นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษพัฒนา "ระบบคาดการณ์สถานการณ์มลพิษทางอากาศ" เป็นเครื่องมือสนับสนุนการดำเนินงานของยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และเป็นเครื่องมือสนับสนุนการบริหารจัดการปัญหาสถานการณ์ในพื้นที่เป้าหมายอย่างพื้นที่ภาคเหนือ และกรุงเทพมหานครอย่างแม่นยำมากขึ้น
โดยระบบดังกล่าวพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของแบบจำลองคณิตศาสตร์ด้านการกระจายตัวมลพิษอากาศ และแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ด้านสภาพอุตุนิยมวิทยาและชั้นบรรยากาศ ที่พัฒนาโดยองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งสหรัฐอเมริกาและองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา
ปัจจุบันระบบดังกล่าวใช้สนับสนุนการคาดการณ์สถานการณ์มลพิษทางอากาศที่แม่นยำสูงสุดได้ไม่เกิน 3 วัน ในพื้นที่ต่างๆ คือ พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย สามารถคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ และการเคลื่อนตัวของมลพิษข้ามแดน พื้นที่เขตควบคุมมลพิษตำบลหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี สามารถประเมินสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดขึ้นจากแหล่งกำเนิดมลพิษภายในพื้นที่
สุดท้ายพื้นที่เขตควบคุมมลพิษตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง สามารถประเมินศักยภาพการรองรับมลพิษของพื้นที่ (Carrying Capacity) โดยเฉพาะสารอินทรีย์ระเหยง่ายจากแหล่งกำเนิดมลพิษที่สำคัญ อีกทั้งยังสามารถใช้สนับสนุนการประเมินสถานการณ์ที่เกิดจากกรณีเหตุฉุกเฉินที่ต้องการรับมืออย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพและใช้ประเมินสถานการณ์กรณีร้องเรียนปัญหามลพิษทางอากาศ
นายประลอง กล่าวย้ำว่า คพ. ยังได้ปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพในการประมวลผล (ระบบคอมพิวเตอร์) สำหรับการพยากรณ์ให้สามารถทำนายผลได้ล่วงหน้าจากเดิม 3 วัน เป็นประมาณ 5-7 วันและมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาลต่อไป และให้การจัดการมลพิษทางอากาศประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย