1. ระบอบประชาธิปไตยในระบบผู้แทน (Representative democracy) ไม่ว่าจะมีระบบรัฐบาลแบบประธานาธิบดี หรือระบบรัฐสภาต่างก็ยึดถือจำนวนที่นั่งของ "ตัวแทน" ที่ได้รับเลือกเป็นสำคัญ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาเห็นชอบบุคคลที่จะเข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาล หาได้มีการอ้างถึง Popular Vote แต่อย่างใด การที่มีบางคนอ้างอิงว่าประเทศสหรัฐอเมริกามีการอ้างถึง Popular vote เพื่อการพิจารณาเห็นชอบบุคคลที่จะเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในกรณีล่าสุดระหว่าง Donald Trump กับ Hillary Clinton ก็เป็นการอ้างที่คลาดเคลื่อน เพราะท้ายที่สุดแล้ว กรณีนี้ก็เป็นการถือเอาจำนวนของผู้แทนในคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral Vote) มิใช้ Popular vote มาคำนึงเป็นหลัก จึงส่งผลให้ Trump ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตราบจนปัจจุบัน
2. การอ้าง Popular vote โดยอ้างถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยึดโยงกับระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ว่าเสียงทุกเสียงมีค่าต้องถูกนำมาคำนวณ จะไม่มีการโยนเสียงทิ้งน้ำนั้น เป็นการกล่าวอ้างที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานของระบอบการปกครองในระบบผู้แทนที่มีการบัญญัติรับรองไว้ในหมวด 1 ว่าด้วยบททั่วไป หมวด 7 ว่าด้วยรัฐสภา และหมวด 8 ว่าด้วยคณะรัฐมนตรี อันถือเป็นหลักการที่สำคัญในระดับรัฐธรรมนูญ กล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น การอ้างถึง Popular vote มิใช่การอ้างที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริง หากแต่เป็นแนวคิดที่ขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ (Fundamental principle of the Constitution) เสียด้วยซ้ำไป อนึ่ง คำอธิบายที่ว่ารัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ไม่โยนเสียงทิ้งน้ำหากจะกล่าวในทางวิชาการให้ถึงที่สุดก็มิได้เป็นความจริง เพราะยังคงมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญบางบทบัญญัติที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นการโยนเสียงของประชาชนทิ้งน้ำ อาทิ กรณี Vote no มีเสียงมากกว่าผู้ได้รับคะแนนสูงสุดในเขต เป็นต้น
3. การอ้างเพียงเฉพาะ Popular vote โดยไม่คำนึงถึงจำนวนที่นั่งของตัวแทนพรรคตนเองที่ได้รับเลือกมา แม้ว่าจะน้อยกว่าพรรคอื่นเพื่อสร้างความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น เป็นการขัดแย้งและทำลายหลักการทางด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างยิ่ง กล่าวคือ ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ (ทั้งประเทศที่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร) มี "ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ" หรือที่ถูกเรียกในภาษาทางการเมืองว่า "มรรยาททางการเมือง" ที่ปฏิบัติกันมา ที่จะต้องให้เกียรติพรรคการเมืองที่ได้จำนวนที่นั่งในสภามากที่สุดเป็นพรรคที่ดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลก่อน ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากเขาเองเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับความไว้วางในจากประชาชนมากที่สุดตามระบอบประชาธิปไตยระบบผู้แทน (ตามข้อ 1) ที่จะเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล เราจึงพึงต้องให้ความเคารพ หากพรรคดังกล่าวมิสามารถดำเนินการจัดตั้งได้จึงเป็นกรณีของพรรคการเมืองที่ได้จำนวนที่นั่งในสภาในลำดับรองลงมาดำเนินการต่อไป หาใช่มาป่าวประกาศจัดตั้งแข่งกับพรรคอันดับแรกอย่างไม่สนใจใยดีต่อเจตจำนงค์ของประชาชน (แม้ในทางปฏิบัติจะมีการคุยกันอยู่แล้ว แต่โดย "มรรยาท" มิควรอย่างยิ่งที่จะประกาศแสดงตน) อย่างไรก็ดี มีบางท่านอาจโต้แย้งว่ามรรยาททางการเมืองไม่มีกฎหมายรับรอง ซึ่งก็ถูกต้อง แต่พึงต้องเข้าใจด้วยว่า "มรรยาททางการเมือง" หรือ "ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ" (Constitutional convention) ถือเป็น "กฎเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญ" หรือ "Rule of the constitution" ประเภทหนึ่ง กล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แม้ว่ามรรยาททางการเมืองจะไม่เป็นกฎหมาย แต่มีสถานะทางรัฐธรรมนูญ (Constitutional status) ซึ่งตรงกันข้ามกับ Popular vote ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับและไม่มีสถานะทางรัฐธรรมนูญอีกด้วย ดังนั้น Popular vote จึงถือเป็น "สิ่งแปลกปลอมในระบอบรัฐธรรมนูญ" อันมิอาจอ้างอิงเพื่อสร้างความชอบธรรมใดๆ ได้เลย
หยุดอ้างถึง "สิ่งแปลกปลอม" อย่าง Popular vote ที่ไม่มีกฎหมายรองรับและไม่มีสถานะในทางรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างความชอบธรรมอันส่งผลให้สังคมสับสนและสร้างวิกฤติต่อหลักวิชาทางด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันทางการเมืองอีกเลยครับ
หมายเหตุ บทความชิ้นนี้ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ซ้ำข้อความจากสเตตัสเฟซบุ๊กของ ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย