กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุอีกว่า บลิงเคนเน้นย้ำถึงความจำเป็นทางการทูต และการรักษา "ช่องทางการสื่อสารแบบเปิด" กับทางการจีน ทั้งนี้ การเดินทางเยือนจีนของบลิงเคนเป็นการเดินทางครั้งแรก ของนักการทูตระดับสูงจากสหรัฐฯ ไปยังประเทศจีนในรอบเกือบ 5 ปี โดยกำหนดการเยือนจีนของบลิงเคนเดิมเมื่อเดือน ก.พ. ถูกยกเลิกลง หลังจากเกิดกรณีบอลลูนสอดแนมของจีนต้องสงสัยบินผ่านน่านฟ้าของสหรัฐฯ
ทางการสหรัฐฯ ระบุว่า เป้าหมายหลักของการเจรจาในกรุงปักกิ่งของบลิงเคนครั้งนี้ คือการรักษาความสมดุลของสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่มีอยู่อย่างมากและยาวนาน
สื่อของรัฐบาลจีนรายงานว่า ฉินกัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวกับบลิงเคนว่าทางการจีนมุ่งมั่นที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคง คาดการณ์ได้ และสร้างสรรค์กับสหรัฐฯ ในอีกทางหนึ่ง ทางการสหรัฐฯ กล่าวว่าฉินตกลงที่จะเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ดีซี เพื่อการเจรจาระหว่างทั้งสองชาติเพิ่มเติม
จากรายงานของสื่อรัฐบาลจีน ในการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฉินกล่าวว่าประเด็นไต้หวันเป็น "ความเสี่ยงที่ชัดเจนที่สุด" สำหรับความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ และอธิบายว่าปัญหาไต้หวันเป็นหนึ่งใน "ผลประโยชน์หลักของจีน" ทั้งนี้ จีนมองว่าไต้หวันที่เป็นเกาะปกครองตนเอง เป็นเพียงมณฑลที่แยกตัวออกไป ซึ่งสุดท้ายจะต้องตกมาอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ในทางตรงกันข้าม ทางการไต้หวันมองว่าพวกเขาเองแตกต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ ด้วยรัฐธรรมนูญและผู้นำของตัวเอง ในขณะที่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวเมื่อปีที่แล้วว่า สหรัฐฯ จะปกป้องไต้หวันในกรณีที่ถูกโจมตีจากจีน ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ทางการจีนได้ออกมาประณาม
ฉินให้การต้อนรับบลิงเคนในเช้าวันอาทิตย์ (18 มิ.ย.) ที่ อาคารรัฐอาคันตุกะเตี้ยวยู่ไท่ ซึ่งเป็นที่สถานที่พักหรูหราที่มักจะถูกใช้เป็นสถานที่รับรองในการเดินทางเยือนจีนของบุคคลสำคัญ ทั้งนี้ สองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจับมือกันขณะยืนอยู่หน้าธง จากนั้นพวกเขาได้นั่งลงกับคณะผู้แทนที่โต๊ะยาวเจรจาเพื่อเริ่มการประชุม
ทั้งนี้ การทักทายเป็นไปอย่างเป็นกันเอง เป็นการเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์อันเย็นยะเยือกที่พัฒนาขึ้นระหว่างสองมหาอำนาจในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ทางการสหรัฐฯ ลดความคาดหวังสำหรับการเดินทางครั้งนี้ลง และทั้งสองฝ่ายได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า พวกเขาไม่คาดหวังความก้าวหน้าครั้งสำคัญใดๆ ในความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติ
สงครามในยูเครน ข้อพิพาททางการค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ขั้นสูง การแพร่ระบาดของยาเฟนทานิลในสหรัฐฯ และการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของจีน ล้วนเป็นหัวข้อที่สหรัฐฯ คาดหวังให้มีการหารือกับทางจีน ในขณะที่เจ้าหน้าที่จีนแสดงปฏิกิริยาอย่างเยือกเย็นต่อการเยือนของบลิงเคน พร้อมกันกับการตั้งคำถามว่าสหรัฐฯ มีความจริงใจในความพยายามแก้ไขความสัมพันธ์หรือไม่
ยังไม่ชัดเจนว่าบลิงเคนจะเข้าพบกับ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนหรือไม่ ทั้งนี้ บลิงเคนเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เดินทางเยือนจีน นับตั้งแต่ โจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือน ม.ค. 2564 ทั้งนี้ บลิงเคนได้เข้าพบกับ หวางอี้ นักการทูตระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในห้องปิดของอาคารรัฐอาคันตุกะเตี้ยวยู่ไท่ ในวันนี้ (19 มิ.ย.) ซึ่งนับเป็นการหารือครั้งสำคัญของการเดินทางเยือนครั้งนี้
“หากเราต้องการทำให้แน่ใจว่า การแข่งขันที่เรามีกับจีนจะไม่เปลี่ยนเป็นความขัดแย้ง เช่นเดียวกับที่เราทำ สิ่งที่คุณต้องเริ่มต้นลงมือทำคือการสื่อสาร” บลิงเคนกล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันศุกร์ (16 มิ.ย.) ก่อนที่ในเวลาต่อมา บลิงเคนจะได้กล่าวว่าเขาหวังว่าจะได้พบประธานาธิบดีสีในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ก่อนหน้านี้ การพบกันระหว่างประธานาธิบดีไบเดนและสี ที่บาหลีในเดือน พ.ย. ช่วยคลายความหวาดกลัวว่าจะเกิดสงครามเย็นครั้งใหม่ แต่เนื่องจากเหตุการณ์บอลลูนที่เกิดขึ้น มันได้ส่งผลให้การสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองชาติเกิดสะดุดหยุดลง
ที่มา: