วันนี้ (27 ส.ค. 2567) ที่ประชุมวุฒิสภา พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว โดยการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้แล้ววุฒิสภาต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติมาถึงวุฒิสภา ซึ่งจะครบกำหนดในวันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม 2567
โดยมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) อภิปรายร่างกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติดังกล่าวอย่างกว้างขวาง อาทิ นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. อภิปรายในตอนหนึ่งว่า หากการลงประชามติมีผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 10 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20 จากผู้มีสิทธิลงประชามติ 52 ล้านคน เพียงแค่มีผู้ลงคะแนนเห็นชอบเพียง 5 ล้าน + 1 เสียง ประชามติก็ผ่าน จึงตั้งข้อสังเกตว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นประชามติของประชาชนที่แท้จริง หรือไม่ แล้วประชาชนอีก 42 ล้านเสียงที่ไม่ได้ลงประชามติต้องบังคับให้ทุกคนเห็นชอบกับประชามติด้วยใช่ หรือไม่
ขณะที่ นางอังคณา นีละไพจิตร สว. อภิปรายว่า การแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายประชามติครั้งนี้มีความเป็นธรรมมากขึ้นโดยเปลี่ยนจาก Double majority (ระบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น) เป็น Single majority ระบบเสียงข้างมากปกติ ทำให้ไม่เสียสิทธิของผู้ที่ออกมาใช้เสียงและกำหนดให้มีคณะกรรมการจัดให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นโดยอิสระ รอบด้านและเท่าเทียม รวมทั้งมีความยืดหยุ่น ประหยัดงบประมาณแผ่นดิน เนื่องจากระบุให้จัดทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งอื่นได้ เช่น การเลือกตั้งท้องถิ่น อบจ. อบต. เป็นต้น และกำหนดให้สามารถใช้เขตอำเภอ หรือเขตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเขตออกเสียงเลือกตั้งได้ จากเดิมที่กำหนดให้ใช้เพียงเขตจังหวัดเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีความก้าวหน้า เพราะรับรองสิทธิของประชาชนการเข้าชื่อออนไลน์ เพื่อเสนอให้มีการจัดทำประชามติ โดยเพิ่มโอกาสในการออกเสียงประชามติ จากเดิมที่ต้องออกเสียงเฉพาะในคูหาเลือกตั้ง เนื่องจากการออกเสียงต้องเป็น “โดยตรงและลับ” หากจะใช้วิธีอื่นต้องให้คณะกรรมการเป็นผู้ตัดสินใจ พร้อมเชื่อว่า การปรับปรุงร่างกฎหมายประชามติครั้งนี้ จะนำไปสู่การปรับปรุงรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
ภายหลังที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาแล้ว มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้พิจารณา ด้วยคะแนน 179 เสียง ไม่เห็นด้วย 5 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุม 187 คน พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. จำนวน 25 คน และมีมติกำหนดเวลาให้แปรญัตติภายใน 7 วัน