อิบราฮิม บูบาการ์ เคตา ประธานาธิบดี ประเทศมาลี ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีและประกาศยุบสภา หลังจากคณะทหารของกองทัพมาลี ทำการรัฐประหารและจับกุมตัวประธานาธิบดีและคณะรัฐบาลแห่งมาลี
พ.อ.อิสมาเอล วากิว โฆษกของคณะกรรมาธิการแห่งชาติเพื่อการช่วยประชาชน กล่าวว่า การรัฐประหารครั้งนี้กลุ่มทหารได้กระทำเพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศมาลีตกอยู่ในภาวะความวุ่นวาย โดยชี้ว่าที่ผ่านมาความตึงเครียดทางสังคมและการเมือง ได้ทำลายระบบการทำงานของประเทศ
"มาลีเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบและมีความไม่มั่นคงเกิดขึ้นทุกวัน เนื่องจากประชาชนมีความเข้าใจผิดในเรื่องประชาธิปไตยที่แท้จริง ทำให่้ระบบการเมืองไม่สามารถทำงานได้ รวมถึงอำนาจรัฐที่อ่อนแอ โดยประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นต้องสามารถรับรองเสรีภาพและความมั่นคงให้กับประชาชนได้" พ.อ.วากิวกล่าว
นับตั้งแต่เดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีเคตาแห่งมาลีเผชิญหน้ากับการประท้วงของประชาชนจากปัญหาการคอร์รัปชัน การบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาดและการแทรกแซงการเลือกตั้ง โดยปธน.เคตาชนะการเลือกตั้งในสมัยที่ 2 เมื่อปี 2561
นอกจากนี้กลุ่มก่อการร้ายอิสลามได้ยกระดับการก่อความไม่สงบภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น
ปฏิกิริยาจากนานาชาติ
สหภาพแอฟริกาออกแถลงการณ์ระบุว่า การทำรัฐประหารที่เกิดขึ้นในมาลีเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ โดยชี้ว่า การรัฐประการที่ออกมากล่าวว่าอ้างถึงเจตจำนงของประชาชน เป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้
ประเทศสมาชิกเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (Ecowas) ออกมาประกาศต้านการรัฐประหารในมาลี โดยมีมาตรการปิดพรมแดนที่เชื่อมต่อกับมาลี ระงับความช่วยเหลือทางการเงินและขับมาลีออกจากคณะกรรมาธิการตัดสินใจเชิงนโยบายของ Ecowas
ขณะที่เอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในฐานะอดีตประเทศเจ้าอาณานิคม ออกมาเรียกร้องให้มาลีกลับสู่การปกครองของพลเรือนโดยเร็วที่สุด โดยกล่าวว่า การต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายและการปกป้องประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้
ด้านองค์การสหประชาชาติ (UN) สำนักงานเลขาธิการ UN เรียกร้องให้องค์กรระดับภูมิภาคร่วมกดดันและปลดเจ้าหน้าที่ของมาลีออกจากตำแหน่งในองค์กรทั้งหมด รวมถึงยังเรียกร้องให้มาลีกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว
ทั้งนี้ทางคณะรัฐประหารของมาลีออกมากล่าวว่า ทางกลุ่มจะดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนและจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นใหม่ หลังจากที่ ปธน.และรัฐบาลของมาลีลาออกจากตำแหน่ง