โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ปราศรัยใหญ่ช่วงเช้าวันที่ 8 ม.ค.2563 ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ซึ่งตรงกับช่วงค่ำตามเวลาไทย ชี้แจงกรณีอิหร่านยิงขีปนาวุธนำวิถีหลายลูกโจมตีฐานทัพของทหารอเมริกันในอิรัก 2 จุด เพื่อตอบที่โต้สหรัฐฯ ใช้โดรนควบคุมระยะไกลสังหารพลตรีกัสซิม โซเลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังกุดส์ หน่วยรบสำคัญของกองทัพพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามแห่งประเทศอิหร่าน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ในระหว่างแถลง คณะรัฐมนตรีและนายทหารระดับสูงของกองทัพสหรัฐฯ ได้ยืนอยู่ข้างหลังทรัมป์ โดยแต่ละคนมีสีหน้าเรียบเฉย ส่วนทรัมป์ประกาศว่า "ไม่มีชาวอเมริกันคนใดเป็นอันตรายจากการโจมตีของอิหร่าน" และไม่มีใครบาดเจ็บล้มตาย ทหารอเมริกันทั้งหมดปลอดภัย มีเพียงความเสียหายเกิดขึ้นเล็กน้อยภายในฐานทัพ
ทรัมป์ระบุด้วยว่า กองทัพอเมริกันอันยิ่งใหญ่นั้น 'เตรียมพร้อม' สำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง ขณะที่อิหร่านก็ผ่อนกำลังลงแล้ว จึงถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับทุกฝ่ายที่กำลังวิตกกังวลกันอยู่ และดีต่อโลกมากๆ ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังประกาศอีกว่า "ขีปนาวุธของเราใหญ่ ทรงพลัง แม่นยำ ร้ายกาจ และรวดเร็ว แต่ข้อเท็จจริงว่าเรามีทั้งกองทัพและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ยิ่งใหญ่ ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องใช้มัน เราไม่ต้องการจะใช้มัน ความเข้มแข็งแบบอเมริกัน ทั้งกำลังทหารและเศรษฐกิจ คือหนทางยับยั้งอย่างดีที่สุด"
ถ้อยแถลงของทรัมป์ บ่งชี้ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ อาจพิจารณามาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแก่อิหร่าน มากกว่าจะใช้วิธีทางการทหารตอบโต้กลับไป ทำให้หลายฝ่ายประเมินว่าความเสี่ยงที่จะเกิดเรื่องบานปลายสู่สงคราม "ลดลงไป" มากแล้ว แต่ทรัมป์ยังคงกดดันต่อประเทศพันธมิตรที่เคยร่วมเจรจาข้อตกลงด้านนิวเคลียร์กับอิหร่านเมื่อปี 2013 ให้ถอนตัวไปทั้งหมด ซึ่งทรัมป์หมายถึงอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซีย และจีน
ทรัมป์ระบุเพิ่มเติมว่า อิหร่านต้องเลิกทะเยอทะยานด้านนิวเคลียร์ และยุติการสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย ส่วนประเทศภาคีที่เคยเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านในสมัยของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ คนก่อนหน้าทรัมป์ ต้องถอนตัวจากการปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อตกลงนิวเคลียร์ดังกล่าวโดยทันที
อย่างไรก็ตาม สื่อหลายสำนักรายงานว่า แม้ทรัมป์พยายามพูดถึงมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน แต่ยังไม่บอกรายละเอียดว่าจะคว่ำบาตรอย่างไรบ้าง โดยบอกแต่เพียงว่า สหรัฐฯ จะยังคงมาตรการคว่ำบาตรเรื่อยไปจนกว่าอิหร่านจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ขณะเดียวกัน แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ระบุว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนฯ จะหารือเพื่อหาทางควบคุมการใช้อำนาจประธานาธิบดีในการเข้าสู่สงครามกับประเทศอื่น หลังโฆษกประจำทำเนียบขาวตอบโต้เสียงวิจารณ์ว่าการที่ทรัมป์สั่งให้โดรนสังหารพลตรีโซเลมานี "อยู่ในขอบเขตอำนาจของประธานาธิบดีที่สามารถกระทำได้" โดยอ้างอิงจากกรณีอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งเป็นผู้ประกาศนโยบายทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย สั่งเคลื่อนกำลังทหารรุกรานอิรักและอัฟกานิสถาน หลังจากเกิดเหตุวินาศกรรมพุ่งเป้าสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2001
ส่วนนักวิเคราะห์บางรายประเมินว่า ต่อให้อิหร่านผ่อนกำลังทหารลงอย่างที่ทรัมป์ประกาศจริง แต่สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านจะยังคงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง จึงอาจทำให้สหรัฐฯ พิจารณาส่งทหารไปตรึงกำลังในอิรักและประเทศแถบตะวันออกกลางอื่นๆ เพิ่มขึ้น เพราะอิหร่านยังมีอิทธิพลอยู่มากในภูมิภาคดังกล่าว และอาจมีการก่อเหตุรุนแรงในการตอบโต้ โจมตี เพื่อล้างแค้นกองทัพอเมริกัน
ขณะที่ 'โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี' ประธานาธิบดียูเครน แถลงว่ารัฐบาลของเขาจะส่งเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญไปยังอิหร่าน เพื่อเก็บหลักฐานและสอบข้อเท็จจริงกรณีเครื่องบินโดยสารของยูเครนตกในอิหร่านเมื่อวันที่ 8 ม.ค. พร้อมด้วยผู้อยู่บนเครื่องประมาณ 180 คน
เบื้องต้นคาดว่าสาเหตุเกิดจากวิสัยทัศน์การบินที่ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ซึ่งอาจจะเกี่ยวโยงกับการโจมตีระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นในช่วงกลางดึก และเซเลนสกีแถลงว่า จะต้องหาตัวผู้รับผิดชอบเหตุการณ์ดังกล่าวให้ได้
ที่มา: AP/ Axios/ The Guardian/ New York Times
ข่าวที่เกี่ยวข้อง