สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NSA) ยื่นเสนอต่อรัฐบาลให้พิจารณายกเลิกโครงการดักฟังและเก็บข้อมูลการสนทนาทางโทรศัพท์บ้านและข้อความทางโทรศัพท์มือถือของพลเรือนและผู้พำนักอาศัยในสหรัฐฯ ซึ่งถูกอนุมัติในสมัยอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช โดยให้เหตุผลว่า ข้อมูลด้านความมั่นคงที่ได้จากโครงการนี้อาจ 'ไม่คุ้ม' กับค่าใช้จ่ายด้านการเก็บรวบรวมข้อมูลและกระบวนการดำเนินการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
วอลล์สตรีตเจอร์นัล (WSJ) เป็นสื่อแรกที่รายงานข้อมูลดังกล่าว โดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลชุดปัจจุบัน พร้อมระบุว่า โครงการดักฟังและเก็บข้อมูลพลเรือน จะสิ้นสุดวาระการบังคับใช้ในเดือน ธ.ค.ปีนี้ หากรัฐบาลสหรัฐฯ พิจารณาทบทวนโครงการแล้วพบว่าไม่คุ้มค่าจริง อาจจะไม่อนุมัติขยายเวลาดำเนินการโครงการดังกล่าว ซึ่งจะมีผลให้โครงการสิ้นสุดไปเอง
ข้อเสนอแนะดังกล่าวของเอ็นเอสเอ สวนทางกับท่าทีก่อนหน้านี้ที่เคยยืนยันว่าโครงการดักฟังและเก็บข้อมูลการสนทนาของพลเรือนนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งยังสั่งตั้งข้อหากบฏแก่ 'เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน' อดีตเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงที่เคยทำงานให้กับเอ็นเอสเอ ผู้ออกมาเปิดโปงโครงการดังกล่าวเมื่อปี 2556
โครงการดักฟังและเก็บข้อมูลการสนทนาของเอ็นเอสเอ ถูกสโนว์เดนประณามว่าเป็นการสอดแนมข้อมูลพลเรือนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ทั้งยังเป็นการใช้อำนาจรัฐในทางมิชอบ เนื่องจากการอนุมัติโครงการเป็นการใช้อำนาจพิเศษของประธานาธิบดี ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของสภาคองเกรส และการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวแก่ผู้สื่อข่าวของเดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ ทำให้สโนว์เดนถูกตั้งข้อหากบฏและเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ
เว็บไซต์ Mother Board รายงานว่าข้อหาต่างๆ ที่มีต่อ 'สโนว์เดน' ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จนถึงปัจจุบัน ขณะที่สโนว์เดนเดินทางออกนอกประเทศก่อนที่เขาจะเปิดเผยตัวตนในฐานะผู้เปิดโปงโครงการสอดแนม โดยเขาเดินทางออกจากสหรัฐฯ ไปแวะพักที่ฮ่องกง ก่อนจะเดินทางต่อไปรัสเซีย และเมื่อถึงที่นั่น กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ประกาศให้หนังสือเดินทางของเขาเป็นโมฆะ เขาจึงไม่สามารถเดินทางต่อไปยังประเทศอื่นๆ ได้อีก
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สโนว์เดนได้ให้สัมภาษณ์กับมาเธอร์บอร์ดว่า ผลพวงจากการเปิดโปงโครงการสอดแนมครั้งนั้น เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเขา ทั้งยังส่งผลให้เขาไม่สามารถใช้ชีวิตแบบเดิมได้ แต่ยังยืนยันเหมือนเดิมว่า ประชาชนควรมีสิทธิได้รู้ว่ารัฐบาลแทรกซึมเพื่อเก็บข้อมูลในชีวิตประจำวันของพวกเขาอย่างไร และการที่เขาได้มาลงเอยที่รัสเซียก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้วางแผนเอาไว้ แต่ก็อาจจะดีกว่าการถูกส่งตัวไปยังเรือนจำสหรัฐฯ ที่อ่าวกวนตานาโมในคิวบา ซึ่งเคยถูกแฉว่ามีการซ้อมทรมานนักโทษมาก่อน
ทั้งนี้ โครงการสอดแนมพลเรือนเริ่มขึ้นในสมัยอดีต ปธน. จอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งเป็นการอนุมัติโครงการโดยอาศัยจังหวะที่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐยังคงตื่นตระหนกกับภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้าย หลังเกิดเหตุวินาศกรรม 9/11 เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2544 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 3,000 ราย และสหรัฐฯ ได้ประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้าย นำกำลังบุกอิรักและอัฟกานิสถาน ส่วนพลเรือนอเมริกันที่มีญาติหรือครอบครัวสืบเชื้อสายจากประเทศมุสลิม รวมถึงผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่ได้รับสถานะผู้พำนักอาศัยถาวรในสหรัฐฯ ก็ถูกติดตามสอดแนมเช่นกัน
เมื่อสโนว์เดนเปิดโปงโครงการสอดแนมพลเรือนสู่สาธารณชนในสมัยของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา เขาถูกโจมตีอย่างหนักจากเจ้าหน้าที่และผู้บริหารของเอ็นเอสเอ ซึ่งต่างก็ออกมาปกป้องโครงการสอดแนมดังกล่าวว่าเป็นโครงการที่จำเป็นอย่างยิ่ง พร้อมประณามสโนว์เดนว่าไม่รักชาติ แต่รัฐบาลโอบามาก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง และผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายเพิ่มเติม เพื่อให้เจ้าหน้าที่เอ็นเอสเอต้องขออนุญาตจากศาลทุกครั้งในกรณีที่ต้องการจะดักฟังหรือสอดแนมพลเรือนที่เข้าข่ายผู้ต้องสงสัยว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง
การออกกฎหมายเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลในสมัยของโอบามา เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โครงการสอดแนมของเอ็นเอสเอมีต้นทุนเพิ่มขึ้นกว่าจะได้มาซึ่งข้อมูลที่ต้องการ แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าข้อมูลที่ได้มานั้นมีจำนวนมาก จึงไม่แน่ใจว่าการประมวลผลเพื่อให้ได้มาซึ่ง 'ข่าวกรอง' มีประสิทธิภาพในการรักษาความมั่นคงได้จริงหรือไม่
แหล่งข่าวที่เปิดเผยกับ WSJ ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะยุติโครงการสอดแนมพลเรือนของเอ็นเอสเอ หลังจากต่ออายุโครงการมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2558 แต่รัฐบาลนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน อาจจะพิจารณาแนวทางอื่นๆ เพื่อดำเนินการเรื่องข่าวกรองต่อไป และยังมุ่งมั่นส่งเสริมมาตรการรักษาความมั่นคงแห่งชาติเช่นเดิม
ที่มา: Mashable/ Mother Board/ WSJ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: