สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตามที่กระทรวงการคลังโต้แย้งกับธนาคารชาติ เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าเกินไป และธนาคารชาติกล่าวว่าเศรษฐกิจไทยอาการหนักแก้ยากกว่าที่คิด เพราะเจอทั้งมรสุมโควิดและหนี้ครัวเรือนที่สูงนั้นตนเห็นว่านอกจากปัญหาโควิด-19 ที่มีผลกระทบทั่วโลกแล้ว ประเทศไทยในขณะนี้ ยังมีปัญหาคือ
1. การไม่มีความเชื่อมั่น เนื่องจากมีการปฏิวัติรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจปฏิวัติต่อเนื่องมากว่า 6 ปีแล้ว นักลงทุนที่อยู่ในประเทศไทยมานานได้ถอนตัวออกไปเรื่อยๆ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเช่น EEC ก็ไม่ได้รับความสนใจนัก จากนักลงทุนไทยและต่างชาติ อันเนื่องมาจากประเทศไทยไม่มีอนาคต
2. ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งเกินไปมากๆ ก่อนเกิดปัญหาโควิดเมื่อต้นปี 2563 ประเทศไทยก็เจริญเติบโตต่ำมาก เฉลี่ยเพียง 2-3% ซึ่งต่ำกว่าทุกประเทศในอาเซี่ยน เนื่องจากการเป็นรัฐบาลกึ่งเผด็จการ และเนื่องจากค่าเงินบาทแข็งมากๆ คือใน 7 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งขึ้นกว่าค่าเงินริงกิตของมาเลเซียถึง 27% (เมื่อ 7 ปีที่แล้ว 1 ริงกิต เท่ากับ 10 บาท ปัจจุบัน 1 ริงกิต เท่ากับ 7.3 บาท) ทั้งๆ ที่ประเทศไทยไม่ได้มีการพัฒนาอะไรดีกว่ามาเลเซีย ที่จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นได้ มีเพียงประเทศไทยดูดปริมาณเงินบาทออกจากระบบเศรษฐกิจไปมากขึ้นเรื่อยๆ โดยหากเทียบให้มาเลเซีย มีปริมาณเงินริงกิต 100% ในระบบเศรษฐกิจเขา ประเทศไทยก็มีปริมาณเงินบาทเพียง 75% ในระบบเศรษฐกิจไทย
สุชาติ กล่าวต่อว่าการที่เงินบาทแข็งค่าอย่างมากมาย จึงทำให้สินค้าส่งออกไทยราคาแพงกว่าประเทศอื่นๆ มากขึ้นเรื่อยๆ จึงผลิตไม่เต็มความสามารถที่มีอยู่ (under capacity utilization rate) ต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น คนว่างงานก็เพิ่มขึ้น มีรายได้น้อยลง ประเทศเจริญเติบโตช้ามาก มาเป็นเวลากว่า 6 ปีแล้ว ดูแล้วจึงไม่มีทางที่รัฐบาลจะฟื้นเศรษฐกิจได้ และประชาชนจะยากจนลงอีกมาก หลังจากคนที่อยู่ใต้เส้นความยากจน เพิ่มขึ้น 2 ล้านคนแล้วใน 5 ปีที่ผ่านมา เป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่คนจนเพิ่มขึ้น อาจกล่าวได้ว่า ตราบใดที่รัฐบาลยังกำหนดนโยบายการเงิน และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ให้ธนาคารชาตินำไปปฏิบัติไม่ได้ ก็เหมือนมีรัฐบาล 2 รัฐบาล โดยธนาคารชาติ มีอำนาจต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่า โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน การที่รัฐบาลใช้นโยบายการคลังในปัจจุบัน ก็เป็นเพียงการย้ายเงินจากมุมหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ ไปยังอีกมุมหนึ่งเท่านั้น ปริมาณเงินบาทในมือประชาชนโดยรวมไม่ได้เพิ่มขึ้น ความคิดเรื่องให้ธนาคารชาติเป็นช้างเท้าหลัง คอยรักษาเสถียรภาพ ให้ระวังปัญหาเงินเฟ้อ จนอัตราเงินเฟ้อติดลบก็ยังไม่เป็นไรจึงไม่ถูกต้อง เพราะเหตุที่อัตราเงินเฟ้อติดลบ ก็เนื่องมาจากปริมาณเงินบาทในระบบเศรษฐกิจมีน้อยเกินไป ทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเรื่อยๆ สินค้าออกแพงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เศรษฐกิจไม่เจริญเติบโต คนไม่มาลงทุนเพราะค่าเงินบาทแข็งเกินไป เมื่อนำเงินต่างประเทศมาแลกก็ได้เงินบาทน้อยลงไปเรื่อยๆ ทำให้ต้องใช้เงินต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อซื้อวัตถุดิบภายในประเทศ และเพื่อจ้างงาน นักลงทุนจึงย้ายไปเวียดนาม พม่า อินโดนีเซีย ที่ใช้ต้นทุนต่ำกว่า
สุชาติ กล่าวถึงการที่ธนาคารชาติกล่าวว่า ประชาชนเป็นหนี้ครัวเรือนมากเกินไป ทำให้เศรษฐกิจไทยมีปัญหาแย่กว่าที่คิดนั้น ความจริงหนี้ครัวเรือนของประชาชนโดยรวม นำไปเทียบกับ GDP นั้นไม่ถูกต้องนัก หากผู้วิเคราะห์ไม่เข้าใจมากพอก็อาจเกิดการหลงผิดได้ (misleading) หนี้ครัวเรือนต้องหักจากทรัพย์สินครัวเรือนก่อน หากประชาชนเป็นหนี้มากขึ้นเพื่อนำไปซื้อบ้านซื้อทรัพย์สินไว้ ก็ถือว่าเป็นการลงทุนชนิดหนึ่ง การที่เศรษฐกิจประเทศไทยไม่เจริญเติบโต ก็จะทำให้หนี้ครัวเรือนต่อ GDP เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้หมายความว่าประชาชนกู้เงินมากไปแต่อาจหมายความว่ารัฐบริหารเศรษฐกิจแย่เกินไป จนทุกคนในประเทศมีรายได้ลดลง และไม่เห็นอนาคต
"กระทรวงการคลังและธนาคารชาติ มีหน้าที่บริหารระบบเศรษฐกิจมหภาค ต้องใช้นโยบายภาพรวม การพูดเรื่องหนี้ครัวเรือนว่าสูงมาก แล้วกล่าวว่าเป็นปัญหาของระบบจึงไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการกล่าวหาพฤติกรรมของประชาชน (people consumption behavior) ที่เป็นอยู่ปกติ มาเป็นปัญหา การพูดเป็นจุดๆ เป็นเรื่องระดับย่อย (Microeconomics) เราต้องเข้าใจว่า เราบริหารเศรษฐกิจระดับภาพรวม (Macro) จึงไม่ไม่ควรเอาระดับ Micro มาเป็นปัญหา เพราะปัญหาระดับ Micro เหล่านี้มาจากการบริหารระดับ Macro ที่ผิดพลาด แต่หากกระทรวงการคลังและ ธนาคารชาติปล่อยให้มีปริมาณเงิน (money supply) มากกว่านี้ ประชาชนก็จะมีเงินหมุนเวียนในมือมากขึ้น ค่าเงินบาทก็จะอ่อนค่าลง รายได้จากการส่งออกก็จะมากกว่านี้ เศรษฐกิจก็จะเจริญเติบโตมากกว่านี้ ปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน เรื่องรายได้ภาษีลดลง และปัญหาอื่นๆ ก็จะลดลงไปเอง จึงรู้สึกเป็นห่วงอนาคตของประเทศและประชาชนไทย และหวังว่ารัฐบาลจะบริหารประเทศให้ถูกต้องตามหลักวิชา" สุชาติ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :