ไม่พบผลการค้นหา
'ก้าวไกล' เสียดายประธานฯ ชิงปิดประชุม ยังไม่ได้ข้อสรุป หลังเสนอทบทวนมติตีความเสนอชื่อนายกฯ ซ้ำไม่ได้ มองช่วยปลดล็อกทุกพรรค 'เพื่อไทย' ไม่ต้องโดนบีบให้สลับขั้ว ย้ำวาระแก้ ม.272 ปิดสวิตช์ สว. ยังไม่ตก พร้อมเสนออีก

วันที่ 4 ส.ค. ที่อาคารรัฐสภา พรรคก้าวไกล นำโดย ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค รังสิมันต์ โรม ในฐานะโฆษกพรรค พร้อมด้วยตัวแทน สส. แถลงข่าวหลังประธานรัฐสภาสั่งเลื่อนวาระและปิดการประชุมโดยยังไม่มีข้อสรุปในญัตติที่พรรคก้าวไกลเสนอมา 

โดย ชัยธวัช กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว ตนยังงุนงงอยู่ว่าเป็นการเลื่อน หรือยกเลิกการประชุม ซึ่งพรรคก้าวไกลมีประเด็นที่จะสื่อสาร ดังนี้

1) พรรคก้าวไกลยืนยันว่าญัตติที่ สส.พรรคก้าวไกลเสนอต่อรัฐสภาให้มีการทบทวน มติที่รัฐสภา ตีความว่าการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเป็นญัตติที่ไม่สามารถเสนอซ้ำได้ ความจริงแล้ว วันนี้ประธานรัฐสภาควรจะเปิดให้มีการลงมติ ว่าสมาชิกเห็นชอบต่อญัตตินี้หรือไม่ ในฐานะพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายสนับสนุนให้ วันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานรัฐสภา จึงมีข้อกังวลว่า การเป็นสภาวันนี้อาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่าไม่สง่างาม อาจจะเป็นเพราะประธานรัฐสภาเห็นว่าเสียง สว.ไม่มากพอหรือไม่ แต่หวังว่าการประชุมในอนาคตจะดีขึ้น

2) การปิดประชุมรัฐสภาวันนี้ทำให้วาระสำคัญ 2 วาระไม่ได้พิจารณา คือการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งพรรคก้าวไกลยังยืนยันว่าสามารถดำเนินการต่อได้ โดยไม่ต้องรอมติของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจเต็มของรัฐสภา

"การยกเลิกมาตรา 272 หากผ่านวาระที่ 1 ก็จะทำให้การเลื่อนนายกไม่ไปสู่ทางตัน หวังว่าการประชุมรัฐสภาคณะต่อไปจะสามารถดำเนินไปได้อย่างเร็วที่สุดและเป็นปกติ" ชัยธวัช กล่าว

ชัยธวัช ยังย้ำว่า ตอนนี้ญัตติยังไม่ตกไป สามารถเสนอซ้ำอีกได้ในการประชุมครั้งต่อไป หลายคนอาจจะมองว่าวาระนี้ไม่สำคัญ แต่พรรคก้าวไกลไม่แน่ใจว่าการเลือกนายกฯ จะยืดเยื้อไปถึงไหน 

อีกทั้งการเสนอแก้ไขการตีความข้อบังคับที่ 41 ก็จะเป็นการปลดล็อคให้กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของทุกพรรค รวมถึงพรรคเพื่อไทยด้วย เพื่อจะได้ไม่จำเป็นต้องไปพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาล หรือถูกบีบให้ไปร่วมสืบทอดอำนาจ

ด้าน รังสิมันต์ กล่าวว่า วันนี้ สส. พรรคก้าวไกลมาพร้อมทำหน้าที่ ตั้งใจยื่นญัตติขอทบทวนมติที่รัฐสภาตีความข้อบังคับ 41 เรื่องการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ เป็นญัตติ ซึ่งมีนักวิชาการจำนวนมากเข้าชื่อ และมีผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ นำมาสู่การพิจารณากระบวนการที่มีปัญหา ซึ่งรัฐสภามีทางออกได้โดยไม่ต้องพึ่งพาศาลรัฐธรรมนูญเลย เพราะตัดสินใจไปแล้วก็สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้โดยใช้อำนาจของสภา

รังสิมันต์ มองว่า เมื่อเสนอญัตติแล้ว ประธานรัฐสภาก็ต้องพิจารณาเรื่องนี้ โดยพรรคก้าวไกลไม่ได้มีเจตนาจะประวิงเวลา แต่ต้องการให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม มีผู้โต้แย้ง ว่ามีการลงมติตามข้อบังคับ 151 ไปแล้ว และตามข้อบังคับที่ 41 ไม่สามารถเสนอญัตติซ้ำได้ แต่ความจริงในวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา เป็นการลงมติตีความข้อบังคับ แต่ประเด็นวันนี้คือการขอทบทวนซึ่งเป็นคนละเรื่อง จึงไม่ใช่ญัตติซ้ำอย่างแน่นอน

ขณะที่ วันมูหะมัดนอร์ อ้างว่า ตามข้อบังคับ 151 การตีความนั้นจะต้องเป็นการตีความที่เด็ดขาด คือเมื่อตีความไปแล้วจะยกเรื่องเดิมมาพิจารณาอีกไม่ได้ แต่ตนมองว่าไม่ได้หมายความว่าจะปิดกั้นไม่ให้รัฐสภาวินิจฉัยอีกครั้ง ขอยืนยันว่าการเสนอญัตติของเราสามารถทำได้ เช่นเดียวกับสมาชิกจากพรรคเพื่อไทยก็ช่วยยืนยันอีกเสียงหนึ่ง จึงเป็นเรื่องน่าแปลกใจและน่าเสียดายที่การประชุมของรัฐสภาต้องสิ้นสุด โดยไม่มีข้อยุติ

รังสิมันต์ ยังกล่าวว่า ถ้าความจริงประธานรัฐสภายอมให้พิจารณาไปสัก 1 ชั่วโมงก็คงจะหาข้อสรุปได้ เพื่อนำไปสู่วาระต่อไป ขณะที่การแก้ไขมาตรา 272 ซึ่งเป็นทางออกของประเทศก็ไม่ถูกพิจารณา

"เราทราบมาตั้งแต่ต้นว่าจะมีความพยายามล้มการประชุม ถ้า สส.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ไม่กระตุ้น ก็คงไม่มีการแห่เข้ามาประชุม แต่การใช้วิชามารแบบนี้คำถามที่ประชาชนตั้งคำถามได้คือประเทศได้อะไรกับการปิดประชุมแบบนี้" รังสิมันต์ กล่าว