24 มีนาคม องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็น 'วันวัณโรคสากล' อย. แนะวัณโรครักษาหายได้ หากปฏิบัติตามแพทย์สั่งและกินยาครบแผนการรักษา ห้ามหยุดยาเอง เพราะจะทำให้เกิดเชื้อดื้อยา พร้อมติดตามความปลอดภัยจากการใช้ยาต้านวัณโรค เพื่อจัดการความเสี่ยงอย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกจัดให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศของโลกที่มีภาระวัณโรค วัณโรคที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี และวัณโรคดื้อยาหลายขนานสูง
องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ประเทศไทยมีอัตรายการป่วยวัณโรครายใหม่ 111,000 รายต่อปี เสียชีวิตกว่า 12,000 รายต่อปี ส่วนการตรวจพบผู้ป่วยนั้นมีราว 70% ของการคาดการณ์ผู้ป่วยทั้งหมด
อย่างไรก็ดี การควบคุมวัณโรคของไทยมีพัฒนาการอยู่พอสมควร และตั้งเป้าให้ยุติปัญหาวัณโรคให้ได้ในปี 2578
ขณะที่สถิติระดับโลก ปี 2565 คาดการณ์ว่ามีผู้ป่วยวัณโรคราว 10.6 ล้านคนเสียชีวิต จำนวน 1.3 ล้านคน และประชากรทั่วโลก 1 ใน 4 ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง (LTBI)
นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า สหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 24 มีนาคมของทุกปี เป็นวัน 'วัณโรคโลกสากล' โดยธีมในปี 2567 คือ “Yes! We can end TB” ย้ำเตือนให้ประชากรทุกชาติทั่วโลกตระหนักว่าวัณโรคยังคงระบาดทั่วโลก ควรร่วมมือกันควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนเล็งเห็นและตระหนักถึงภัยร้ายจากวัณโรค เพื่อกำจัดวัณโรคให้สิ้นไป มุ่งสู่เป้าหมายตามยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค ในปี 2578
นพ.วิทิตระบุด้วยว่า ปัจจุบันพบการดื้อต่อยาหลักที่ใช้ในการรักษา จึงมีการกำหนดให้ยาที่ใช้ในการรักษาวัณโรคไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงยา ทันต่อการรักษา และกำหนดเงื่อนไขในการสั่งจ่ายให้เกิดความสมเหตุสมผล อย่างไรก็ตามยาต้านวัณโรคในบางรายการอาจพบอาการไม่พึงประสงค์ชนิดร้ายแรงหรือต้องติดตามผลทางห้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง จึงขอแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รับประทานยาต้านวัณโรคต่อเนื่องจนครบแผนการรักษา ห้ามหยุดรับประทานยาเอง เนื่องจากจะทำให้เชื้อวัณโรคดื้อยา
ทั้งนี้ สำนักงาน อย.ร่วมกับกรมควบคุมโรค มีการติดตามประสิทธิภาพและความปลอดภัยในผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านวัณโรคทุกราย เพื่อให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรควัณโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจัดการความเสี่ยงที่อาจพบจากการใช้ยาได้อย่างทันท่วงที
ส่วนวิธีในการดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นด้วยการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด เลือกรับประทานอาหารหลากหลายให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ งดการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด