ไม่พบผลการค้นหา
ย้อนดูผลงานภาพยนตร์ของผู้กำกับชาวเกาหลีทั้ง 7 เรื่อง และปัจจัยที่ทำให้ Parasite ประสบความสำเร็จที่สุด

จากการที่ Parasite สร้างประวัติศาสตร์เป็นหนังไม่พูดภาษาอังกฤษเรื่องแรกที่คว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ทำให้เกิดปฏิกิริยามากมายตามมา ไม่ว่าจะการฉลองอย่างชื่นมื่นในวงการภาพยนตร์เกาหลีใต้, ผู้กำกับบองจุนโฮและทีมงานได้ร่วมรับประทานอาหารกับประธานาธิบดีมุนแจอินอย่างเป็นกันเอง, ส่วนฝั่ง โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ออกมาแขวะที่ออสการ์ให้รางวัลกับหนังเรื่องนี้ทั้งที่สหรัฐอเมริกามีความขัดแย้งทางการค้ากับเกาหลีใต้ รวมไปถึงวิชาธุรกิจภาพยนตร์ที่ต้องกลับมาศึกษากลยุทธ์ทางการตลาดของหนังเกาหลีอีกครั้ง หลังจากที่เคยเกิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 00 (ยุคที่ My Sassy Girl และ Old Boy ดังระเบิด)

แม้ชัยชนะของ Parasite จะเกี่ยวโยงกับหลากหลายมิติ แต่ในบทความจะขอมุ่งเน้นไปถึงบรรดาภาพยนตร์ที่บองจุนโฮเคยสร้างสรรค์มา เขาทำหนังยาวมาทั้งหมด 7 เรื่อง และไม่ต้องใช้การสังเกตสังกามากนัก ก็จะพบว่าหนังของเขาแทบทุกเรื่องล้วนมีจุดร่วมคล้ายกัน คือว่าด้วยเรื่อง ‘ชนชั้น’ และนำเสนอด้วยท่าที ‘อารมณ์ขันร้าย’ ซึ่งเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงให้เขาทำผลงานมาสเตอร์พีซอย่าง Parasite ในที่สุด

บองเปิดตัวด้วยหนังเรื่อง Barking Dogs Never Bite (2000) ที่ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้นัก เนื้อเรื่องว่าด้วยอาจารย์หนุ่มตกงานที่รำคาญเสียงเห่าหอนจากสุนัขของเพื่อนบ้าน ถึงขั้นตัดสินใจลักพาตัวเจ้าหมาน้อย ก่อนจะรู้ตัวว่าหมาที่เขาจับตัวไม่สามารถเห่าได้เพราะผ่าตัดคอมา! ขณะเดียวกันพระเอกก็ผูกมิตรอย่างงงๆ กับลูกจ้างสาวที่ทำงานจิปาถะในอพาร์ตเมนต์ที่ฝ่ายชายอาศัยอยู่

Barking Dogs Never Bite เป็นดั่งต้นทางของ ‘ลายเซ็น’ ที่ปรากฏในหนังเรื่องต่อๆ มาของบอง หนังนำเสนอว่าไม่ว่าจะชนชั้นกลางอย่างอาจารย์หรือชนชั้นล่างอย่างนางเอกก็ล้วนถูกกดทับจากชนชั้นที่อยู่สูงกว่า (พระเอกถูกเบื้องบนกดดันว่าต้องติดสินบนกับทางมหาวิทยาลัย ส่วนนางเอกถูกเจ้านายโขกสับด่าทอ) นอกจากนั้นตัวละครที่ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยซังกะตาย ก็ยังสะท้อนภาพความเฉื่อยของสังคมเกาหลีที่เพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจช่วงปลายยุค 90 ด้วย

บองโด่งดังเป็นพลุแตกจากผลงานเรื่องที่สอง Memories of Murder (2003) เล่าถึงตำรวจบ้านนอกที่เข้าไปพัวพันกับฆาตกรที่ฆ่าเหยื่อไม่หยุดหย่อน สร้างจากคดีฆาตกรรมต่อเนื่องฮวาซองที่เกิดขึ้นจริงในช่วงปี 1986-1991 แม้ภายนอกจะดูเป็นหนังทริลเลอร์ที่สร้างความระทึกขวัญแบบหนังฮอลลีวู้ดได้ แต่บองกลับนำเสนอแบบเรียบง่ายและไม่ได้เร้าอารมณ์มากนัก แถมยังใส่ฉากการทำงานที่ไม่ค่อยจะได้ความของพวกตำรวจเข้ามาอีก

แต่เหนืออื่นใดประเด็นสำคัญใน Memories of Murder คือกระบวนการสอบสวนที่ดำเนินไปอย่างกระท่อนกระแท่นเพราะเรื่องระเบียบและลำดับชั้นการทำงานของตำรวจ จนเหล่าตัวละครเหมือนอยู่ในนิยายของ ฟรันซ์ คาฟกา ที่มีฆาตกรต่อเนื่องเพิ่มเข้ามา หลายบทวิจารณ์มองว่าหนังยังสะท้อนบรรยากาศของประเทศในยุครัฐบาลเผด็จการทหารของชอนดูฮวาน ที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัวและไม่สามารถพึ่งพิงรัฐได้

ผู้กำกับบองยังคงเดินหน้าจิกกัดรัฐบาลอย่างต่อเนื่องใน The Host (2006) ที่เมื่อเกิดเหตุสัตว์ประหลาดจากแม่น้ำฮันทำร้ายประชาชน รัฐไม่สามารถให้ความช่วยเหลือใดๆ ได้ แถมยังพยายามปกปิดข้อมูลข่าวสารอีกด้วย ส่วนเรื่องชนชั้นก็ยังเข้มข้นเมื่อครอบครัวของตัวเอกเป็นพวกคนจน (แบบเดียวกับ Parasite) ที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจนต้องลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธบ้านๆ แบบลูกธนูกิ๊กก๊อก นอกจากนั้นบองยังวิพากษ์ถึงประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างชัดเจน หนังเปิดเผยว่ากองทัพสหรัฐเป็นสาเหตุของการกำเนิดตัวประหลาด ทั้งนี้หนังของบองเกี่ยวข้องกับอเมริกาแทบทุกเรื่อง อย่างเช่นผลตรวจดีเอ็นเอจากสหรัฐใน Memories of Murder หรือการที่ตัวละครใส่เครื่องประดับของอินเดียแดงในฉากไคลแม็กซ์ของ Parasite


ในเรื่อง Mother (2009) ตัวละครของบองเป็นชนชั้นล่างตามชนบทอีกครั้ง แม่หม้ายอาศัยอยู่กับลูกชายที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา และฝ่ายหลังถูกสงสัยว่าเป็นฆาตกร ดูเผินๆ อาจเป็นเรื่องความรักของแม่อันแสนยิ่งใหญ่จนทำได้ทุกอย่างเพื่อลูก แต่ในอีกทางหนึ่งหนังชี้ให้เห็นว่าแม่ลูกคู่นี้ถูกกดดันจากสังคมและกระบวนการทางยุติธรรม จนทำให้ผู้เป็นแม่ต้องเลือกเส้นทางอันดำมืด เป็นอีกครั้งที่ประชาชนในหนังของบองไม่สามารถพึ่งพาทางการหรือรัฐได้

ช่วงทศวรรษ 10 แม้บองจะไปทำหนังในระดับนานาชาติ แต่ ‘ตัวตน’ ของเขายังคงชัดเจน ทั้ง Snowpiercer (2013) ที่สร้างจากกราฟิกโนเวลฝรั่งเศส Le Transperceneige อันเป็นหนังที่พูดเรื่องชนชั้นอย่างชัดเจนที่สุดเพราะมันว่าด้วยรถไฟที่ชนชั้นสูงอยู่หัวขบวนอย่างหรูหรา ส่วนชนชั้นล่างต้องอยู่ท้ายขบวนแบบอนาถา ส่วน Okja (2017) ที่เล่าถึงมิตรภาพของเด็กสาวกับหมูยักษ์ แท้จริงคือการปอกเปลือกถึงกลไลของอุตสาหกรรมปศุสัตว์และวงการบันเทิงที่มีลำดับชั้นอันซับซ้อนและโหดร้ายไม่แพ้กัน 

สำหรับ Parasite องค์ประกอบเรื่องชนชั้นและความตลกร้ายนั้นชัดเจนมากจนไม่ต้องอธิบายอะไรกันอีก (ผู้เขียนเคยเขียนถึงหนังไว้ ที่นี่) ถึงกระนั้นสิ่งที่อยากจะกล่าวถึงคือเส้นทางการไปสู่รางวัลออสการ์ของ Parasite ที่จะว่าไปแล้วก็มีความตลกร้ายในตัวเอง กล่าวคือแม้หนังจะว่าด้วย ‘คนจน’ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจัยหลักที่ทำให้หนังโด่งดังขนาดนี้ก็เพราะผู้จัดจำหน่ายอย่าง CJ ENM เป็นบริษัทเกาหลีที่ ‘โคตรรวย’

อาณาจักรของ CJ ENM นั้นยิ่งใหญ่มาก ไม่ว่าจะค่ายหนัง CJ Entertainment, ช่อง Mnet ที่ผลิตรายการตระกูล Produce อันอื้อฉาว, ช่องเคเบิ้ล tvN และ OCN, Studio Dragon สตูดิโอที่ทำซีรีส์ยอดฮิตอย่าง Crash Landing on You เหล่านี้ล้วนเป็นเครือข่ายของ CJ ทั้งหมด ดังนั้น CJ จึงทุ่มเงินแบบไม่อั้นสำหรับการโปรโมต Parasite ในอเมริกา เห็นได้จากการที่บองจุนโฮเดินสายตามเทศกาลต่างๆ ทั่วสหรัฐ หรือเหล่านักแสดงที่ได้บินไปร่วมงานลูกโลกทองคำและออสการ์กันถ้วนหน้า นอกจากนั้นค่าย Neon ที่เป็นผู้จัดจำหน่าย Parasite ในอเมริกาก็พีอาร์หนังอย่างชาญฉลาด อย่างเช่น การทำให้เพลง Jessica, only child เป็นไวรัลขึ้นมาได้

อย่างไรก็ดี การอัดเม็ดเงินไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้ Parasite ประสบความสำเร็จ หากแต่ตัวหนังเองก็ ‘มีของ’ ด้วย นี่คือหนังที่ผ่านกระบวนการคิดมาอย่างดี จนทำให้มีวิดีโอวิเคราะห์หนังมากมาย ทั้งในแง่การตัดต่อ, การถ่ายภาพ, สถาปัตยกรรม ดังนั้น ‘หนังที่ดี’ กับ ‘ค่ายหนังที่รวย’ จึงเป็นส่วนผสมอันร้ายกาจที่ทำให้ Parasite ไปถึงดวงดาวแห่งออสการ์ในที่สุด แม้การตระหนักได้ว่านี่คือการพึ่งพาระบบทุนนิยม (จากการโปรโมตของค่าย) เพื่อทำให้เห็นปัญหาของทุนนิยม (ตามสาระสำคัญของหนัง) จะเป็นเรื่องตลกประเภทที่เราไม่แน่ใจว่าควรจะหัวเราะออกมาดีหรือไม่