ลอว์เรนซ์ กอสติน ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ และผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือกฎหมายระหว่างประเทศด้านสาธารณสุขประจำองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า การกักตัวหรือถูกบังคับห้ามออกนอกเคหสถาน ถือเป็นความยากลำบากอย่างหนึ่ง แต่ผู้คนในสังคมจำเป็นต้องเสียสละเพื่อส่วนรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
"ผู้ที่มีอาการป่วย ไม่ว่าจะเกี่ยวพันกับโรคโควิด-19 หรือไม่ จะต้องแยกตัวจากสังคม" กอสตินระบุ พร้อมย้ำว่า การปฏิบัติตัวเช่นนี้ถือเป็น 'หน้าที่' ของประชาชนที่จะต้องรับผิดชอบต่อเพื่อนบ้าน รับผิดชอบต่อครอบครัว และรับผิดชอบต่อสังคมที่ตัวเองอยู่
กอสตินย้ำด้วยว่า 'รัฐบาล' ก็ต้องไม่ลืมว่าตัวเองก็มีหน้าที่ ต้องตอบแทนที่ประชาชนเสียสละ จึงอาจกล่าวได้ว่า รัฐ 'ติดค้าง' ประชาชน และต้องดำเนินการอย่างมีมนุษยธรรมให้ประชาชนสามารถแยกตัวออกจากสังคมได้ โดยยังเข้าถึงสิ่งของที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น ยา, สวัสดิการด้านสุขภาพ, อาหาร และการคุ้มครองให้ลูกจ้างได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างในช่วงที่ต้องลาป่วย
อย่างไรก็ตาม หลายประเทศทั่วโลกยกระดับมาตรการควบคุมโรคระบาดด้วยการประกาศ 'เคอร์ฟิว' ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน ซึ่งถือเป็นการจำกัดอิสระในการเดินทาง แต่ก็ต้องดำเนินการต่อไป เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่ส่งผลต่อความเป็นความตายของคนในสังคม
ด้วยเหตุนี้ การบังคับใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในแต่ละประเทศจะต้องเป็นไปอย่างระมัดระวังไม่ให้ส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อประชาชน แต่องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหลายประเทศว่า การประกาศเคอร์ฟิว หรือการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้เกิดการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุและละเมิดสิทธิมนุษยชน
สื่อหลายสำนักรายงานว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ประกาศเคอร์ฟิวเพื่อควบคุมโรคระบาด ได้แก่ อัลเบเนีย แอลจีเรีย เคนยา ตูนีเซีย ลิเบีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา บราซิล คอสตาริกา เม็กซิโก ปานามา ไซปรัส จอร์เจีย โคโซโว จอร์แดน ซาอุดีอาระเบีย คูเวต เลบานอน อิรัก ซีเรีย ศรีลังกา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย
บางประเทศประกาศเคอร์ฟิวเฉพาะพื้นที่เฝ้าระวังการแพร่ระบาด แต่เกือบทุกประเทศห้ามผู้คนออกนอกเคหสถานในเวลากลางคืน และบางประเทศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงเป็นบางวันใน 1 สัปดาห์ ซึ่งมาตการเหล่านี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้าง โดยเฉพาะกรณีเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และรัฐบาลแต่ละประเทศต้องรับผิดชอบนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบด้วย
เคนยา
The New York Times รายงานว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการยืนยันในเคนยา มีจำนวน 1,655 ราย และผู้เสียชีวิต 11 ราย จากผลสำรวจเมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา ส่วนประชากรเคนยามีจำนวนมากกว่า 50 ล้านคน แต่มีห้องรองรับผู้ป่วยภาวะวิกฤต หรือ ICU ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจแค่เพียง 578 เตียงทั่วประเทศ
รัฐบาลเคนยาจึงได้ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ กักตัวผู้เข้าข่ายติดเชื้อ จำกัดการเดินทาง ปิดสถาบันการศึกษาและธุรกิจต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่สุ่มเสี่ยงแพร่ระบาด สั่งห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานหลัง 19.00 น. แต่เมื่อ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา Aljazeera รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงเด็กชายคนหนึ่ง ซึ่งยืนอยู่ตรงระเบียงบ้านของตัวเองในกรุงไนโรบี ขณะที่ตำรวจพยายามไล่คนเข้าบ้านช่วงเคอร์ฟิว ทำให้เด็กเสียชีวิต เพราะกระสุนทะลุช่องท้อง
อูฮูรู เคนยัตตา ประธานาธิบดีเคนยา แถลงขออภัยและแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต พร้อมยืนยันว่าจะสั่งสอบสวนและลงโทษเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ส่วนพ่อของเด็กระบุว่า เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจไม่ถูกต้อง เพราะคนที่อยู่ในชุมชนเพียงแค่ออกมายืนหน้าบ้านตัวเอง และบางคนกำลังจะกลับเข้าบ้าน แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตะโกนไล่ รวมถึงใช้ไม้กระบองไล่ตี ก่อนจะใช้ปืนพร้อมกระสุนจริงยิงใส่ประชาชน
ฟิลิปปินส์
องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' (HRW) ออกแถลงการณ์เตือนรัฐบาลฟิลิปปินส์ให้กำกับดูแลการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในช่วงที่ประกาศมาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.เป็นต้นมา
HRW รายงานว่าผู้ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถานในหลายพื้นที่ทั่วฟิลิปปินส์ ถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่ ดูหมิ่น ล้อเลียน ประจาน และถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นอกเหนือจากที่ต้องรับบทลงโทษที่ระบุไว้ตามกฎหมาย
เมื่อเดือน มี.ค.มีกรณีที่ตำรวจควบคุมตัววัยรุ่นในชุมชนแห่งหนึ่งในกรุงมะนิลาที่ออกมานอกบ้านช่วงเคอร์ฟิว และ จับวัยรุ่นเหล่านั้นให้นั่งรวมกันในกรงสุนัข นานเป็นชั่วโมง
นอกจากนี้ยังมีเยาวชนบางรายถูกกล่าวหาว่าออกมานอกบ้านเพื่อหาทางมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น และเยาวชนกลุ่มนี้เป็นผู้หลากหลายทางเพศ แม้ผู้ฝ่าฝืนคำสั่งเคอร์ฟิวบางรายยืนยันว่าจำเป็นต้องเดินออกมาซื้อของใช้ให้แก่ผู้สูงอายุภายในครอบครัว แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่รับฟังเหตุผล
เจ้าหน้าที่บังคับให้เยาวชนที่ถูกกล่าวหาว่าจงใจละเมิดคำสั่งเคอร์ฟิว กอดจูบกัน รวมถึงวิดพื้นและเต้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่อัดคลิปวิดีโอไปเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อโพสต์ลงในสื่อก็มีการใช้ถ้อยคำเชิงประจาน ทำให้เยาวชนได้รับผลกระทบทางจิตใจ ถือเป็นการละเมิดสิทธิ เพราะไม่ใช่ขั้นตอนการลงโทษที่ถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมาย
ไทย
การประกาศเคอร์ฟิวในไทยเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. โดยเว็บไซต์ SCMP รายงานว่า ก่อนหน้านั้นหน่วยงานไทยพยายามที่จะช่วยเหลือประชากรกลุ่มเปราะบางไม่ให้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้มากนัก เช่น กลุ่มคนไร้บ้าน ซึ่งไม่สามารถกักตัวเองได้ แต่เมื่อคนไร้บ้านถูกนำส่งไปยังพื้นที่กักตัวซึ่งรัฐจัดหาไว้ให้ กลับเจอการต่อต้านจากคนในชุมชนที่อยู่มาแต่เดิม สะท้อนว่า ขาดการสื่อสารระหว่างหน่วยงานรัฐและประชาชน
นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ของรัฐบาลไทยยังไม่ได้ครอบคลุมถึงคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะแรงงานรับจ้างรายวัน ซึ่งสูญเสียรายได้จากมาตรการล็อกดาวน์ นำไปสู่คำสั่งปิดกิจการชั่วคราว โดยคนกลุ่มนี้ไม่มีเงินจ่ายค่าที่พักอาศัย เพราะมาตรการช่วยเหลือเพิ่งจะถูกพิจารณาออกมาภายหลัง ทำให้คนจำนวนมากเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด การจำกัดการเดินทางในไทยจึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
เมื่อประกาศเคอร์ฟิวในวันที่ 3 เม.ย. ก็เกิดเหตุการณ์ผู้ใหญ่บ้านใน จ.สุราษฎร์ธานี ยิงพระและลูกบ้านเสียชีวิต เพราะฝ่าฝืนคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถานช่วงเคอร์ฟิว ซึ่งผู้ใหญ่บ้านระบุว่าผู้ถูกยิงมีอาวุธปืนและมีด จึงจำเป็นต้องตอบโต้
ส่วนครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้งคู่ระบุว่า การพกอาวุธเป็นเรื่องปกติของคนในละแวกนั้น และพระที่เสียชีวิตก็มีชื่อเสียงในฐานะผู้เคยได้รับรางวัลจากการทำงานเพื่อชุมชนมาก่อน ญาติจึงมองว่าเป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ซึ่งต้องรอผลการสอบสวนเพิ่มเติม
ตุรกี
การประกาศเคอร์ฟิวของรัฐบาลตุรกีไม่ได้มีผลต่อคนทุกกลุ่ม แต่พุ่งเป้าเฉพาะเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี คนกลุ่มนี้ถูกห้ามออกนอกเคหสถานหลังพระอาทิตย์ตก เพราะรัฐบาลออกคำสั่งให้กักตัวและเว้นระยะทางสังคมก่อนหน้านี้ แต่พบว่าคนหนุ่มสาววัยต่ำกว่า 20 ปี ไม่ให้ความร่วมมือ และยังคงรวมตัวกันอย่างต่อเนื่อง
มาตการเคอร์ฟิวเฉพาะคนบางกลุ่ม ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ส่วนผู้ที่อายุเกิน 65 ปี ก็ได้รับคำสั่งให้กักตัวอยู่บ้านตั้งแต่ต้น เพราะรัฐบาลตุรกีถือว่าคนกลุ่มนี้เป็นประชากรเปราะบาง เสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่าย และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม ไม่มีบทลงโทษถ้ากลุ่มคนสูงอายุฝ่าฝืนออกนอกบ้าน
ปานามา
รัฐบาลปานามาประกาศมาตรการจำกัดการเดินทางและออกคำสั่งเคอร์ฟิวที่แตกต่างจากอีกหลายประเทศทั่วโลก เพราะใช้วิธีจำกัดการเดินทางโดยยึดตาม 'เพศ' โดยรัฐบาลระบุว่า ผู้หญิงจะได้รับอนุญาตให้ออกจากบ้านเพื่อซื้อของใช้ได้วันละ 2 ชั่วโมง ทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ ส่วนผู้ชายจะออกมาซื้อของใช้เข้าบ้านได้ เฉพาะวันอังคาร พฤหัสบดี และวันเสาร์ โดยได้เวลาครั้งละ 2 ชั่วโมงเท่ากับผู้หญิง
ส่วนวันอาทิตย์ ประชาชนทุกคน ทั้งหญิงและชาย จะต้องกักตัวอยู่ในบ้านตลอด 24 ชั่วโมง ห้ามออกนอกเคหสถานเป็นอันขาด ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศเตือนพลเมืองอเมริกันที่พำนักอาศัยอยู่ในปานามาให้ศึกษาข้อมูลเหล่านี้โดยละเอียด และอย่าได้ฝ่าฝืนคำสั่งโดยไม่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ถูกมองว่าไม่ครอบคลุมกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ ซึ่งอาจจะมีเพศสภาพไม่ตรงกับเอกสารยืนยันตัวตนที่หน่วยงานรัฐออกให้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: