วันนี้ (4 พฤศจิกายน 2567) เวลา 15.00 น. ณ บริเวณทางเชื่อมตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการหารือพรรคร่วมรัฐบาล กรณี MOU 44 บันทึกข้อตกลงไทย - กัมพูชา เกี่ยวกับกรอบเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย – กัมพูชา โดยยืนยันว่า เกาะกูดเป็นของประเทศไทย และเป็นมาตั้งนานแล้ว ซึ่งไทยและกัมพูชาต่างรับรู้อยู่แล้วว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย และเป็นไปตามสนธิสัญญาฝรั่งเศส ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลจะไม่ยอมเสียพื้นที่ของประเทศไทยแม้แต่ตารางนิ้วเดียวไปให้ใครก็ตาม
นายกรัฐมนตรีย้ำว่า 'เกาะกูด' ไม่เคยมีปัญหากับทางกัมพูชา และไม่เคยมีข้อสงสัยในเรื่องนี้ อาจจะเกิดความเข้าใจผิดกันของคนในประเทศไทยเอง ซึ่งความจริงแล้วขอให้มั่นใจได้ว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย ส่วน MOU 44 ยังคงอยู่ไม่สามารถมีการยกเลิกได้ หากจะยกเลิกต้องใช้ข้อตกลงระหว่าง 2 ประเทศ หากไทยยกเลิกเองก็ไม่สามารถทำได้ เพราะอาจถูกฟ้องได้ เพราะเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ
ส่วนรัศมีรอบเกาะกูดในพื้นที่ทะเล มีความชัดเจนอย่างไรนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า MOU ดังกล่าว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเกาะกูด เพราะเส้นที่ตีหากไปดูทางกัมพูชาก็ได้ตีเส้นเว้นเกาะกูดไว้ เรื่องนี้จึงไม่เกี่ยวกัน ซึ่งในการพูดคุยไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ดิน แต่มีการพูดคุยทางทะเลในสัดส่วนที่มีการขีดเส้น ซึ่ง MOU มีการขีดเส้นไม่เหมือนกัน แต่เนื้อหาใน MOU เป็นข้อตกลงจะมีการเจรจากันทั้งสองประเทศ นี้คือความหมายใน MOU 44 ดังนั้นจะเกิดอะไรขึ้น หรือต้องตกลงพูดคุยกันอย่างไร ต้องมีคณะกรรมการ คณะทำงานมาพูดคุยกัน ซึ่งตอนนี้คณะกรรมการทางกัมพูชามีอยู่แล้ว แต่ของไทยเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ต้องเปลี่ยนคณะกรรมการด้วย เนื่องจากคณะกรรมการต้องจบไปตามรัฐบาล ตั้งแต่สมัยรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ก็มีคณะกรรมการนี้เกิดขึ้น ดังนั้น รัฐบาลอยู่ระหว่างจัดตั้งคณะกรรมการนี้อยู่ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการ จะได้คณะกรรมการในเร็วๆ นี้ เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการเสร็จสิ้น ก็จะมีการศึกษาและหารือกัน ว่าระหว่างประเทศจะดำเนินการข้อตกลงอย่างไร
ส่วนที่มีการมองว่า หากไม่ยกเลิก MOU 44 จะทำให้ไทยยอมรับเส้นของกัมพูชานั้น นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด ไม่มีการยอมรับเส้นใด ๆ ซึ่ง MOU นี้ คือการที่คิดไม่เหมือนกันแต่ต้องแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศซึ่งตั้งแต่ปี 2515 กัมพูชาได้ดำเนินการขีดเส้นมาก่อน เมื่อปี 2516 ประเทศไทยก็ดำเนินการขีดเส้นด้วย เมื่อขีดเหมือนกัน แต่ข้อตกลงข้างในไม่เหมือนกัน จึงต้องมี MOU ขึ้นมา แล้วเปิดการเจรจา เป็นความเท่าเทียมกันว่าทั้งสองประเทศ จะต้องพูดคุยกันว่าจะดำเนินการอย่างไร โดย MOU นี้ไม่เกี่ยวข้องกันเกาะกูด และเกาะกูดก็ไม่ได้อยู่การเจรจา จึงขอให้คนไทยสบายใจได้ว่าจะไม่เสียเกาะกูดไป ซึ่งกัมพูชาไม่สนใจเกาะกูดของไทย เพราะไม่ได้อยู่ในการเจรจานี้ จึงขอให้ประชาชนอย่ากังวลเรื่องนี้
ขณะเดียวกันมีข้ออ้างว่า ไทยมีมติ ครม. ยกเลิก MOU 44 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยืนยันว่าไม่มีเรื่องนี้ ข้อเท็จจริงคือ MOU 44 ยกเลิกไม่ได้ ถ้าไม่มีการตกลงระหว่างสองประเทศ และเรื่องนี้ต้องเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่มี และเมื่อปี 2552 ไม่ได้นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภา และในปี 2557 พลเอกประยุทธ์ ยืนยันเป็นเนื้อเดียวกัน มีมติ ครม.ว่าไม่มีการยกเลิก
ส่วนมีกระแสให้มีการยกเลิก MOU 44 นายกรัฐมนตรี จะดำเนินการแก้ไขอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาบานปลาย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถ้ายกเลิกแล้วได้อะไร ซึ่งการยกเลิกแล้วได้อะไร ต้องกลับมาที่เหตุและผล ทุกประเทศอาจคิดไม่เหมือนกันได้ เมื่อคิดไม่เหมือนกันก็ต้องมีข้อตกลงเพื่อมาพูดคุยกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ การรักษาความสงบของประเทศเป็นสิ่งสำคัญดังนั้นใน MOU นี้ เปิดให้ทั้งสองประเทศพูดคุยกัน ซึ่งหากไทยยกเลิกอาจโดนฟ้องร้องจากกัมพูชาอย่างแน่นอน ไม่มีประโยชน์ใด ๆ ซึ่งการหารือในวันนี้ ยืนยันว่าตนเองรับฟังเสียงคัดค้าน จึงมีการมาพูดคุยและทุกคนตกลงในเนื้อหาเดียวกันอย่างง่ายดาย และเข้าใจตามรายละเอียดว่า เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศไม่เกี่ยวกับเสียงคัดค้าน วันนี้ที่ออกมาชี้แจงให้ประชาชนได้เข้าใจเพื่อจะอธิบายให้ทุกคนเข้าใจว่า MOU ไม่เกี่ยวกับเกาะกูด และ MOU เป็นเรื่องข้อตกลงระหว่างประเทศ และไทยยังไม่ได้เสียเปรียบในเรื่องของการตกลงเรื่องนี้ อย่านำเรื่องการเมืองมาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสั่นคลอน ขอให้ทำความเข้าใจต่าง ๆ ให้ตรงกันตามหลัก และพรรคร่วมรัฐบาล ก็เห็นด้วยในการเดินหน้า MOU ต่อในเรื่องนี้ ขณะนี้กัมพูชารอฝ่ายไทยตั้งคณะกรรมการ เพื่อเป็นตัวแทนไปพูดคุย เชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่บานปลายหากทุกคนเข้าใจในหลักการ เพราะคือข้อเท็จจริง ยืนยันว่าไม่มีเบื้องหลังใด ๆ แต่นี้คือกรอบเป็นไปตามกฎหมาย และเรื่องนี้ไม่เป็นเผือกร้อนในมือของตนเอง
ส่วนแนวทางของรัฐบาลไทยกับข้อตกลงผลประโยชน์ที่ทับซ้อนทางทะเล จะดำเนินการอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องคุยกันระหว่างประเทศพร้อมศึกษารายละเอียดจะสามารถแบ่งกันอย่างไร เพื่อทั้งสองประเทศได้ผลประโยชน์และเกิดความยุติธรรม เพราะหลายคนรู้ว่ามีก๊าซธรรมชาติ และสามารถลดต้นทุนพลังงานได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องส่งคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้รู้ในรายละเอียดต่าง ๆ ไปศึกษาร่วมกันทั้งสองประเทศ เพื่อให้ได้คำตอบต่อประชาชนอย่างชัดเจน ซึ่งอยู่ในกระบวนการต่อไป
ส่วนจะใช้ความสัมพันธ์ที่ดีของนายทักษิณ ชินวัตร เพื่อพูดคุยกับกัมพูชาหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความสัมพันธ์ที่ดีสามารถสร้างคอนเนคชั่นดี ๆ ได้ เปรียบเหมือนมีเพื่อนสนิท ก็สามารถคุยกับเพื่อนสนิทได้ แต่เรื่องผลประโยชน์แต่ละประเทศต้องใช้คณะกรรมการ เพื่อจะได้ไม่เกิดการต่อต้าน ซึ่งเรื่องของประเทศบางอย่างที่สำคัญต้องใช้กรรมการคุยกัน เพื่อจะเกิดความรู้ รู้ครบ และมีความยุติธรรม เป็นสิ่งสำคัญและยืนยันรัฐบาลนี้ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศอย่างสูงสุด เพราะตนเองเป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์และประเทศไทย คนไทย ต้องมาก่อน ดังนั้นรัฐบาลนี้ยืนยันจะรักษาแผ่นดินไทยไว้อย่างเต็มที่ และจะทำให้ประชาชนมีความสุขที่สุด นั่นคือสิ่งที่ต้องการ