ไม่พบผลการค้นหา
กอ.รมน.ชี้แจงบทบาทหน้าที่ และงบประมาณองค์กร ภารกิจไม่ซ้ำซ้อนเพราะงานความมั่นคงต้องบูรณาการกับหน่วยงานอื่น ยืนยันงบลับตรวจสอบได้ตามระเบียบราชการ

3 พ.ย. 2566เวลา 14.30 น. ณ ห้องประชุมอาคารพระตำหนักเพชรรัตน์ สวนรื่นฤดี กอ.รมน. (ส่วนกลาง) พล.อ.นพนันต์ ชั้นประดับ อดีตผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง กอ.รมน. พร้อมด้วย พล.ท. ดนัยวัฒนา รุ่งอุทัย อดีตรองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง กอ.รมน. และพล.ต.วินธัย สุวารี โฆษก กอ.รมน. ชี้แจงกรณีการเสนอร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติความมั่นคง พ.ศ.2551 และความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ภารกิจการจัดของ กอ.รมน.ที่คลาดเคลื่อนไป

โดย พล.ต.วินธัย สุวารี โฆษก กอ.รมน. ได้ย้ำถึงบทบาทของ กอ.รมน.ว่า เป็นส่วนราชการที่มีรูปแบบเฉพาะ ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ในการติดตาม ตรวจสอบ ประสานงานและประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรโดยเสนอแผนต่อคณะรัฐมนตรี เสริมการปฏิบัติหน่วยงานของรัฐ เสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ สร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ 

รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่กระทบต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของสังคม ตามมาตรา 7 

ส่วนอำนาจหน้าที่ตาม มาตรา 15 เช่นการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องได้รับมอบหมายโดยมติคณะรัฐมนตรี และไม่ได้มีภารกิจซ้ำซ้อนหน่วยงานใด  

ด้าน พล.อ.นพนันต์ฯ ได้กล่าวถึงจัดการองค์กรว่าเป็นไปตามระบบราชการ และเป็นสากล เพราะการแก้ปัญหาความมั่นคง จำเป็นต้องมีการอำนวยการร่วม และบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานอื่น ๆ หากจะยุบ กอ.รมน.นั้น ภารกิจดังกล่าว ๆ ก็จะต้องโอนกลับไปยัง สมช. ซึ่งก็จำเป็นจะต้องเพิ่มอัตรากำลังคนอีก และจะเป็นภาระงบประมาณของประเทศด้วย   

สำหรับกรณีที่มีการกล่าวถึงงบ กอ.รมน.เป็นงบลับ นั้น พล.ต.วินธัย ฯ ชี้แจงว่า ในงบประมาณ 7,000 กว่าล้านบาทของ กอ.รมน.นั้น เป็นงบประมาณในระบบงบประมาณปกติ ไม่ใช้งบลับ โดยส่วนใหญ่จะใช้ในภารกิจการแก้ปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้อยู่ประมาณ 6,000 กว่าล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นค่าใช้จ่ายตอบแทนในด้านกำลังพล รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ ของพลเรือน ตำรวจ และทหารจำนวน เกือบ 5,000 ล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายที่ถูกจัดไว้ในหมวดรายจ่ายงบลับของ กอ.รมน. นั้นอาจมีเพียงราว ๆ 10 ล้านบาทเท่านั้น โดยเงื่อนไขการใช้จ่ายยังคงต้องเป็นไปตามระเบียบทางราชการทุกประการ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระบบราชการ แต่ในระยะหลังงบในส่วนนี้จะไม่มีแล้ว  

พล.อ.นพนันต์ฯ อดีตผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง กอ.รมน. ยืนยันเพิ่มเติมว่า การใช้งบประมาณดังกล่าวของ กอ.รมน. ไม่มีอภิสิทธิ์ในการเลี่ยงการตรวจสอบใด ๆ มีการตรวจสอบ และถ่วงดุล และงบประาณดังกล่าวแต่เป็นงบที่บุคลากรได้รับตามสิทธิ เมื่อต้องไปปฏิบัติหน้าที่ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยอดเจ้าหน้าที่ราว 50,000 คน ซึ่งมีทั้งพลเรือน ตำรวจ และทหาร 

ส่วนการกล่าวหา กอ.รมน.เป็นรัฐซ้อนรัฐนั้น อดีตผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง กอ.รมน. ยืนยันว่า การจัดองค์กร กอ.รมน.นั้น ไม่ได้ซ้ำซ้อน แต่ผู้เสนอยังไม่ได้พิจารณาในมุมทางกฎหมาย ซึ่งการจัด กอ.รมน. จะเป็นระบบทหาร ผสมกับพลเรือน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ โดย กอ.รมน.ไม่ใช่ลักษณะรัฐซ้อนรัฐ และไม่ใช่หน่วยงานสูงสุดของประเทศ แต่เป็นหน่วยงานระดับปฏิบัติ การจัดหน่วยงานอยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการอำนวยการของ กพ. กพร. และต้องได้รับการตรวจสอบต่อรัฐสภา ศาล และองค์กรอิสระ เช่นเดียวกับส่วนราชการอื่น ๆ และไม่ได้ทำให้อำนาจทหาร อยู่เหนือพลเรือน เพราะหน่วยงานผู้มอบหมายงานในปัจจุบันคือ สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ซึ่งก็เป็นหน่วยงานระดับพลเรือน ขึ้นตรงนายกรัฐมนตรี รวมถึงมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาในฐานะ ผอ.รมน. ซึ่งเป็นฝ่ายพลเรือน  

พล.ต. วินธัย ฯ กล่าวถึงหากไม่มี กอ.รมน. ก็อาจจะไม่มีหน่วยงานหลักที่สามารถบังคับใช้ และดำเนินการรักษาความมั่นคงภายใน ทำให้ฝ่ายบริหารอาจขาดเครื่องมือสำคัญในการทำงานด้านความมั่นคง ที่จะต้องมาขับเคลื่อนและบูรณาการการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แก้ปัญหาต่าง ๆ ในสังคมยุคปัจจุบัน และอาจไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เนื่องจาก กอ.รมน.เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านความมั่นคงในหลายด้าน โดยเฉพาะกรณีการแก้ปัญหาของจังหวัดชายแดนใต้ ที่ กอ.รมน.เป็นหน่วยงานหลัก  ซึ่งหากยุบกลไกเครื่องมือการแก้ปัญหาไป แต่ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีอยู่ ก็อาจจะส่งผลกระทบอย่างแน่นอน