ไม่พบผลการค้นหา
คนสามจังหวัดชายแดนใต้ ฟ้องศาลปกครอง กรณี กสทช. ตัดสัญญาณโทรศัพท์ เพราะไม่ได้ดำเนินการลงทะเบียนอัตลักษณ์ซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยใบหน้า

เว็บไซต์ iLaw รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2563 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม โดยปรีดา นาคผิว ในฐานะผู้รับมอบอำนาจของผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เนื่องจากประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ถูกตัดสัญญาณโทรศัพท์ เพราะไม่ได้ดำเนินการลงทะเบียนอัตลักษณ์ซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยวิธีการตรวจสอบใบหน้า (Face Recognition) หรือ 'สองแชะ' เพิ่มจากการลงทะเบียนปกติอีกชั้นหนึ่ง ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลาได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตได้ ฯลฯ

ซึ่งประชาชนที่ถูกตัดสัญญาณได้รับความเดือนร้อนอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงได้ยื่นฟ้องเพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนประกาศ ระเบียบ ข้อกำหนด หรือคำสั่งของ กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสัญญานโทรศัพท์ และให้ศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้สามารถใช้งานโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตได้ระหว่างการพิจารณาคดี

ทั้งนี้ ในคำฟ้องของคดี ระบุว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เคยลงทะเบียนซิมโทรศัพท์กับผู้ให้บริการ โดยใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของตนเองเป็นหลักฐาน ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช.ระบุไว้ในประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม และประกาศ กสทช.เรื่องการลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และสามารถใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขดังกล่าวได้แม้จะใช้เพียงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนในการลงทะเบียน

ต่อมามีข้อความ (SMS) ส่งมายังโทรศัพท์ของผู้ฟ้องคดี แจ้งว่า "หมายเลขของคุณใช้งานไม่ได้ชั่วคราว เนื่องจากไม่ได้ลงทะเบียนซิมด้วยระบบยืนยันผู้ใช้งานในพื้นที่ชายแดนใต้ ภายใน 30 เม.ย. 63 ..." เมื่อผู้ฟ้องคดีได้สอบถามตัวแทนของบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ผู้จำหน่ายซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จึงทราบว่าเหตุที่ถูกระงับสัญญาณโทรศัพท์ เป็นเพราะบริษัทผู้ให้บริการได้ปฏิบัติตาม 'หลักเกณฑ์ใหม่' ที่ กสทช.ออกมาบังคับให้ทุกบริษัทผู้ให้บริการต้องระงับการให้บริการ

คำฟ้องยังระบุว่า หลักเกณฑ์ใหม่ของ กสทช.ที่รู้จักกันในชื่อลำลองว่า 'สองแชะ' นี้กำหนดให้ผู้ใช้บริการต้องไปลงทะเบียนซิมการ์ดอีกครั้งหนึ่งด้วยระบบตรวจสอบอัตลักษณ์โดยวิธีการสแกนใบหน้า โดยมีข้อสังเกตว่าประกาศดังกล่าวบังคับใช้เฉพาะในพื้นที่จังหวัดยะลา, จังหวัดปัตตานี, จังหวัดนราธิวาส, และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา ซึ่งได้แก่ อำเภอนาทวี, อำเภอจะนะ, อำเภอเทพา, และอำเภอสะบ้าย้อย โดยไม่ปรากฏว่า กสทช.ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันนี้กับผู้ใช้บริการในพื้นที่อื่นแต่อย่างใด

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำของ กสทช.ที่บังคับให้ประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ต้องสแกนใบหน้า 'สองแชะ' เพิ่มอีกรอบหนึ่ง เป็นการใช้อำนาจทางปกครองประเภทหนึ่ง ซึ่ง กสทช.มีสถานะเป็นฝ่ายปกครอง การกระทำดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้หลักความชอบด้วยกฎหมาย โดยในคำฟ้องได้ระบุว่าการกระทำดังกล่าวของ กสทช.อาจขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากเหตุดังต่อไปนี้

1.หลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนและของผู้ฟ้องคดีเกินความจำเป็น เป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และขัดต่อหลักเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน ทั้งเป็นการเลือกปฏิบัติต่อประชาชนในพื้นที่อันเป็นการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ 

2.ประเด็นการเลือกปฏิบัติ โดยผู้ฟ้องคดีระบุว่า การบังคับใช้หลักเกณฑ์ “สองแชะ” ของกสทช. เฉพาะในบางพื้นที่นั้น ทำให้ผู้ฟ้องคดีรู้สึกถูกทางราชการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ในคำฟ้องยังระบุเพิ่มเติมว่า มีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล โดยระงับสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่เฉพาะบางกลุ่มบางคน เช่น ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นประชาชนหรือชาวบ้านธรรมดา ถูกระงับสัญญาณโทรศัพท์ แต่บุคคลที่มีสถานะสูงทางสังคม เช่น สมาชิกรัฐสภา แม้เป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่ชายแดนใต้เช่นเดียวกันก็ตาม แต่ก็มิได้ถูกระงับสัญญาณ

 

ผู้ฟ้องคดีได้ร้องขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งหรือคำพิพากษา ดังนี้

1.ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองก่อนการพิพากษาให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยให้ กสทช.แจ้งไปยังบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้เปิดสัญญาณ เพื่อให้ผู้ที่ไม่ได้ไปลงทะเบียนสองแชะนั้นยังสามารถใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างนี้ได้ จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

2.ขอให้ศาลพิพากษาให้ กสทช.เพิกถอนประกาศ ระเบียบ ข้อกำหนด หรือคำสั่ง กสทช.และเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกหลักเกณฑ์บังคับให้บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต้องปฏิบัติในการบังคับให้ประชาชนต้องลงทะเบียนอัตลักษณ์สองแชะอีกครั้งหนึ่ง

iLaw รายงานด้วยว่า จากการสอบถามไปยังพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ด้านการดำเนินคดีผ่านไป 2 เดือนแล้วยังอยู่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงว่าจะมีคำสั่งรับฟ้องหรือไม่ และเท่าที่ทราบข้อมูลมา ไม่มีการส่งข้อความ (SMS) ไปยังโทรศัพท์ของผู้ใช้บริการในพื้นที่ที่มีปัญหาเพื่อให้ไปลงทะเบียนสองแชะแต่อย่างใด และผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วงนี้ไม่มีการร้องเรียนปัญหาเรื่องการตัดสัญญาณเข้ามายังมูลนิธิ แต่ก็ไม่ทราบอย่างชัดเจนว่ายังคงมีการตัดสัญญาณโทรศัพท์อยู่หรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง