ไม่พบผลการค้นหา
ครม. มีมติอนุมัติกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน หรือ กรอบอัตราเงินเฟ้อปี 2563 ตามธปท.-คลังเสนอ ที่ระดับร้อยละ 1-3 จากเดิมร้อยละ 2.5 บวก/ลบร้อยละ 1.5 แบงก์ชาติแจงเพื่อรับมือเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ย้ำ ม่เข้มงวดนโยบายการเงิน พร้อมคาดการณ์เงินเฟ้อปีหน้ายังต่ำกว่าร้อยละ 1

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 ธ.ค. ได้มีมติอนุมัติกรอบอัตราเงินเฟ้อทั่วไปใหม่ในช่วงร้อยละ 1-3 จากปีที่ผ่านมากำหนดไว้ที่ร้อยละ 2.5 บวกลบร้อยละ 1.5 (ช่วงระหว่างร้อยละ 1-4)

โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์เงินเฟ้อของไทยต่ำกว่ากรอบล่างมาเสมอ เนื่องจากสถานการณ์ด้านราคาพลังงาน ราคาอาหารสด รวมถึงอุปสงค์ของผู้บริโภคลดลง ทำให้ไม่สามารถกระตุ้นราคาสินค้าได้

นอกจากนี้ เมื่อหันมามองที่โครงสร้างทางสังคมของไทย นายเมธี ระบุว่าปัจจุบันประเทศมี 3 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาสินค้าและบริการถูกลง ได้แก่ (1) การพัฒนาของเทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุนการผลิต (2) การขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์มที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าได้อย่างสะดวกจนผู้ขายเองต้องหันมาลดราคาแข่งกัน และ (3) การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่เป็นการลดกำลังซื้อของผู้บริโภคในสังคมลง

ด้วยเหตุผลทั้ง 3 ข้อดังกล่าว การปรับกรอบอัตราเงินเฟ้อลงจึงเป็นการปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อในอนาคต 

อย่างไรก็ตามการกำหนดกรอบบนไว้ที่ร้อยละ 3 ไม่ได้สะท้อนว่า ธปท. จะดำเนินนโยบายการเงินแบบเคร่งครัด เนื่องจาก ธปท. มองว่า มีความเป็นไปได้ต่ำที่อัตราเงินเฟ้อจะโตเกินกรอบร้อยละ 3 ที่ตั้งไว้


"ปีหน้าเรายังมองว่าเงินเฟ้อต่ำกว่า 1%" เมธี กล่าว

ส่วนแนวโน้มที่อัตราเงินเฟ้อของไทยจะเพิ่มขึ้นมาเข้ากรอบล่าง ธปท. มองว่าอาจจะต้องรอดูถึง 5 ปี แต่ก็ไม่สามารถประเมินอะไรได้มาก เนื่องจากมีปัจจัยเกี่ยวข้องเยอะ ทั้งราคาน้ำมัน และราคาอาหารสด ซึ่งการมองไปในอนาคตนานเกินไปอาจส่งให้การประเมินไม่แม่นยำ

สำหรับสาเหตุที่ ธปท. เลือกกำหนดกรอบอัตราเงินเฟ้อเป็นช่วง เพราะต้องการให้นโยบายการเงินมีความยืดหยุ่นเพียงพอกับการรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจและความเสี่ยงในภาคการเงิน จากปัจจัยต่างๆ เช่น สงครามการค้า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในระดับภูมิภาค ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการสะสมความเสี่ยงในระบบการเงินจากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นระยะเวลานาน

ดังนั้น การเป้าปรับเป้าหมายนโยบายใหม่ นอกจากจะเป็นการปรับตัวให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ และเพื่อการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับนโยบายการเงิน ยังมีการปรับปรุงเกณฑ์การสื่อสารผ่านจดหมายเปิดผนึก (open letter) เมื่ออัตราเงินเฟ้อออกนอกกรอบเป้าหมาย เพื่อให้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แสดงความรับผิดชอบและสื่อสารกับสาธารณชนได้ทันท่วงที พร้อมเสนอแนวทางแก้ไข และระยะเวลาคาดการณ์ที่จะใช้ในการแก้ไข

ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2563 ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 28/8 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551

โดยกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2563 พร้อมกันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะประธาน กนง. ได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2563 โดยข้อตกลงดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้

หลักการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น

ระบบเศรษฐกิจการเงินโลกและไทยในช่วงที่ผ่านมาเผชิญการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญหลายด้าน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้พลวัตเงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มต่ำลงจากในอดีต อีกทั้งโครงสร้างตะกร้าเงินเฟ้อไทยที่มีสัดส่วนของอาหารและพลังงานสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากราคาอาหารสดในประเทศและราคาพลังงานโลกที่มีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ ระบบเศรษฐกิจการเงินโลกที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้น ทำให้ปัจจัยภายนอกประเทศต่าง ๆ อาทิ สงครามการค้าและปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยอย่างรวดเร็วและรุนแรงมากขึ้นในระยะต่อไป 

การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นในปัจจุบันเอื้อให้ กนง. สามารถพิจารณานโยบายการเงินได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลางเป็นเป้าหมายหลัก ควบคู่กับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคาและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว  

เป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2563

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ กนง. มีข้อตกลงร่วมกันโดยกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2563 โดยอัตราเงินเฟ้อในช่วงดังกล่าวเป็นระดับที่เหมาะสมกับพลวัตเงินเฟ้อที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ การเปลี่ยนรูปแบบเป้าหมายเป็นช่วง ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้โลกที่ผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับสามารถดูแลเป้าหมายด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ การกำหนดเป้าหมายระยะปานกลาง เพื่อให้สอดคล้องกับประสิทธิผลการดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องใช้เวลาในการส่งผ่านผลไปยังภาคเศรษฐกิจจริง

การติดตามความเคลื่อนไหวของเป้าหมายของนโยบายการเงิน 

กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะหารือร่วมกันเป็นประจำและ/หรือเมื่อมีเหตุจำเป็นอื่นตามที่ทั้งสองหน่วยงานจะเห็นสมควร เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเป็นไปในทิศทางที่สอดประสานกัน 

กนง. จะจัดทำรายงานผลการดำเนินนโยบายการเงินทุกครึ่งปี ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับ (1) การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา (2) แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป และ (3) การคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบ รวมถึงจะเผยแพร่รายงานนโยบายการเงินทุกไตรมาสเป็นการทั่วไป อันจะช่วยเพิ่มการรับรู้ของสาธารณชนถึงแนวทางการตัดสินนโยบายการเงินของ กนง. ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต

การเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปออกนอกกรอบเป้าหมาย

หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยจะชี้แจงถึง (1) สาเหตุของการเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายดังกล่าว (2) แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาและในระยะต่อไปเพื่อนำอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม และ (3) ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย นอกจากนี้ กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทุก 6 เดือนหากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยตามแนวทางข้างต้นยังคงอยู่นอกกรอบเป้าหมาย และจะรายงานความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาเป็นระยะตามสมควร

การแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงิน

ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรหรือจำเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ กนง. อาจตกลงร่วมกันเพื่อแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงินได้ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา