ไม่พบผลการค้นหา
ศาลให้ประกันหลังสั่งฝากขังชายวัย 47 ปี ไปแล้ว 24 วัน โดยชายคนดังกล่าวถูกจับข้อหา 112 ขณะร่วมชุมนุมม็อบตั๋วช้าง หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า วันนี้ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว อนุชา (สงวนนามสกุล) ผู้ถูกคุมขังจากคดีหมิ่นกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกณีการชูป้ายข้อความในการชุมนุมตั๋วช้าง หรือม็อบตำรวจล้มช้าง เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 โดยยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด 150,000 บาท ล่าสุดศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยจะปล่อยตัวที่เรือนจำเย็นวันนี้ ทั้งนี้เขาถูกคุมขังมาแล้วทั้งหมด 24 วัน

ศูนย์ทนายฯ รายงานด้วยว่า ตามเอกสารของเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 23 ก.พ. บริเวณด้่านหน้าสำนักงานตพรวจแห่งชาติ อนุชาได้เดินชูแผ่นป้ายไวนิลขนาดใหญ่โดยตรงกลางป้ายมีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 บนธงชาติเยอรมนี พร้อมข้อความภาษาต่างประเทศ และมีข้อความภาษาไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่าข้อความเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนของ สน.ปทุมวัน ได้ติดตามดูอนุชา โดยยังไม่จับกุมในทันที

แต่ภายหลังอนุชาชูป้ายอยู่ราว 10 นาที ก่อนเดินไปที่ริมกำแพงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการถอดเปลี่ยนเสื้อและเก็บแผ่นป้ายไวนิลดังกล่าวไว้ในกระเป๋า และเดินออกจากพื้นที่ชุมนุม ตำรวจจึงได้ติดตามไปทันที กระทั่งมาถึงแยกราชประสงค์ หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าแสดงตัวเป็นตำรวจ ขอทำการตรวจค้นตัว ซึ่งอนุชาได้ยินยอมให้ทำการตรวจค้น เจ้าหน้าที่ได้พบป้ายไวนิลดังกล่าว ท่อพีวีซี ไม้เซลฟี่ อยู่ในกระเป๋าสะพาย เจ้าหน้าที่จึงทำการจับกุมอนุชา พร้อมของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ในเวลาประมาณ 19.25 น.

บันทึกจับกุมระบุเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมทั้งหมด 14 นาย สังกัดกองบังคับการสืบสวนตำรวจนครบาล 6 และฝ่ายสืบสวน สน.ปทุมวัน

พนักงานสอบสวนสน.ปทุมวัน ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่ออนุชาทั้งหมด 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) โดยการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนไม่ได้มีทนายความอยู่ร่วมด้วยแต่อย่างใด อนุชาได้ให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ก.พ. หลังควบคุมตัวไว้ที่ สน.ปทุมวัน 1 คืน พนักงานสอบสวนได้นำตัวอนุชาไปขออำนาจศาลอาญากรุงเทพใต้ในการฝากขัง โดยระบุต่อศาลว่ายังต้องทำการสอบพยานเพิ่มเติมอีก 5 ปาก รอผลตรวจประวัติอาชญากร และยังได้คัดค้านการประกันตัวอนุชา อ้างเหตุว่าคดีนี้มีอัตราโทษสูง และเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี

จากนั้นศาลอาญากรุงเทพใต้ได้อนุญาตให้ฝากขังอนุชาระหว่างสอบสวนเป็นระยะเวลา 12 วัน โดยระบุว่าเป็นคดีร้ายแรงจึงอนุญาตตามคำขอของพนักงานสอบสวน ในวันดังกล่าว ผู้ต้องหายังไม่ได้มีการยื่นขอประกันตัว ทำให้เขาถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่นั้นมา

อีกทั้งในวันที่ 9 มี.ค. ร.ต.ท.พงศกร ข้องสาย รองสารวัตรสอบสวนสน.ปทุมวัน ยังได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ต่ออนุชาเพิ่มเติมอีกข้อหาหนึ่งภายในเรือนจำ โดยได้ประสานงานทนายความเข้าร่วมการสอบสวนด้วย

ตำรวจได้กล่าวหาเพิ่มเติมว่าอนุชาได้ร่วมการชุมนุมกีดขวางการจราจร เป็นเหตุให้ประชาชนไม่สามารถสัญจรไปมาได้ และยังปิดบังใบหน้า โดยใช้ผ้าปิดหน้าและใส่หมวก เพื่อไม่ให้บุคคลทั่วไปเห็นใบหน้า และยังมีการเตรียมเสื้อผ้ามาเปลี่ยนทันที ทำให้เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เพิ่มเติมอีก