ไม่พบผลการค้นหา
การฟอร์มรัฐบาลยังปั่นป่วน ทุกสายตาจับจ้องไปที่การต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีระหว่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กับร่วมรัฐบาลยัง “จบไม่ลง”

แม้พรรคกลาง ประชาธิปัตย์ – ภูมิใจไทย จะตกหลุมพราง ขานชื่อโหวต “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี รอบสองไปแล้วก็ตาม

แต่ตำแหน่งใหญ่ - เก้าอี้กระทรวงเกรดเอ ยังคงยื้อแย่ง - ชุลมุนกันฝุ่นตลบ

พรรคที่อาการหนักสุดมากกว่าภูมิใจไทย คือ “ประชาธิปัตย์” เพราะราคาที่จ่ายเพื่อการเข้าร่วมรัฐบาล ทำเอาพรรคเกือบแตก

“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรค ประกาศยึด “สจฺจํเว อมตา วาจา” ยอมลาออกจาก ส.ส. เพื่อรักษาคำพูดว่าไม่เอา “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ ฉีกมติพรรคที่ยอมเข้าร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ และไม่ทรยศอุดมการณ์พรรคตั้งแต่ก่อตั้ง 2489 ทั้งสิ้น 10 ข้อ

1.พรรคจะดำเนินการเมืองโดยวิถีอันบริสุทธิ์ 

2.พรรคจะดำเนินการเมืองด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อประชาชน

3.พรรคจะดำเนินการเมืองโดยอาศัยหลักกฎหมาย และเหตุผลเพื่อความศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญ และเพื่อเป็นเยี่ยงอย่างแก่อนุชน รุ่นหลังให้มีความนับถือ และนิยมในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

4.พรรคจะไม่สนับสนุนระบบและวิธีแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นระบบและวิธีการของรัฐบาลใดๆ

5.พรรคจะกระจายอำนาจการดำเนินการในท้องถิ่นให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้เนื่องจากความใกล้ชิด ขององค์กรในท้องถิ่นมีมากกว่าส่วนกลาง

6.พรรคมีจุดประสงค์ที่จะให้คนไทยมี ที่ทำกิน ที่อยู่และอาชีพ และจะเคารพกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคล แต่มิได้ละเลยที่จะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม

7.พรรคเชื่อว่า การแทรกแซงของรัฐเป็นสิ่งที่จำเป็น ในกิจการที่เห็นว่าการแทรกแซงจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม เช่น กิจการสาธารณูปโภค

8.พรรคจะส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่ง การศึกษา, ศาสนา, สาธารณสุขและสาธารณูปการ, ศิลป,วรรณกรรม, จารีต ประเพณี, ธรรมเนียมอันดีของชาติ และความปลอดภัยของประชาชน

9.พรรคเชื่อว่า การป้องกันประเทศนั้น ต้องอาศัยการก่อให้เกิดความร่วมมือพร้อมเพรียง ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของ ประเทศ และจะต้องให้มีการบำรุง กำลังหลัก คือ กองทัพให้ทันสมัยทั้งคุณภาพ และปริมาณเท่าที่จะเหมาะสมแก่แผนการ ทางยุทธศาสตร์ และนโยบายทางการเมือง และ 10.พรรคจะส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างประเทศ

ควง อภัยวงศ์ Khuang_Aphaiwong.jpg

(ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนแรก)

แต่หากทวนเข็มนาทีประวัติศาสตร์กลับไปหลัง “ควง อภัยวงศ์” และผองเพื่อนก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ได้เพียง 1 ปีเศษ 

8 พ.ย.2490 “จอมพลผิน ชุณหะวัณ” นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจ รัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ คณะรัฐประหารได้เชิญให้ “ควง” ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เข้ารายงานตัวในช่วงสายวันยึดอำนาจ

แล้วหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรกก็ยอม “กลืนอุดมการณ์” ผ่านไปไม่ถึง สัปดาห์เขาก็รับตำแหน่งนายกฯ ให้กับคณะยึดอำนาจ หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ฉบับวันที่ 15 พ.ย.2490 บันทึกคำปราศรัยของ “ควง” หลังรับตำแหน่งนายกฯ ว่า

“ข้าพเจ้ารู้สึกซาบซึ้งในเจตนาและการเสียสละของคณะรัฐประหาร ซึ่งเท่าที่ได้เห็นเป็นมาด้วยความบริสุทธิ์ มิใช่เป็นการกระทำที่แสดงว่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ดังที่ได้ปรากฏว่า คณะรัฐประหารได้พร้อมที่จะมอบการบริหารแผ่นดินให้ผู้อื่นและไม่ประสงค์ที่จะควบคุมอำนาจไว้แต่ประการใดเลย นอกจากจะรักษาความปลอดภัยในด้านทหารไว้เท่านั้น...”

“เพราะว่าคณะรัฐประหารนี้ได้ให้ความไว้วางใจแก่ข้าพเจ้า โดยมีความเห็นว่าข้าพเจ้าจะสามารถจัดหาบุคคลที่เหมาะสมมาร่วมกันบริหารบ้านเมือง ในขณะนี้ให้ลุล่วงด้วยดี ถ้าแม้หากว่าข้าพเจ้าปฏิเสธเสียก็จะเป็นการไม่ยอมร่วมมือกับผู้ที่มุ่งหวังดีต่อประเทศชาติถึงขั้นเสียสละ อีกทั้งจะทำให้การจัดหาบุคคลมาเป็นคณะรัฐบาลต้องยุ่งยากลำบาก ซึ่งจะทำให้ภาวะของบ้านเมืองมีทางเข้าสู่ความสงบและเป็นปกติต้องล่าช้าออกไป และจะมีผลร้ายต่อประเทศชาติ เพราะว่าตราบเท่าที่บ้านเมืองยังไม่มีรัฐบาล กิจการบ้านเมืองและสวัสดิภาพของประชาชนก็จะมีโดยบริบูรณ์ไม่ได้ ซึ่งจะมีผลกระทบกระเทือนต่อฐานะของประเทศชาติทั้งภายในและภายนอก”

“ข้าพเจ้ามีความห่วงใยในสภาพของบ้านเมือง และความลำบากยากแค้นของประชาชนและได้มีเจตนามาแล้วที่จะช่วยแก้ไขให้ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้ดังที่ท่านได้เห็นมาแล้วในฐานะนักการเมืองฝ่ายค้าน เมื่อคณะรัฐประหารได้เจาะจงขอร้องมา และภาวะในขณะนี้ก็บ่งชัดอยู่แล้วว่าจำเป็นจะต้องมีคณะรัฐบาลเข้าบริหารกิจการบ้านเมืองเสียโดยเร็ว ข้าพเจ้าจึงได้ตัดสินใจที่จะรับสนองพระมหากรุณาธิคุณครั้งนี้”

หนังสือพิมพ์ ไทยราษฎร 15 พ.ย.2490 รายงานบทสัมภาษณ์ของนายควง ที่แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า “จอมพล (จอมพล ป พิบูลสงคราม ซึ่งแกนนำคณะรัฐประหารล้วนเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ จอมพล ป และสนับสนุนให้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง) เขาไม่ยอมรับ เขาเลยให้ผมเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นแทน ธรรมดานกบินนะคุณ คุณจะให้นกตัวเก่าบินอยู่เรื่อยๆ นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ย่อมต้องมีการพักบ้างจอมพลเขาเป็นผู้ใหญ่เคยต่องานการมามาก เขาย่อมรู้ดีว่าตอนไหนเขาสมควรจะเข้ามา หรือตอนไหนไม่สมควรจะเข้ามา”

หลังจากเป็นนายกฯ ได้เฉพาะกิจได้ราวสองเดือน รัฐบาลควง เปิดให้เลือกตั้งทั่วไป 29 ม.ค.2491


ประชาธิปัตย์ เผด็จการ 0019848_2562193350660718592_n.jpg

ผลจากการเลือกตั้งที่มีกลไกอำนาจรัฐ – กองทัพ เป็นลมใต้ปีกให้ประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งได้เป็นครั้งแรก ครองเสียงข้างมากในสภา 56 เสียง จาก 99 ที่นั่ง ส.ส.ในสภา

ขณะที่กลุ่มพรรคสหชีพและแนวรัฐธรรมนูญ ที่สนับสนุนขั้วการเมืองปรีดี พนมยงค์ เมื่อการเลือกตั้งปี 2489 ได้ ส.ส.เพียง 8 ที่นั่งในสภา

ทว่า รัฐบาลควงหลังการเลือกตั้งก็อยู่ในอำนาจได้ ราว 2 เดือน ก็ถึงเวลา “อันสมควร” ที่ จอมพล ป จะกลับมาเป็นนายกฯ

6 เม.ย.2491 คณะรัฐประหารขอให้ “รัฐบาลควง” ลาออกภายใน 24 ชั่วโมง “รัฐบาลควง” ต้องยอมจำนน และลาออกในวันเดียวกัน เพื่อให้ “จอมพล ป” เป็นนายกฯ อีกครั้ง

บนเส้นทางการเมืองของประชาธิปัตย์ 73 ปี มีทั้งช่วงเวลา “กลืนเลือด” เข้าร่วมรัฐบาลรัฐประหาร และ ช่วงเวลาที่ยืนหยัดคนละขั้วกับคณะทหาร  


เสนีย์ ปราโมช Seni_Pramoj_in_1945.jpg

(ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 2 )

ดังเช่น ยุคที่ “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” เปิดให้มีการเลือกตั้งปี 2511 พรรคประชาธิปัตย์ ในยุค “ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช” หัวหน้าพรรคคนที่ 2 ได้เขียนนโยบายพรรคเพิ่มเติมว่า

“พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายในอันที่จะดำเนินการเมืองโดยวิถีทางอันบริสุทธิ์ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อชาติและประชาชน อาศัยหลักกฎหมายและเหตุผล เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยและเพื่อเป็นเยี่ยงอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังให้มีความนิยมนับถือตลอดจนเสียสละเพื่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยด้วยเหตุดังกล่าว พรรคนี้จึงเป็นศัตรูต่อระบอบเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นในรูปใดๆ และไม่สนับสนุนวิธีการแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการของรัฐบาลใด

“สามสิบกว่าปีที่แล้วมา การเปลี่ยนรัฐบาลใช้วิธีปฏิวัติรัฐประหารมิได้เปลี่ยนไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ด้วยความไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจของปวงชน จึงไม่มีอะไรก้าวหน้า บัดนี้ พลเมืองได้รับการศึกษามากขึ้นและสูงขึ้น ปัญญาชนได้แสดงออกแล้วด้วยประการต่างๆ ว่าพร้อมที่จะเช้ารับภาระในทางการเมือง จึงเป็นโอกาสที่ปวงชนเจ้าของอภนาจอธิปไตยจะได้เข้ามาเป็นใหญ่ ช่วยกันทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยสักที”


ปชป จุรินทร์ เฉลิมชัย ประชาธิปัตย์

ผ่านมา 51 ปี ประชาธิปัตย์ในยุคหัวหน้าพรรค “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” เข้าร่วมรัฐบาลทหาร

คำแถลงเข้าร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ตอนหนึ่ง มีว่า....

“พรรคได้ตระหนักว่า ไม่ว่าจะตัดสินใจไปทางไหน ย่อมมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าจะเป็นทางบวก หรือทางลบ กลับมามีผลกระทบต่อพรรคอย่างกว้างขวางแน่นอน การตัดสินใจของพรรคจึงต้องอยู่บนพื้นฐานของการยึดประโยชน์ของประเทศมากกว่าประโยชน์ของพรรค หรือยึดประโยชน์ประเทศเหนือประโยชน์พรรค”

ทั้งนี้ ก็เพื่ออย่างน้อย ประการที่....

1 เพื่อให้ประเทศสามารถหลุดพ้นจากความไม่แน่นอนในทางการเมืองได้

2 ให้ประเทศสามารถที่จะมีรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้

3 เพื่อให้พรรคสามารถขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจฐานราก อันได้แก่ เกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นชาวนา ชาวไร่มันสำปะหลัง ชาวสวนยางพารา ปาล์ม อ้อย ข้าวโพด รวมทั้งชาวประมง ให้สามารถมีหลักประกันในเรื่องรายได้ โดยการนำนโยบายประกันรายได้เกษตรกรของพรรคประชาธิปัตย์ให้ไปสู่การปฏิบัติที่ปรากฏผลเป็นรูปธรรมต่อไปได้

4 เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยเร็ว ซึ่งอีกนัยหนึ่ง ก็คือการหยุดอำนาจ หรือการ “ปิดสวิตช์ คสช.” เพราะว่า คสช. จะหมดอำนาจในทันทีที่รัฐบาลใหม่ได้เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ หรือเข้าปฏิบัติหน้าที่

5 เงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นนั้น โดยเฉพาะในประเด็นให้มีการปลดล็อกหมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำได้ยากยิ่ง และเกือบจะเรียกว่าทำไม่ได้เลย ให้สามารถแก้ไขได้ง่ายขึ้น ก็เสมือนเป็นการป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญในอนาคตได้

และด้วยเหตุนี้…พรรคจึงได้มีมติตอบรับคำเชิญเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ

และเป็นอีกครั้ง ที่พรรคประชาธิปัตย์ ยอมกลืนเลือด และกลืนอุดมการณ์ต่อต้านเผด็จการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง