ก่อนที่รัฐสภาจะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจากพรรคฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านและประชาชน ทั้งหมด 7 ฉบับในวันที่ 17-18 พ.ย. 2563 นี้
พ.ต.อ.ทวี สอดส่องเลขาธิการพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ Tawee Sodsong - พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ในหัวข้อ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของ iLaw: เสนอยกเลิก “แผนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ” เนื้อหาระบุว่า
ภาคประชาชนนำโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw เสนอร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐสภามีวาระการพิจารณาในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2563 นี้
สรุปที่ iLaw เสนอแก้ไขตามเหตุผลมี 10 ประเด็นในรัฐธรรมนูญปี 2560 เสนอให้ยกเลิกทันที และเสนอให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ส.ส.ร.ผู้สมัครจะลงสมัครเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่มได้
การยกเลิกทั้ง 10 ประเด็นของรัฐธรรมนูญปี 2560 นั้น หากพิจารณาเนื้อหาทีถูกยกเลิกและแก้ไขถ้าทำสำเร็จ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเป็นประชาธิปไตยบางส่วนจะกลับคืนมาเท่านั้น แต่สิทธิเสรีภาพยังด้อยกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งการแก้ไขครั้งนี้เพื่อมุ่งหวังขจัดความไม่เสมอภาคและไม่เป็นประชาธิปไตยที่เร่งด่วนใช้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพื่อเปลี่ยนผ่าน ให้รัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นใหม่โดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงทั้งหมดที่ถือว่าเป็น "ฉบับของประชาชน" อย่างแท้จริงประกาศใช้บังคับแทน
ตัวอย่างในประเด็น แผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ ความเห็นและมุมมองส่วนตัว พบว่ามีบัญญัติเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เห็นว่า เบื้องหลังของแผนการปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อสืบทอดอำนาจและผลประโยชน์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ หน.คสช สืบต่อ ดังปรากฏในคำถามพ่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อ 7 สิงหาคม 2559 ว่า
“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
กรณีการทำประชามติที่ผ่านมา นอกจากประชาชนผู้ใช้สิทธิไม่มีเสรีภาพ สภาพสังคมไม่เป็นประชาธิปไตยแล้ว คำถามพวงที่ตั้งขึ้นทำให้เข้าใจยาก มีความคุมเคลือและน่าเคลือบแคลง ไม่ระบุให้ชัดว่า ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งจำนวน 250 คน จาก หน.คสช เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วย ซึ่งเชื่อว่าประชาชนผู้ใช้สิทธิลงประชามติส่วนใหญ่จะสับสนและไม่ทราบ
กรณีที่ ส.ว.ซึ่งมาจากการแต่งตั้งจำนวน 250 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นอดีตข้าราชการผู้เกษียณอายุจาก กองทัพ ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน และเครือข่ายของ คสช ถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน มีอำนาจพิเศษกำกับการปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ เท่ากับเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของประเทศ ยังมีอำนาจพิเศษในกรณีการบัญญัติกฏหมาย ที่เสนอร่างกฎหมายถูกเสนอโดย ส.ส.หรือประชาชน(ไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ) เสนอก็ตาม หาก ครม. เห็นว่าร่างกฏหมายใดเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศให้เป็นการพิจารณาร่วมกันในที่ประชุมของ’รัฐสภา’จะมีเสียง ส.ว. 250 คนเข้าพิจารณาด้วย และ ยังมีอำนาจพิเศษในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ด้วย ทำให้ คสช สืบทอดมรดกได้ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร
เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2563 ครม. ได้รายงานความคืบหน้าตามแผนปฏิรูปประเทศฯ ต่อสภาผู้แทนราษฎร พบว่าไม่คืบหน้า ปัญหาสำคัญของประชาชนไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใดและกลับเพิ่งมากขึ้นทั้งปัญหาด้านการเมือง ที่มีความขัดแย้งแตกแยกในสังคมอย่างกว้างขวาง ปัญหาด้านการบริหารราชการแผ่นดินที่การทุจริตคอรัปชันในวงราชการแพร่ระบาดและการให้สัมปทานผูกขาดกลุ่มนายทุนหรือพวกพ้องจนองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International - TI) เผยแพร่ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชันในภาครัฐทั่วโลก (Corruption Perception Index - CPI) ประจำปี 2019/2562 นับเป็นครั้งที่ 25 ผลปรากฏว่าประเทศไทยได้ 36 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ซึ่งอันดับที่ปรับตัวลดลงเป็นลำดับที่ 101 จากอันดับ 99 เมื่อปีที่ 2561 ลำดับของประเทศไทยลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559
ปัญหาด้านกฏหมายและกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้รับการแก้ไขยังเป็นอุปสรรคและไร้มาตรฐานสถานภาพด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสายตาชาวโลกย่ำแย่ลง
ปัญหาด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม ทีปัญหาถดถอยลง เพิ่มปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรี ความยุติธรรมและเชิงพื้นที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นชุมชน อย่างเช่นที่ผ่านมา
กลุ่มผู้ได้ประโยชน์จากแผนการปฏิรูป ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มี ‘ความมั่นคง มั่งคั่ง ยังยืน ‘ จะมีเฉพาะกลุ่มผู้มีอำนาจ คสช กลุ่มพวกพ้องผู้มีอำนาจ องค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ระบบราชการที่ขยายสร้างรัฐราชการรวมศูนย์ ที่เป็นคนกลุ่มน้อยของประเทศ
ดังที่กล่าวข้างต้น ส่วนตัวจึงเห็นด้วยกับการยกเลิกแผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ (แต่อาจไปจัดทำเป็นกฏหมายระดับ พ.ร.บ.แทน) ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ iLaw