ และคำวิพากษ์หลากหลายล้นหลามบนโลกออนไลน์
อย่างไรก็ตาม แบนเดอร์สแนทช์ไม่ใช่ครั้งแรกที่เน็ตฟลิกซ์นำระบบภาพยนตร์เชิงโต้ตอบมาใส่ในซีรีย์ จริงๆ มีการทดลองตั้งแต่ช่วงปี 2017 ที่ผ่านมา ในภาพยนตร์แอนิเมชั่น แต่กลับไม่ค่อยปังเท่าไหร่
ทั้งนี้ เราอาจอนุมานเหตุผลง่ายๆ ได้ว่า ความสำเร็จของแบนเดอร์สแนทช์เกิดจากธีมเนื้อเรื่องของแบล็ก มิเรอร์ ที่ท้าทายศีลธรรมอยู่แล้ว จึงทำให้ผู้ชมอยากรู้อยากเห็นว่า การปฏิสัมพันธ์ในครั้งนี้จะพาตัวเอกลงเอยอย่างไรได้บ้าง? แต่เบื้องหลังของระบบอินเตอร์แอ็กทีฟยังมีอะไรที่มากกว่าความสนุกของผู้ชม เพราะมันเกี่ยวข้องกับบิ๊กดาต้า มาร์เก็ตติ้ง และอื่นๆ อีกมากมาย
หากใครยังไม่เคยชมแบนเดอร์สแนทช์ คงต้องขอเล่าคร่าวๆ แบบไม่สปอยล์เนื้อเรื่องว่า ในช่วงฉากต้นๆ จะมีการให้คนดูเลือกยี่ห้อซีเรียล 2 ยี่ห้อ และเลือกแนวเพลงที่ชอบฟังจาก 2 แนวเ��ลง
แม้เน็ตฟลิกซ์นั้นจะบอกว่า ตัวเองเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ แต่กลับเก็บข้อมูลลูกค้ามาเรื่อยๆ ตั้งแต่ยังให้เช่าหนังทางไปรษณีย์ด้วยซ้ำ
การที่เน็ตฟลิกซ์ออกตัวแรงมาตลอดว่า ไม่ใช่บริษัทไอที และจะไม่เปิดเผยข้อมูลผู้ชม ซึ่งก็ใช่ เพราะเน็ตฟลิกซ์เคยเปิดเผยยอดผู้ชมแทบจะนับครั้งได้ด้วยซ้ำ แต่ก็ต้องยอมรับว่า เน็ตฟลิกซ์เป็นบริษัทหนึ่งที่มีดาต้าในมือมหาศาล สังเกตง่ายๆ ได้ที่หน้าโฮมของผู้ใช้แต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน เพราะทางแอปพลิเคชันเลือกภาพยนตร์แนะนำให้ตามความชอบ และประวัติการใช้งานของบุคคลที่เก็บเข้าไว้
การเพิ่มฟังก์ชันตัวเลือกเข้ามาให้ผู้ใช้งานเลือก ยิ่งทำให้ทางแอปฯ สามารถรับรู้การตัดสินใจของผู้ชมได้ทันที ผ่านตัวเลือก ว่าชอบผลิตภัณฑ์ยี่ห้อไหน ชอบแนวเพลงอะไร หรือมีพฤติกรรมการตัดสินใจในทิศทางไหน ใช้เวลานานแค่ไหนในการตัดสินใจเลือก 1 ใน 2 ตัวเลือก - โดยเฉพาะการตัดสินว่าจะให้ใครตาย - หรือตายด้วยรูปแบบไหน
นอกจากนี้ ข้อมูลที่มีอยู่ยังสามารถใช้ทำการตลาดในฐานะพื้นที่โฆษณาแบบไท-อิน ได้อีกด้วย ทั้งในรูปแบบของการปฏิสัมพันธ์ให้คนดูเลือก หรือในเนื้อเรื่องที่ไม่มีตัวเลือก แต่เลือกปรากฏยี่ห้อสินค้าให้เหมาะสมกับความชอบของผู้คนนั้นๆ แปลว่า - ดูหนังเรื่องเดียวกัน แต่อาจจะโดนไท-อินสินค้าคนละยี่ห้อก็ได้
ปัจจุบัน ตัวเลือกในเน็ตฟลิกซ์ยังมีแค่ 2 แต่ในอนาคตหากเน็ตฟลิกซ์เดินหน้าเก็บข้อมูลผ่านระบบอินเตอร์แอ็กทีฟ จริงๆ ขึ้นมา และมองเห็นช่องทางการทำการตลาดแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน การเพิ่มตัวเลือกให้มากกว่า 2 ก็เป็นวิธีที่น่าสนใจไม่น้อย
เมื่อช่วงกรกฎาคมปีที่แล้ว มูลค่าหุ้นเน็ตฟลิกซ์ขึ้นสูงสุดในประวัติศาสตร์ แต่ก็ค่อยๆ ตกลงมาถึง 37 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน ซึ่งน่าจะมาจากกระแสข่าวที่ดิสนีย์เตรียมเปิดแพล็ตฟอร์มสตรีมมิ่งของตัวเอง ‘ดิสนีย์+’ ในปีนี้ ขณะเดียวกัน อะแมซอน ไพรม สตรีมมิ่งของอะแมซอนก็เริ่มตีตื้นเรตติ้งขึ้นมา หลังจากปรับกลยุทธ์คอนเทนต์มาตลอด
นี่เป็นศึกหนักที่เน็กฟลิกซ์จะเจอในปีนี้ เพราะเมื่อดิสนีย์มา บรรดารายการของดิสนีย์ที่เคยอยู่ในเน็ตฟลิกซ์ และสตรีมมิ่งเจ้าอื่น จะโดนดึงคืนไปฉายเองหมด มากไปกว่านั้น ดิสนีย์ประกาศเตรียมผลิตคอนเทนต์ป้อนสตรีมมิ่งตัวเองเรียบร้อย อาทิ ซีรีย์ภาคแยกของฮีโร่ตัวรองจากจักรวาลมาร์เวล
แม้ดิสนีย์เคยเปรยๆ ว่าไม่ได้จะเข้ามาแข่งกับใคร แต่นั่นเหมือนจะเป็นวาจาที่เป็นไปไม่ได้ เพราะดิสนีย์มีหมดทุกอย่าง ไม่ว่าจะฐานผู้ชมที่หนาแน่น และคอนเทนต์ที่หนักแน่น
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์สายเทคโนโลยีหลายรายต่างมองว่า ในคลื่นสงครามสตรีมมิ่งปีนี้ เน็ตฟลิกซ์ที่เป็นเจ้าตลาด อาจจะไม่โดนกลืนไปมากอย่างที่เราคิดก็ได้ เพราะดูท่าทางค่ายก็เตรียมตัวอยู่เบื้องหลังเหมือนกัน
การปล่อยฟีเจอร์อินเตอร์แอ็กทีฟออกมาในช่วงเวลาปลายอีกครั้งก็ถือว่าเวลาเหมาะเจาะ ซึ่งแน่นอนว่า ตอนนี้เน็ตฟลิกซ์ขึ้นแท่นเป็นเจ้าเทคโนโลยีชนิดนี้ ภายหลังแบนเดอร์สแนทช์ประสบความสำเร็จ
นอกจากจะต้ิงรอดูว่าดิสนีย์+ จะเปิดตัวบนช่องทางไหน ราคาเท่าไหร่ คอนเทนต์ออริจินัลมีอะไรบ้าง และจะสามารถใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์ความชอบคนดูได้เท่าเน็ตฟลิกซ์หรือไม่...
ผู้ชม + คอนเทนต์ + แพล็ตฟอร์ม + แบรนด์และการตลาด ล้วนเป็นสิ่งที่เน็กฟลิกซ์ต้องโฟกัสเพิ่มความแข็งแรง เตรียมตัวรอในวันนี้
ที่มา :