วันที่ 23 มี.ค. 2566 ที่พรรคเพื่อไทย สมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงกรณีกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ จะยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เอื้อประโยชน์ให้เอกชนกรณีเหมืองทองอัครา
กรณีดังกล่าว จะเป็นชนักติดหลังมาจนถึงพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ซึ่ง สมศักดิ์ ขอให้ สุริยะ ตอบชี้แจงในประเด็นนี้ เนื่องจากเป็นเจ้ากระทรวง
สุริยะ กล่าวว่า เรื่องนี้ได้ชี้แจงในการอภิปรายหลายครั้งไปแล้วว่า รัฐบาลที่ผ่านมา พยายามจะดูแลในช่วงต้น สิ่งที่ห่วงใยคือพยายามดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขณะนั้น มีคำสั่งยุติการทำเหมืองชั่วคราว หลังจากนั้นก็ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ปรากฏว่า เหตุที่ประชาชนได้รับผลกระทบนั้น มีการยืนยันออกมาว่า ไม่ได้เป็นไปตามจริง จึงมีการเจรจาและคุยกับ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ซึ่งเรื่องทั้งหมดก็สามารถยุติได้ โดยทางรัฐบาลเองไม่ถูกฟ้องร้อง จากเดิมที่มีการฟ้องร้องเป็นหมื่นล้านบาท ซึ่งมีการตกลงกันเรียบร้อย นับว่าเป็นประโยชน์ที่ประเทศไทยไม่ต้องเสียค่าชดเชย เรื่องนี้จบแล้ว ยืนยันว่าไม่ได้ประโยชน์อะไรจากข้อตกลง แต่ทำไปในนามของประเทศชาติ
นพ.ชลน่าน กล่าวเพิ่มเติม ในฐานะฝ่ายค้านผู้ตรวจสอบว่า คำถามดังกล่าวถือเป็นเรื่องปลายเหตุ รัฐมนตรีทั้งสองต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ นั่นคือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ตาม มาตรา 44 ที่ไม่ชอบ ซึ่งให้ดำเนินการตามกฏหมายโดยไม่ผ่านรัฐสภา จนขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ นั่นคือต้นเหตุสำคัญ ดังนั้น หากจะยื่นตรวจสอบ ต้นเหตุสำคัญคือ คสช. ไม่ใช่อดีตรัฐมนตรีที่เป็นการรับภาระที่เขาทำต่อ ดังนั้น จึงไม่ได้เป็นห่วงอะไร สิ่งที่ตรวจสอบก็จะเป็นตัวช่วยให้อดีตรัฐมนตรีพิสูจน์ตัวเองได้ด้วย