ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีรายงานข่าวในต่างประเทศว่า บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ประกาศยุติการขายแป้งเด็กในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เนื่องจากมีข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวของบริษัทฯ ปนเปื้อนแร่ใยหิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้ยอดขายลดลงอย่างมากนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอเรียนว่า อย. ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ติดตามเฝ้าระวังความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์แป้งฝุ่นโรยตัวที่ขายในประเทศไทยมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552
ผลการตรวจวิเคราะห์ทุกรายการไม่พบการปนเปื้อนแร่ใยหิน และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้เก็บตัวอย่างอีกจำนวน 18 ตัวอย่าง (แป้งจอห์นสัน 4 ตัวอย่าง) ส่งตรวจวิเคราะห์ ก็ไม่พบแร่ใยหินเช่นกัน รวมถึงมีมาตรการเฝ้าระวังสถานที่ผลิตและนำเข้าผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้อย่างเข้มงวด ขอให้ผู้บริโภคไม่ต้องวิตกกังวล
ทั้งนี้ แป้งฝุ่นโรยตัวมีส่วนประกอบหลัก คือ ทัลคัม (talcum) ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่พบได้ตามธรรมชาติ ช่วยดูดซับความชื้น ให้ความรู้สึกสบาย นุ่มลื่นผิว มีการใช้มาเป็นเวลานาน ปัจจุบันทัลคัมยังคงเป็นสารที่ปลอดภัย สามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมในเรื่องสำอางได้ โดยทัลคัมที่นำมาใช้ในเครื่องสำอางต้องมีความบริสุทธิ์สูง ไม่มีการปนเปื้อนของแร่ใยหินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในคน
นอกจากนี้ สหภาพยุโรปอาเซียนรวมถึงประเทศไทยได้ประกาศให้แร่ใยหินเป็นวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง หากเครื่องสำอางใดตรวจพบแร่ใยหินจะถือว่าเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้รับจ้างผลิตเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รองเลขาธิการฯ กล่าวในที่สุด
อย่างไรก็ตาม บริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน หรือ J&J ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เพิ่งประกาศยุติการผลิตแป้งเด็กรุ่นที่มีปัญหาไปเมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยนิตยสาร TIME สื่อเก่าแก่ของสหรัฐฯ รายงานว่า แป้งเด็กของ J&J ประสบปัญหายอดขายตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 เพราะผู้ใช้ผลิตภัณฑ์หลายรายยื่นฟ้องศาลเพื่อเอาผิดบริษัท ในข้อหา 'ปกปิดข้อเท็จจริง' เรื่องพบสารปนเปื้อนในแป้งเด็ก
ส่วนแป้งเด็กรุ่นสุดท้ายก่อนบริษัทจะประกาศยุติการผลิตยังมีจำหน่ายตามร้านค้าและกลุ่มตัวแทนจำหน่ายของ J&J ในสหรัฐฯ และแคนาดาตามปกติต่อไปจนกว่าสินค้าจะหมด แต่หลังจากนั้นจะไม่มีการผลิตแป้งเด็กรุ่นที่มีทัลคัมเป็นส่วนผสมอีกต่อไป แม้ว่าสินค้าดังกล่าวจะผลิตและจำหน่ายมายาวนานตั้งแต่ปี 1890 หรือ พ.ศ.2433
ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่สหรัฐฯ และแคนาดาเรียกคืนแป้งเด็กคืนมาก่อนแล้ว เมื่อเดือน ต.ค. 2562 โดยบริษัทเรียกคืนแป้งเด็กจำนวน 33,000 ขวดที่ขายในสหรัฐฯ หลังจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐฯ ตรวจพบว่าแป้งเด็กล็อตสินค้า #22318RB ที่ขายออนไลน์ ปนเปื้อนแร่ใยหิน (asbestos) ซึ่งเป็นทั้งสารก่อมะเร็งและตัวการที่ทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มปอด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: