หลังเว้นว่างการเลือกตั้งท้องถิ่นไป 7 ปี วันที่ 20 ธ.ค. นี้คือปฐมบทรอบใหม่ของการเปลี่ยนแปลงรากฐานประชาธิปไตย เมื่อการกระจายอำนาจถูกแช่แข็งโดยรัฐราชการมากกว่า 6 ปีที่ควบคุมการบริหารท้องถิ่นด้วยข้อผูกมัดทางกฎหมาย
'วอยซ์' ชวน 'นักกิจกรรม-นักวิชาการ' ร่วมมองโค้งสุดท้ายศึกเลือกตั้งท้องถิ่น จากการตื่นตัวของ 'นิวโหวตเตอร์' อะไรคือสิ่งที่พวกเขาอยากปลดล็อก เมื่อท้องถิ่นถูกแช่แช็งจากศูนย์กลางอำนาจ ทั้งกองทัพและรัฐธรรมนูญ
จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ แกนนำกลุ่มราษฎร ที่มีภูมิลำเนาจากชัยภูมิ และเติบโตจากการทำกิจกรรมในหลายพื้นที่ที่ภาคอีสาน มองว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสให้มีการพัฒนา มีการแข่งขันและตรวจสอบซึ่งกันและกัน จากประสบการณ์ที่ได้เจอมาพบว่า มีนักการเมืองท้องถิ่นติดคุกหลายคน เนื่องจากการทุจริตคอร์รัปชัน การเลือกตั้งนอกจากจะสะท้อนถึงการกระจายอำนาจ จึงสะท้อนถึงการตรวจสอบด้วย ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้เป็นรากฐานของการพัฒนาประชาธิปไตย
“เมื่อเขาเลือกก็ตรวจสอบได้เลยว่า หลังจากเลือกไปแล้วชีวิตเขาดีขึ้นหรือไม่ มีถนนที่ดีขึ้นหรือไม่ คุณภาพชีวิตดีขึ้นไหม ถ้าพบว่ามันไม่มีอะไรดีขึ้นเลยรอบหน้าเขาก็ไม่เลือก เพราะมันมีการแข่งขัน”
ไผ่กล่าวถึงความน่าสนใจในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยว่า คนรุ่นใหม่เองก็ให้ความสนใจการการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ด้วย ทั้งในการเป็นผู้เลือกและผู้ที่ตัดสินใจเข้าสมัครรับเลือกตั้ง มีคนรุ่นใหม่เข้าไปลงรับสมัครมากกว่าหลายครั้งที่ผ่านมา และหากคนรุ่นใหม่ได้เข้ามา อาจจะได้พบเห็นความเปลี่ยนแปลงในการเมืองท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ไผ่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการให้ความสำคัญของรัฐกับการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า คล้ายกับเป็นการผลักให้คนที่สนใจการเมือง แต่อยู่ต่างพื้นที่ไม่สามารถใช้สิทธิได้เพราะไม่มีการเปิดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าและเลือกตั้งนอกเขต
สำหรับตัวเขาเองก็ไม่สามารถไปใช้สิทธิ์ครั้งนี้ได้ เพราะต้องไปสอบใบอนุญาตว่าความของทนายความ และทำได้เพียงไปแจ้งว่า ไม่ได้ไปใช้สิทธิ์เพราะเหตุใด ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเขาและคนที่ต้องเข้าสอบอีกหลักหมื่นคนควรได้ใช้สิทธิ์
ไผ่ ย้ำถึงปัญหาของการกระจายอำนาจของไทยว่า มีข้อจำกัดทางด้านการบริหารงบประมาณ ประเทศที่เป็นต้นแบบของการกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่นจะดำเนินการจัดเก็บภาษีในพื้นที่ได้ และเก็บไว้บริหารงานภายในพื้นที่ถึง 70 %
ส่วนที่เหลือให้ส่วนกลางนำไปจัดสรรต่อไป แต่สำหรับประเทศไทยการจัดเก็บภาษีจะเข้าสู่รัฐส่วนกลางทั้งหมด และรัฐจะเป็นผู้กำหนดเองว่าจะจัดสรรงบประมาณลงมาในแต่ละพื้นที่เท่าไหร่ และมักจะเป็นการจัดสรรงบมาพร้อมกับหน้าที่ที่กำหนดมาทำตามจากส่วนกลาง จึงเป็นปัญหาที่ส่งผลให้ท้องถิ่นไม่มีอำนาจตัดสินใจบริหารในพื้นที่ตัวเองได้
"ม็อบทุกม็อบ ทำไมต้องขึ้นมาที่กรุงเทพฯ ถามว่าชาวบ้านอยากมาที่กรุงเทพฯ กันไหม ไม่มีใครอยากมาลำบาก แต่ที่ต้องมาเพราะอำนาจการตัดสินใจมันรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพ ท้องถิ่นไม่ได้มีอำนาจตัดใจอย่างแท้จริง
"ต้องกระจายอำนาจเอาคนมีศักยภาพกลับไปท้องถิ่น เพราะเมื่อการเมืองรวมศูนย์มากๆ ทุกคนก็มาอยู่ที่กรุงเทพกันหมด ท้องถิ่นก็ไม่พัฒนา เราต้องกระจายทั้งอำนาจด้านงบประมาณและอำนาจทางการเมือง"
ไผ่ ชี้ถึงกรณีของการประท้วงของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นว่า หากประเทศไทยอยู่ในภาวะที่มีการกระจายอำนาจอย่างเต็มที่คนจะนะไม่จำเป็นต้องขึ้นมาประท้วงที่กรุงเทพฯ เพราะทุกอย่างจะจบในท้องถิ่น หากคนที่นั่นได้เป็นผู้กำหนดนโยบาย เขาจะปกป้องพื้นที่ และผลประโยชน์ของพวกเขาเอง ไม่ต้องให้ผู้มีอำนาจส่วนกลางมาตัดสินแทนว่าควรจะพัฒนาพื้นที่นั้นอย่างไร โดยที่ผู้มีอำนาจไม่ได้มีความผูกพันเชื่อมโยง หรือสัมผัสกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่
"ทุกวันนี้มันเป็นการใช้ปากกาขีดลงไปในแผนที่ว่าจะเอานิคมอุตสาหกรรมไปวางไว้ตรงไหน เอาโรงงานไปไว้ตรงไหน เอาโรงไฟฟ้าไปไว้ตรงไหน โดยไม่ถามคนพื้นที่ ไม่เข้าใจความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม วิถีการผลิต และทรัพยากร"
ไผ่ กล่าวถึงการแข่งขันในเวทีการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ว่า เป็นการแข่งขันที่มีความเข้มข้นพอสมควร เพราะเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่ประเทศไทยไม่ได้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นมานานหลายปี และการปกครองส่วนท้องถิ่นก็ถูกแทรกซึมด้วยอำนาจเผด็จการ และฝ่ายการเมืองแนวอนุรักษนิยมมานาน การเลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่แปลกที่เห็น 'ทักษิณ ชินวัตร' โพสต์เฟซบุ๊กสนับสนุนผู้สมัคร และ 'ธนาธร 'ลงพื้นที่หลายจังหวัดเพื่อช่วยผู้สมัครหาเสียง
เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้จะสร้างจุดเปลี่ยน และตอกย้ำให้ผู้ครองอำนาจรับรู้ว่าแท้จริงแล้วประชาชนต้องการอะไร หากยังเป็นกลุ่มเดิมที่อยู่อิงกับอำนาจรัฐมานานก็อาจจะได้เห็นการใช้เงินงบประมาณไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่หากได้กลุ่มใหม่เข้ามาก็อาจจะได้เห็นการพัฒนาการศึกษา และคุณภาพชีวิตของผู้คนมากขึ้น
สอดรับกับ ซูกริฟฟี ลาเต๊ะ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชน ปาตานี (เปอร์มาส) เห็นว่า ผู้สมัครหลายกลุ่มในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้หันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มนิวโหวตเตอร์ ซึ่งจะใช้สิทธิ์เลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรก ขณะเดียวกันการเลือกตั้งรอบนี้ก็ถูกให้ความสำคัญจากคนรุ่นใหม่และประชาชนในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย
“ที่ตื่นตัว เพราะคนรอฟังกันว่า นายกฯ อบจ.คนก่อนจะมีแนวนโยบายอย่างไรในการบริหารต่อ และคนที่เป็นผู้ท้าชิงหน้าใหม่จะมีวิสัยทัศน์ต่อการบริหารส่วนท้องถิ่นอย่างไร และคนรุ่นใหม่ที่กำลังสนใจการเมือง เขาไม่ได้สนว่าคุณมาจากตระกูลไหน แต่เขาสนใจว่าคุณมีนโยบายอย่างไร มีวิธีการดำเนินงาน มีวิสัยทัศน์ต่อพื้นที่อย่างไร”
ส่วนตัวเขาเอง เชื่อว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้มีความสำคัญ เพราะประชาชนต้องการเลือกตัวแทนของเขาเข้าไปกำหนดอัตลักษ์ และบริหารจัดการท้องถิ่นเพื่อตอบสนองประชาชน
อย่างไรก็ตาม การกระจายอำนาจที่เป็นอยู่ในประเทศไทย ถูกออกแบบให้เข้าไปซ้อนทับกับองค์กรสังกัดมหาดไทย ยกตัวอย่างเช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด กับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แม้นายกฯ อบจ. จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในพื้นที่ก็ตาม
“ในความเป็นจริงแล้วก็เกรงใจผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากมหาดไทยอยู่ไม่น้อย ซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้มานั่งหัวโต๊ะ เหมือนมี CEO คู่กันสองคน แต่ในพื้นที่สามจังหวัดเองมีความพิเศษกว่าที่อื่นเพราะมีศูนย์อำนาวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่เข้ามาทำงานกับหลายส่วนทั้งส่วนราชการและท้องถิ่น ซึ่งกรณีนี้มีความทับซ้อนทางด้านอำนาจพอสมควร”
ซูกริฟฟี ย้ำว่ารัฐไทยควรกระจายอำนาจให้มากกว่านี้ โดยเพิ่มอำนาจในการบริหารจัดการกับท้องถิ่น เพราะเป็นหนึ่งในช่องทางที่จะให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่มากกว่า และประชาชนเองก็รู้สึกเข้าถึงง่ายกว่าหน่วยงานมหาดไทย ทั้งในด้านการบริหารงบประมาณ และการบริหารจัดการซึ่งในความเป็นจริงแล้ว อบจ. ควรมีอำนาจเทียบเท่าผู้ว่าฯ หรืออาจจะไม่จำเป็นต้องมี อบจ. ก็ได้ แต่ให้ผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้งไปเลย
ด้าน ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้้ศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบที่ถูกรุกคืบจากกลุ่มทุนใหญ่ มองว่า ศึกชิงพื้นที่ท้องถิ่นครั้งนี้มีความสำคัญ เพราะมันร้างราไป 7-8 ปี ทำให้กระบวนการที่ให้สิทธิประชาชนเปลี่ยนแปลงโครงสร้างชะงักไป
ยกตัวอย่าง เช่น กรณีเกิดภัยพิบัติน้ำท่วม องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องคิดวิเคราะห์คลอดนโยบายเพื่อรับมือคลายความเดือดร้อนให้กับประชาชน ทว่า ที่ผ่านมาเมื่อไม่มีการเลือกตั้ง อปท.ก็ทำงานในลักษณะขอไปที
ไม่เพียงการทำงานแบบเช้าชามเย็นชา ที่ชวนให้ชาวบ้านสร้างความเบื่อหน่าย ไชยณรงค์ ยังมองว่า อปท.สร้างความคับแค้นให้กับคนในพื้นที่ 3 ลักษณะ ได้แก่
หลังการเลือกตั้งทิศทางการเมืองจะเป็นอย่างไร 'ไชยณรงค์' ตอบว่า โครงสร้างการเมืองท้องถิ่นที่ผ่านมามีลักษณะผูกขาดจากกลุ่มการเมือง 'บ้านใหญ่' ซึ่งมีอิทธิพลในท้องถิ่น ค่อนข้างแตกต่างในระดับชาติ ซึ่งเกิดการแข่งขันด้วยนโยบายต่างๆ เป็นทางเลือกให้กับประชาชน แต่ในปัจจุบันเท่าที่เห็นอาจจะยังไม่มีนโยบายไหนที่ก้าวหน้าพอตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง เนื่องจาก ส.ส.หลายจังหวัดสะสมอำนาจมาตั้งแต่การเมืองท้องถิ่น
"องค์กรท้องถิ่นต้องรวมตัวกลุ่มปกป้องประชาชน กลับมาเป็นเครื่องมือของประชาชน เช่น การต่อต้านเหมืองทองคำจันทบุรี ไม่ใช่ให้ชาวบ้านเขารวมกลุ่มกันต่อสู้กับรัฐหรือทุนต่างชาติกันเอง"
สิ่งที่นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ทิ้งท้ายคือ ภูมิทัศน์การเมืองในอนาคตจะเปลี่ยนไป คือ 'นิวโหวตเตอร์' เพราะปัจจุบันคนรุ่นเก่ายังเป็นตัวแปรสำคัญ หากมีการเลือกตั้งอีก 3-4 ครั้ง มั่นใจว่าผลลัพธ์จะออกมาต่างขั้ว ด้วยแรงตื่นรู้ทางการเมืองของเยาวชน
อ่านเพิ่มเติม