'วอยซ์' สนทนากับ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ผู้ศึกษาที่มาและความเป็นไปของการเมืองสหรัฐอเมริกาอย่างถ่องแท้ เพื่อพินิจกลับมาที่วิกฤตการเมืองไทย และหาคำตอบข้างต้น
จากประเทศที่ไม่เคยฉีกรัฐธรรมนูญเลยแม้เพียงครั้งเดียว หลังผ่านมาถึง 234 ปี และได้ปรับแก้เปลี่ยนแปรตามเวลา ผู้ใดพยายามฝ่าฝืนละเมิดอำนาจรัฐธรรมนูญ จะต้องถูกพิพากษาโทษอย่างไม่มีข้อยกเว้น แม้ผู้นั้นจะเป็นถึงอดีตประธานาธิบดีก็ตาม
ขณะที่ในอีกมุมโลกอย่างไทย รัฐธรรมนูญอายุ 90 ปี กลับถูกฉีกรื้อแก้ไขมาร่วม 20 ครั้ง และผู้กระทำยังอยู่ในอำนาจอย่างผาสุก ไม่มีกลไกใดจะมอบโทษได้
ธเนศนิยามว่าไทยยังอยู่ในสภาวะ “ครึ่งหลับครึ่งตื่น” พร้อมหวังว่าบางบรรทัดต่อไปนี้ จะช่วยปลุกให้ตื่นกลับสู่ลู่ทางแห่งประชาธิปไตยเสียที
ต่างกันเยอะ ทั้งในบริบท ความเป็นมา ซึ่งสะท้อนถึงพัฒนาการของสิ่งที่เรียกว่าพรรคการเมือง ไปจนถึงนักการเมืองที่เข้าร่วมพรรค ในแต่ละประเทศจะมีภาพรวมทั้งหมดของสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมา
ในประเทศที่ระบบค่อนข้างจะเสถียร และได้รับความยอมรับว่าหลักการใหญ่ๆ ไม่ขัดแย้งกันมากนัก เช่นในสหรัฐอเมริกา เราก็จะเห็นความต่อเนื่องและบทบาทของพรรคการเมืองอย่างชัดเจน นักการเมืองจะดำเนินไปตามบทบาทของพรรค หรือจะเรียกว่าดำเนินไปตามจารีตก็ได้
แต่ก่อนเรามักจะคิดว่าอเมริกาเป็นประเทศใหม่ ยังไม่มีจารีตประเพณี ทุกอย่างคือหลักเหตุผล จริงๆ แล้วพอไปศึกษารายละเอียดต่างๆ ในตัวพรรคการเมืองและนักการเมือง พบว่าใช้จารีตเยอะมาก แต่เป็น Tradition แบบสมัยใหม่ ไม่ใช่ยุคโบราณแบบสมัยพระเจ้าเหา และเป็น Tradition ที่มีชีวิต คือถึงจุดหนึ่งก็เปลี่ยน
เช่น 2 พรรคมี ส.ส.ในพรรค และ ส.ว. ที่ไม่โหวตตามมติพรรค คือความคิดของแกนนำพรรคอาวุโส ลงมาสู่สมาชิกพรรค จะมีบางเรื่องที่ถ้าสมาชิกพรรคโหวตไปตามนี้แล้ว กลับไปคุณแพ้เลือกตั้งแน่ๆ เพราะฐานเสียงคุณไม่ต้องการอย่างนั้น เช่น เรื่องการทำแท้ง ถ้าคุณอยู่ในรัฐที่ไม่ต้องการทำแท้ง ส.ส.เดโมแครต ที่จะโหวตแบบนี้ก็ต้องประเมิน ส.ส.รีพับลิกัน ก็เหมือนกัน ต้องสงบเสียงไว้ก่อน ในสภาทั้งสองฝ่ายก็จะตกลงกันว่า ถ้าฝ่ายใดที่โหวตรับกฎหมายนี้ไม่ได้เพราะกลัว ถ้าสองฝ่ายคะแนนเท่ากัน อย่าง 2 คน จากทั้งพรรคเดโมแครต และพรรครีพับลิกัน จะโหวตสวนมติพรรคตัวเอง จะสลับที่กัน ก็ตกลงกันได้
นี่เป็นจารีตอีกแบบหนึ่งที่ไม่ได้เขียนในกฏหมาย แต่เราจะเห็นว่าเขาจะไม่ออกมาด่าว่าทำไมโหวตสวนมติพรรค หรือไล่ออก ไม่มี การโหวตสวนมีตลอดเวลา เป็นจารีตแบบหนึ่งซึ่งทำได้ แล้วชาวบ้านก็ไม่ไปด่า เพราะในที่สุดแล้วขึ้นอยู่กับคนในเขตเลือกตั้งคุณเป็นผู้ตัดสิน ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้จารีต
ทุกการเมืองมีจารีตทั้งนั้น แต่จารีตจะมีผล ระบบต้องต่อเนื่อง ถ้าคุณยึดอำนาจทุก 2 ปี 5 ปี แล้วพรรคก็เปลี่ยนไป จากพรรคนั้นเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคนี้ ตัวละครตัวเดิม แต่ชื่อเปลี่ยน นายทุนเปลี่ยน คนที่เข้ามาก็เปลี่ยน วุ่นวาย ในขณะที่ของอเมริกาชัดเลยว่า คนที่บริจาคเงินหลักคือบริษัทใหญ่ๆ ทั้งนั้น เฟซบุ๊ก กูเกิล เขาแบ่งงบไว้อยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับนโยบายของพรรคไหนเข้าตาเขา ดังนั้น พรรคการเมืองจึงไม่ค่อยอยู่ใต้อาณัติของใคร โจ ไบเดน ประธานาธิบดี ก็คุมเขาไม่ได้
นี่ตอกย้ำหลักอธิปไตยว่าเสียงประชาชนคืออำนาจประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่ของไทยเราเป็นคะแนนเสียงที่เปลี่ยนไปตามผู้มีอำนาจ ผู้มีอิทธิพล ตามเงื่อนไขที่เยอะมาก ไม่ถูกทำให้เป็นหลักสากลทั่วไป ไพรมารีโหวตของสหรัฐอเมริกาทำกันเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่มีทางจะหวังลมๆ แล้งๆ หรือหวังอำนาจศักดิ์สิทธิ์ จนกระทั่งรู้ว่าคุณมีไพ่เหนือกว่าอีกคน แต่ของไทยเราไพ่เหนือกว่าคืออำนาจนอกระบบ นี่คือปัญหาของระบบประชาธิปไตยเสรี
ถ้าอำนาจนอกระบบมากเข้าจะทำให้ระบบการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยไม่เสถียร ไม่มีประสิทธิภาพ พอไม่มีประสิทธิผล คนก็เลยไม่ค่อยให้น้ำหนัก อย่างตอนนี้รัฐบาลไทยรู้ว่าแจกเงินอย่างเดียว เพราะดึงดูดชาวบ้านได้ คุณไม่ต้องไปอธิบายให้ยากเย็นแสนเข็ญ การได้เงินมาช่วยเขาในเวลาที่ไม่มี ถ้ามันไม่ได้บุญ แล้วจะได้อะไร
แล้วต้องตอกย้ำด้วยอำนาจ คือต้องคุมกระทรวงมหาดไทย ที่ไปคุมการเลือกตั้งและกำนันผู้ใหญ่บ้าน ดังนั้น รัฐบาลจะไม่เปลี่ยนกระทรวงมหาดไทยหรอก ไม่ว่าจะทำอย่างไร คุณจะอ้างเรื่องนโยบาย เขาจะเอานโยบายคุณหรือ เขาใช้นโยบายที่พวกข้าราชการเขียนให้ พวกนโยบาย ส.ส. เเหมือนของเล่น เอาไว้สำหรับไปโชว์เคสนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้นเอง นี่คือสิ่งที่ต่างกันกับอเมริกา
สิ่งที่เรียกว่าศีลธรรมจะแปลว่าจริยธรรมก็ได้ ของสหรัฐอเมริกา ศีลธรรมจริยธรรมมาจากความเชื่อและหลักศาสนา เมื่อปฏิวัติจากอังกฤษได้สำเร็จ นโยบายหลักๆ แรกที่ใช้คือ แยกรัฐและศาสนาออกจากกัน (Separation of Church and State)
ตั้งแต่นั้นมา การอ้างศีลธรรมจริยธรรมถือเป็นเรื่องส่วนตัว จะนำมาใช้กับรัฐบาลหรือในหน่วยงานของรัฐไม่่ได้ ด้านหนึ่งทำให้มาตรฐานทางจริยธรรมการเมืองของอเมริกาชัดเจน ว่าเส้นแบ่งอยู่ตรงไหน และหากละเมิดก็จะถูกลงโทษด้วยมาตรการทางกฏหมายที่ชัดเจน
ขณะที่ศีลธรรม จริยธรรมของสังคมไทย ผูกอยู่กับศาสนาพุทธ และค่านิยมความเป็นไทย ความเป็นพุทธครอบคลุมหลักศีลธรรมจริยธรรมทั้งหมด แต่ไม่อยู่ในกฏหมาย จึงเจอปัญหาว่ามีผู้ละเมิดจริยธรรมแต่กฏหมายลงโทษไม่ได้ ตัดสินไม่ได้ บางเรื่องก็ถูกยกไป หลักฐานข้อมูลไม่พอประกอบเป็นความผิดจากอาญาหรือทางแพ่ง จะลงโทษทางศีลธรรมก็ไม่มีเจ้าภาพว่าใครจะลงโทษ เพราะตอนนี้ทั้งวัด ทั้งพระเอง ก็เป็นผู้ละเมิดศีลธรรมไปด้วย ไม่มีใครลงโทษใครได้ ไทยเราเลยวุ่นวาย
ผมคิดว่าไทยเรามีปัญหาเรื่องการไม่มีมาตรฐานทางศีลธรรมอย่างทั่วไป มีแต่ข้อห้าม ศีลธรรมก็คือข้อห้ามอยู่แล้ว ทีนี้ข้อห้าม พอไม่มีมาตรการลงโทษ ไม่มีมาตรการที่ทำให้มันเป็นประจักษ์แก่สายตา กับสังคมจริงๆ มันก็ไม่มีน้ำหนัก ไม่มีพลังในตัวมันเอง เราก็เลยดีแต่พูด ทุกคนก็ดีแต่พูด ในทางปฏิบัติไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ในทางกฏหมาย หรือฟ้องศาล นอกจากคดีที่ชัดๆ แล้ว เรื่องอื่นๆ ทุจริต สินบน ก็มีในทุกที่ แต่ของอเมริกามีกฏหมายที่รองรับการล็อบบี้ของนักการเมืองไม่ผิดกฏหมาย แต่ต้องจดทะเบียน เพราะในรัฐสภาต้องมีการวิ่งเต้นตลอดเวลา ระบบธุรกิจมันต้องสู้ ไม่มีใครมาได้ด้วยการร้องขอ ทุกคนก็ต้องฟันกับอีกฝ่ายทั้งนั้น อเมริกาจึงต้องทำให้การล็อบบี้ถูกกฏหมาย
ส.ส.และ ส.ว. จึงต้องผ่านเป็นกฏหมายเฉพาะเรื่อง หรือเข้ากรรมาธิการ (Committee) เฉพาะกิจ แล้วประเมินตัดสินออกมาเลยว่าผิดด้วยหลักฐานอย่างไร แม้คำตัดสินนั้นไม่มีผลทางกฏหมาย แต่ก็ทำให้กระทรวงยุติธรรม อัยการ คนที่รักษากฏหมายต้องสะดุ้ง เพราะกรรมาธิการได้เรียกคนผิดมาให้การแล้ว ก็มีค่าเหมือนคำให้การของศาล จะปฏิเสธได้อย่างไร
อย่างตอนนี้ที่กรรมมาธิการ 6 มกราฯ กำลังรวบรวมหลักฐานที่จะบีบให้กระทรวงยุติธรรมอเมริกา ฟ้องร้อง โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าขัดขวางรัฐธรรมนูญ ละเมิดรัฐธรรมนูญ เท่ากับว่ามันทำความผิดทางอาญาแล้ว เป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีถูกขึ้นศาลจริงๆ เพราะฉะนั้น ถ้าดูจากตรงนี้ก็จะพบว่ากระบวนการทางกฏหมายหรือนิติบัญญัติอเมริกา พร้อมใจกันที่จะทำให้มาตรฐานทางจริยธรรมเป็นจริง อันนี้กรรมาธิการรัฐสภาไทยไม่มีน้ำยา ทำได้แค่เรียกมาสอบสวน เรียกเขา เขาก็ไม่มาก็ได้ สมัยหนึ่งเขาเคยทำให้เป็นกฏหมายนะ ถ้าไม่มาถือว่าผิด สามารถลงโทษได้ แต่หลังจากรัฐธรรมนูญ 60 เราไม่มีแล้ว มีเพียงฉบับ 40 เท่านั้นที่ให้อำนาจแบบนี้
ตอนนั้นสภามีอำนาจมาก ถึงได้ถูกรัฐประหารไง รื้ออำนาจรัฐธรรมนูญ 40 เพื่อที่จะทำลายอำนาจอธิปไตยของประชาชนให้มีแต่ในชื่อ แต่ไม่มีในทางปฏิบัติ
อย่างก่อนสงครามกลางเมือง มีนโยบายว่าด้วยเรื่องทาส เถียงกันว่าระบบทาสจะเอาหรือไม่เอา ก็สู้กันภาคเหนือ-ภาคใต้ ส.ส.ภาคเหนือก็โจมตี ส.ส.ภาคใต้ที่พยายามจะรักษาความชอบธรรมของระบบทาส ส.ส.ภาคใต้ก็โกรธมาก ลุกขึ้นมาเอาไม้ไปทุบตี ส.ส.ภาคเหนือ จนพิการ แน่นอนถูกไล่ออก ถึงไม่ไล่เขาก็ต้องลาออกเองอยู่แล้ว คุณผิดแน่ๆ
ปรากฏว่า ส.ส.คนนี้ กลับไปเลือกตั้งใหม่ที่เซาธ์แคโรไลนา ชาวบ้านเลือกตั้งเขากลับมาอีก มันช้ำใจตรงนี้ ทั้งหมดนี้คือถ้าความขัดแย้งรุนแรงมากอย่างเรื่องทาส จะเห็นว่าถ้าไม่ใช้กำลัง มันยุติแล้ว เหตุผลมันจบแล้ว
ทันทีที่คุณใช้เรื่องส่วนตัวมาด่ากัน เหตุผลไม่มีความหมาย มันเอาชนะกันด้วยเหตุผลไม่ได้
กรณีแบบนี้บอกให้เรารู้ว่า ระบบการเมืองนั้นถึงทางตัน หรือไม่ก็สร้างทางตันให้แก่ตัวเอง ไม่ต้องการจะไปต่อ โดยการดึงเรื่องนั้นเรื่องนี้เข้ามา
ถ้าการเลือกตั้งยังไม่ศักดิ์สิทธิ์จริงๆ ศักดิ์สิทธิ์ในแง่ที่ ถูกต้องตามหลักการเหตุผลจริงๆ ไม่ใช่อำนาจ หรืออิทธิพลภายนอก ตราบใดที่การเลือกตั้งยังไม่เป็นหลักประกันของความถูกต้องแม่นยำของคนคนหนึ่งในที่สาธารณะ หรือพฤติกรรมของนักการเมือง ยังตรวจสอบไม่ได้ด้วยแสงแห่งเหตุผล ตราบนั้นไม่ว่าจะด้วยกฏหมาย ไม่ว่าจะศาลไหน ไม่ว่าจะ ป.ป.ช. ป.ป.ง. กี่ ป. ก็ตาม มันไม่ใช่คำตอบ เป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองอีกอันหนึ่งเท่านั้นเอง เพื่อที่จะสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลกับหน่วยงานที่อยู่กับระบบนั้น
ในที่สุดระบบประชาธิปไตยก็รองรับด้วยหน่วยงาน กลไกต่างๆ ซึ่งทุกคนก็มีผลประโยชน์ในนั้น ทุกคนอยากจะสร้างผลประโยชน์ให้อยู่ต่อไป ก็เลยทำให้เหมือนว่าเขาทำงานเต็มที่แล้ว พยายามพิสูจน์แล้ว
เราจะเห็นว่าแต่ละหน่วยงานนี่ทำงานกันเต็มที่ ดีมาก เราได้กำลังใจมาก แต่พอตอนจบพากันเงียบไปหมดเลย เราก็งงๆ ว่าแปลว่าอะไร ความผิดอยู่ที่เรา อยู่ที่ ส.ส. หรืออยู่ที่ชาวบ้าน เลยกลายเป็นการหลับๆ ตื่นๆ เหมือนการเมืองไทยยังครึ่งหลับครึ่งตื่นอยู่อย่างนี้
อเมริกามีคอร์รัปชันใหญ่เล็กบ้างใหญ่บ้าง ในอดีตที่ผ่านมาอย่าง ริชาร์ด นิกสัน เรื่องคดีวอเตอร์เกต ก็เรื่องใหญ่ ก็จบที่ฝ่ายการเมืองต้องยอมลาออก ถือว่าสูงสุดแล้ว การที่ประธานาธิบดีลาออกจากตำแหน่งคือยอมรับผิด คุณไม่ผิดจะลาออกทำไม คุณออกแล้วคือคุณปิดชีวิตทางการเมือง ไม่มีทางกลับมาแล้ว ทำอะไรไม่ได้ จะไป endorse ใครมาเป็นพวกคุณก็ไม่ได้
คนของนิกสัน พรรครีพับลิกัน ตกกระป๋องทั้งแถบเลย ต้องหาคนใหม่ กลุ่มใหม่ แต่มันทำให้การเมืองมีชีวิต พรรคก็มีพลังต่อไป เพราะรู้ว่าพอหมดนิกสัน ก็เข้าสู่กลุ่มอื่น และไม่จำเป็นต้องทำเหมือนเดิม
ดังนั้น โอกาสที่พรรคจะได้สร้างนโยบายของตัวเอง ตอบสนองแต่ละยุค จนกระทั่งได้เสียงข้างมากจากประชาชน จนกลายเป็นพรรคเสียงข้างมากขึ้น อย่างพรรครีพับลิกันช่วงหลัง โรนัลด์ เรแกน ก็สร้างพรรคให้เข้าไปดึงดูดเสียงของคนผิวดำซึ่งเคยเป็นฐานเสียงของพรรคเดโมแครตได้ อะไรแบบนี้จะเกิดขึ้นในพรรคการเมืองที่มีความต่อเนื่อง ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเหตุเป็นผล
คนที่จะไปเป็น ส.ส.เป็นสมาชิกพรรคแต่ละพรรค เขาต้องรู้ว่าจะทำอะไร จุดยืนเขาอยู่ตรงไหน ไม่ใช่ลงหาเสียงที แล้วก็หาจุดยืนที หาฐานเสียงที จะไปเกาะกับใครดี ไม่ คุณต้องรู้ว่าคนที่ให้คะแนนเสียงคุณ มาจากคุณเชื่อในอะไร นักการเมืองต้องบอกให้ได้ว่านโยบายของคุณคืออะไร แล้วนโยบายนั้นตอบความต้องการของประชาชนไหม
มักจะมีคนบอกว่า นักการเมืองมันไม่ได้ตอบความต้องการของประชาชนหรอก มันตอบความต้องการของตัวเอง ซึ่งก็จริง ส.ส.เองก็ต้องมีความต้องการ แต่เขาต้องแปรความต้องการนั้นเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ
ผมคิดว่าพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย ทำอยู่ตอนนี้ ส.ส.ของเขาหลายคนก็ทำในสิ่งเหล่านี้ เขาไม่ได้แค่พูดเก่ง หาข้อมูล เปิดโปง แต่ทั้งหมดนี้ต้องเป็นสิ่งที่ชาวบ้านรับรู้ได้ และรู้ว่าเป็นประโยชน์ต่อเขา เป็นประโยชน์ส่วนรวมไม่ใช่ส่วนตัว ที่ถ้าทำในระยะยาวจะเป็นผลดี แบบนี้จึงจะเริ่มเป็นระบบ และเกิดพรรคการเมืองที่ทำหน้าที่พรรคการเมืองจริงๆ
ถ้าเรามองย้อนไปตั้งแต่หลังรัฐประหาร 49 พรรครัฐบาล พรรคไทยรักไทย ต่างๆ ก็ถูกยุบหลายรอบ แต่เขากลับมาทุกรอบ และสร้าง ส.ส.ขึ้นมาในยุคต่างๆ อย่าง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็อยู่มาตั้งแต่ยุคนั้น สะสมประสบการณ์ต่างๆ และเรื่องที่เขาพูดก็เป็นเรื่องเดียวกันมาโดยตลอด
นี่ต้องถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของสังคมไทย เพราะถ้าสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม พรรคการเมืองก็ถูลู่ถูกัง โดยเฉพาะพรรคฝ่ายก้าวหน้าไม่เกิด เกิดมาก็ถูกปราบ ถูกจับเข้าคุกหายไป
ประชาธิปัตย์เป็นพรรคเดียวที่อยู่นานที่สุด ต่อเนื่องที่สุด แต่ตอนนี้พอมาถูกตรวจสอบ ทดสอบด้วยปัญหาโลกาภิวัฒน์ ประชาธิปัตย์ไปไม่ได้แล้ว เห็นได้เลยว่าเขาเอาของเก่ามา มันใช้ไม่ได้ เพราะคนรุ่นเก่า ก็เลือกเท่านั้นแหละ 7 ล้านคนในกรุงเทพฯ มีอยู่ประมาณนั้น จะไม่ได้เพิ่มอีกแล้ว และส่วนนั้นก็หายไปด้วยจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ล่าสุด ฐานเสียงส่วนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ก็ย้ายไปสู่คนที่ตอบโจทย์เขา
ผมคิดว่าพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย กำลังสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ประวัติศาสตร์เก่ามันเริ่มกลับมาเชื่อมต่อ นี่มันถึงจะเป็นพลัง เป็นการอยู่รอดของพรรคที่เป็นสถาบันทางการเมือง
เรากำลังเริ่มเข้าสู่พรรคการเมืองที่ต้องการจะทำพรรคให้เป็นสถาบันทางการเมืองที่อยู่กับปัญหา ความขัดแย้งกับความต้องการของประชาชน ไม่ใช่พอฤดูเลือกตั้งค่อยมาแล้วก็ไป แล้วค่อยกลับมาอีกตามฤดูต่างๆ
นี่คือโจทย์ใหม่ของพรรคฝ่ายรัฐบาล ถ้าเขาไม่คิด เขาก็จะต้องเปลี่ยนรัฐธรรมนูญยังไงก็ได้ ให้เขาอยู่ต่อไปอีก 8 ปี หรือถ้าไม่ได้ก็จะต้องหาทางให้มีการยึดอำนาจ ทั้งหมดนี้มันถอยหลังยิ่งกว่าถอยหลัง
คุณจะต้องทำลายทุกอย่างในประเทศเพื่อจะให้คนบางคนอยู่ต่อไป คุณคิดว่ามีคนเอาเหรอ
แนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญเกิดในยุโรป หลังจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolutism) เริ่มเสื่อมลงไป แล้วการเมืองเริ่มไหลมาสู่ชนชั้นกลาง พวกนายทุน กระฎุมพี อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นพวกที่กุมทรัพยากร วัตถุดิบ การค้า ความมั่งคั่งจริงๆ ไม่ใช่ระบบกษัตริย์แล้ว กษัตริย์ต้องมากู้เงินจากพวกพ่อค้า นายทุน เพราะฉะนั้นเขาจึงต้องเขียนกฏกติกาที่ให้เขาสามารถทำธุรกิจ และเป็นรัฐบาลด้วยได้
หลักการใหญ่ๆ เหตุที่ต้องมีการควบรวมอำนาจ มี Check and Balance เพราะธรรมชาติของระบบทุนต้องต่อสู้เอาชนะอีกฝ่าย ถ้าหากไม่มีการตรวจสอบอำนาจที่เกินกว่าที่อณุโลมได้ ระบบนี้จะต้องพังพินาศ เพราะจะต้องมีวิกฤตทุกๆ 5 ปี ไม่มีใครรอด ระยะยาวจะไม่เป็นผลดีของทุนในแต่ละประเทศ ทุกคนจึงพร้อมใจกันสร้างรัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายสูงสุด อำนาจซึ่งแต่เดิมเคยเป็นของกษัตริย์และศาสนจักร ก็ย้ายมาเป็นอธิปไตยของประชาชน คนทั้งหมดที่อยู่ในสังคม
เมื่อแนวคิดนี้ระบาดไปทั่วโลก รัชกาลที่ 5 เราก็รับมา ท่านก็รู้ และพยายามจะเขียนรัฐธรรมนูญด้วย ช่วงก่อนที่จะมีการเสนอคำกราบบังคมทูลแก้ไขการปกครองสยาม ท่านก็รู้แล้ว เห็นฝรั่งทำมา แต่ท่านมองว่าฝรั่งทำเพราะประชาชนเขาลุกฮือ
ของไทยเรา ประชาชนที่ไหนจะลุกฮือ มีแต่เจ้าเห็นเองว่าควรต้องก้าวหน้าแล้ว ดังนั้นอธิปไตยจึงไม่ใช่ของราษฎร มันเป็นของกษัตริย์
เพราะอาณานิคมตะวันตกเริ่มมีปัญหา ต้องไปปะทะกันและตีเมืองขึ้น ฝ่ายกษัตริย์สยามก็รู้ว่า หากปะทะกับอำนาจฝรั่ง เราสู้ไม่ได้ ก็ต้องรักษาความเป็นเอกราช เอกราชของเราแต่เริ่มต้นผูกติดกับสถาบันกษัตริย์ ความเป็นเอกราชของไทยไม่เคยอยู่กับประชาชนหรือกับประเทศ มันอยู่กับสถาบันฯ มาตั้งแต่เริ่มต้น
การเขียนธรรมนูญแรกของรัชกาลที่ 5 ก็อธิบายว่าอำนาจสูงสุดอยู่ที่พระมหากษัตริย์ เรียกว่าอำนาจอันล้นพ้น เพราะควบคุมไม่ได้ จำกัดไม่ได้ แต่ความจริงแล้วกษัตริย์สยามเช่นท่านก็ไม่เคยฆ่าใคร โดยไม่ได้ปรึกษา หรือทำตามจารีตกฏมณเฑียรบาล กษัตริย์ไม่เคยทำตามใจ โดยนัยหมายความว่า อำนาจของผู้ปกครองไทยจำกัดโดยธรรมะของผู้ปกครอง มีในกฏมณเฑียรบาล แต่ขุนนางที่ไหนจะรู้ ผมเองก็ไม่รู้ แต่ก็ใช้อ้างว่าเห็นไหม อำนาจกษัตริย์อย่างจารีตไทยก็ใช้อย่างชอบธรรม
นี่คือความได้เปรียบของชนชั้นนำสยามที่มีความต่อเนื่องสูง พอเขาเอาคติของต่างประเทศมาใช้ เขาก็ใช้ในระบบที่เป็นผลดีต่อกษัตริย์ หรือต่อชนชั้นนำเอง ขณะเดียวกันก็ไปประกาศข้างนอกว่าสิทธิมนุษยชนเราก็รับรอง
แต่พอถามว่า แล้วทำไมยังมีจับกุมคดี 112 ทำไมยังมีไม่ให้ประกันตัว อ๋อ มันเป็นไปตามกฏหมาย ไปดูแต่ละเรื่องสิ เขาทำผิดตามข้อนั้นข้อนี้ ทุกคนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ผิดตามกฏหมาย ฝรั่งก็เถียงยากนะ พล.อ.ประยุทธ์ ไปประชุมองค์การสหประชาชาติที่วอชิงตัน ไปประกาศว่า "เราไม่เคยทำผิดอะไรเลย เมียนมายังทำผิดมากกว่าเรา"
นี่คือจารีตประชาธิปไตยของไทยใน 90 ปีมานี้ ที่ใช้แล้วเป็นผลดีกับชนชั้นปกครอง จนล่าสุดคือเปลี่ยนรัฐธรรมนูญตามใจเลย แต่ก่อนก็ยังอาย เพราะว่าคนที่เขียนรัฐธรรมนูญก็รู้ว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร คุณเขียนตามใจไม่ได้ หรือเขียนแล้วทำไม่ได้ ก็เขียนไม่ได้ แต่ตอนนี้เขียนไปก่อน แล้วใช้ไม่ได้ค่อยไปเปลี่ยนกฏหมายลูกอีกที สุดๆ ไปเลยตอนนี้
ผมคิดว่าตัวผู้นำมีผลอย่างมากต่อความเป็นรัฐบาล และส่งผลต่อการปฏิบัตินโยบาย ต่อการตีความกฏหมาย ต่อความสัมพันธ์กับทั่วโลก อย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ตอนขึ้นเป็นประธานาธิบดี ผมก็ประเมินต่ำ ผมคิดว่าหลายคนในอเมริกาก็ประเมินต่ำ คนมองว่านี่มันนักธุรกิจ ดีแต่พูด โกหกหลอกลวง หากินไปวันๆ 4 ปีก็ไป ไม่มีทาง ไม่รู้อยู่รอดไหม 4 ปี จะต้องถูกถล่ม
โอ้โห มาถึงตอนนี้ คนมึนเลย ศาลสูงก็พัง แกพังอันเก่า แกสร้างศาลสูงที่เป็นอนุรักษนิยมยิ่งกว่าอนุรักษนิยมขึ้นมากับมือแกเอง ใครจะทำได้อย่างนี้บ้าง กระทรวงยุติธรรมก็ถูกรื้อทิ้งเกือบหมด กระทรวงต่างประเทศ ฝ่ายความมั่นคง FBI CIA เจ๊งหมดไม่เหลือ กระทรวงพาณิชย์ออกมาท้ารบกับจีนตั้งแต่ยุคทรัมป์ นึกไม่ถึงเลย และเขาเกือบร่วมมือกับวลาดิเมียร์ ปูติน ได้ ถ้าเขาได้อำนาจอีก 4 ปี อาจจะไม่มีสงครามยูเครน แต่เราจะได้การเมืองที่ยุโรป นาโตพัง
ผมคิดว่าบทเรียนของโดนัลด์ ทรัมป์ มันตอบปัญหาคาใจเยอะเลย ถ้าผู้นำและกลไกของรัฐบาลที่อยู่ภายใต้ผู้นำตอนที่เขายังมีอำนาจอยู่พร้อมใจกันไม่ทำตามกฏหมาย คือละเมิดรัฐธรรมนูญ
ตอนที่แกรู้ว่าแกแพ้เลือกตั้ง แกก็พยายามไปฟ้อง ไปหาเรื่อง บอกให้เจ้าหน้าที่ทั้งในรัฐ นอกรัฐ ต้องแก้คะแนน เปลี่ยนคะแนน จน 6 ม.ค.2564 ที่ผลคะแนนเลือกตั้งเข้ามาสู่ที่ประชุม ส.ว. ทรัมป์ยกพวกมาล้อมสภา และเกือบจะบุกเข้าไปได้ ในที่สุดตำรวจเข้ามาปราบจนยุติลงไป แล้วที่ประชุมจึงดำเนินต่อไปถึงเที่ยงคืน จนประกาศว่าไบเดนชนะ เป็นอันว่ายุติ รัฐธรรมนูญยอมรับแล้วว่าไบเดน ชนะเลือกตั้ง ถ้าทรัมป์ยึดอำนาจ เขาก็หยุดได้ แล้วหย่อนคะแนนใหม่ให้ตัวเองชนะ ทำได้ถึงขนาดนั้น
ทุกคนเห็นภาพนั้นแล้ว วันแรกยังไม่ชัด นึกว่าแค่ประท้วง แต่แกทำมากกว่านั้นนะ เอาจริง คนงงเลย คิดไม่ถึงว่าแกจะกล้าขนาดนั้น ปัญหาคือมีหลักฐานไหม ผมคิดว่าที่กรรมาธิการฯ หาหลักฐานได้ และเป็นคำตอบของผมว่า ทำไมระบบการเมืองอเมริกันถึงรักษาเอาตัวรอดไว้ได้ ถึงแม้ผู้นำจะไม่รักษา คนแรกที่ทำลายระบบประชาธิปไตยคือผู้นำ ทั้งที่อยู่ในอำนาจหรือนอกอำนาจก็ตาม
ผบ.ทบ. ถ้าทำ แล้วคนอื่นไม่ทำตาม เขายึดได้ไหม ยึดไม่ได้ แต่พอเขายึดได้ คุณก็ทำตาม ทุกครั้งเลย 15 ครั้ง คุณยอม เขารู้ว่าครั้งต่อไปคุณก็ต้องยอม
แต่อเมริกาถ้ายอมคราวนี้ คราวหน้ามันต้องมาอีก เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายจึงพร้อมใจกัน สื่อมวลชนไม่ยอม ปัญญาชนไม่ยอม คนที่อยู่กับทรัมป์ ตั้งแต่ที่ปรึกษาความมั่นคงทำเนียบขาว ซึ่งเป็นระดับสูง แพท ซิโปลโลนี ให้ปากคำหมดเลย หลายคนให้ครึ่งๆ กลางๆ แต่ก็ให้
ถ้าหากว่าชนชั้นนำในส่วนนั้นหลายๆ คน ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจใช้วิธีนอกอำนาจรัฐธรรมนูญ ระบบนั้นก็อยู่ไม่ได้ คือไม่สำเร็จ
นี่ตอบโจทย์ชัดเลยว่า ทำไมรัฐประหารเมืองไทยถึงได้ง่าย มันง่ายเพราะคนที่อยู่ในอำนาจ และอยู่ข้างๆ อำนาจ ไม่ว่าจะปลัดกระทรวง รัฐมนตรี ไปจนถึงอธิการบดียอมรับ อย่างนักศึกษามาประท้วง อธิการบดีไปไล่จับนักศึกษาอย่างนี้ แล้วไม่กี่วันก็ต้องเงียบ
คำตอบของประเทศไทยชัดเลยว่า จุดอ่อนของเราคือ บรรดาชนชั้นนำ และชนชั้นกลางที่เป็นห้างร้านให้กับชนชั้นนำ พร้อมใจกันทำผิดรัฐธรรมนูญหมด ละเมิดรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันแรกที่ยึดอำนาจ จบ เท่านั้นเอง คุณจะไปด่าว่า นักการเมืองไม่ดี อย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ใช่
ผมได้คำตอบจากอเมริกาแล้วว่า คนที่รักษาระบอบประชาธิปไตยก็คือชนชั้นนำ และพรรคพวกของเขา บรรดาเจ้าสัว คหบดี เจ้าแม่เจ้าพ่อทั้งหลาย ทุกคนล้วนค้ำจุนระบบนี้ทั้งนั้น คนที่ให้ไฟเขียวกับการยึดอำนาจก็คือคนส่วนนี้ ไม่ใช่นักการเมือง ไม่ใช่อธิการ
อุปสรรคของประชาธิปไตย คือคนที่อยู่ในแวดวงชนชั้นนำของสังคมไทย เมื่อใดที่ชนชั้นนำพร้อมเป็นประชาธิปไตย เราเป็นประชาธิปไตยทันที จบ ไม่ต้องหาคำตอบอย่างอื่นแล้ว ไม่ต้องไปซักถามใคร ฟันธง
จริงๆ แล้ว คุณภาพของผู้นำอยู่ในตัวนักการเมืองที่ลุกขึ้นสู้ในช่วง 10-20 ปีที่แล้ว หลายคนเลย ผมคิดว่าหลายคนในแกนนำของพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล หรือย้อนไปถึงพรรคอนาคตใหม่ ผมคิดว่าเป็นผู้นำในระบอบประชาธิปไตยยุคโลกาภิวัฒน์ได้ทั้งนั้นเลย มีทั้งความรู้ ความสามารถ เข้าใจโลก เข้าใจความเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างในแง่ความรู้ ความถนัด ไม่น้อยกว่าวอชิงตัน ลอนดอน หรือที่ไหนต่างๆ อาจจะมากกว่าด้วย
เพราะฉะนั้น ผมไม่ห่วง ไม่มีปัญหาเลย กับคุณภาพหรือคุณสมบัติของคนที่จะมาเป็นผู้นำรัฐบาลไทย มีอยู่แล้ว สิ่งที่เป็นปัญหาคือ เมื่อไหร่โอกาสจะเปิดให้กับเขา ไม่ใช่เปิดแล้วก็ปิด ไม่ใช่เปิดแล้วก็หาทางเล่นงานเขา อย่างที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ คนที่ทำระบบให้ระบบทรุดโทรมและเสื่อมทรามทุกวันนี้ คือคนที่ไม่มีคุณสมบัติ ไม่มีคุณภาพ เป็นคนที่น่าเกลียด น่าชิงชังในระบบการเมืองทั่วโลก คนที่อยู่ในระบบการเมืองไทยตอนนี้ ไปอยู่ทั่วโลก เขาก็ไม่รับ ไม่ให้ความเชื่อถืออะไรทั้งนั้น
ผมคิดว่า เรามีความอดทนมาสูงมาก เราทนมานานแล้ว ขอโอกาสเล็กๆ ให้กับคนที่จะมาเป็นผู้นำจริงๆ ของคนไทยและสังคมไทยเสียที
ภาพ : ฉัทดนัย ทิพยวรรณ์