ไม่พบผลการค้นหา
จากบทเรียนรับมือกลุ่มผู้ชุมนุมวันที่ 19-20 ก.ย.ที่ผ่านมา ตำรวจมีการตั้งแบริเออร์ ลวดหนาม ล้อมทำเนียบรัฐบาล ซึ่งผู้ชุมนุมได้ยุติการชุมนุมที่สนามหลวง หลังทำพิธีปักหมุดคณะราษฎร ด้วยเหตุผลไม่ต้องการให้มีการสูญเสีย

แม้ตอนแรกผู้ชุมนุมจะเดินทางไปยังทำเนียบองคมนตรีแทน เพื่อยื่นหนังสือ 10 ข้อการปฏิรูปสถาบัน ให้กับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี แต่ทาง ตร. ได้ปิดเส้นทางและเจรจาที่หน้าศาลฎีกา ทำให้แกนนำยื่นหนังสือผ่าน ผบช.น. แทน

ล่าสุดก่อนวันชุมนุมใหญ่ 1 วัน (13ต.ค. 2563) ได้มีการควบคุมแกนนำคณะราษฎร เช่น ‘ไผ่ ดาวดิน’จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ‘แอมมี่’ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อรื้อการตั้งเต็นท์พักค้างคืน ซึ่งมีการมองว่าเป็นเสมือน ‘การซักซ้อม’ ก่อนถึงวันชุมนุมใหญ่ (14 ต.ค. 2563)

เมื่อมาถึงวันที่ 14ต.ค.ที่ผ่านมา ไม่มีการตั้งแบริเออร์-ลวดหนาม รอบทำเนียบฯ แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือการนัดชุมนุมของ ‘ศิษย์เก่า กปปส.’ ดักเส้นทาง ‘คณะราษฎร 2563’ ตามที่ คณะราษฎร 2563 ได้นัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

โดย ‘คณะราษฎร 2563’ ได้เลื่อนเวลามา 08.00 น. จากเดิมเวลา 14.00 น. โดยภารกิจหลักตือ ‘ยึดคืนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย’ จากนั้นได้เคลื่อนการชุมนุมมายัง ทำเนียบฯ เพื่อตั้งเวทีปราศรัย

ทนายอานนท์.jpg

ทั้งนี้การชุมนุม ‘อดีตศิษย์เก่า กปปส.’ ถ.ราชดำเนิน ได้แก่ กลุ่มอดีตพุทธะอิสระ , พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี ที่ สะพานมัฆวานฯ และ กลุ่ม ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ อดีตเลขาธิการ กปปส. บริเวณลานพลับพลามหาเจษฏาบดินทร์ ทำให้ตำรวจควบคุมฝูงชน ได้ตั้งแนวตาม ถ.ราชดำเนิน เพื่อป้องกันเหตุการณ์ปะทะกัน แต่สุดท้ายแล้วก็มีการปะทะกันเป็นจุดๆ แต่เหตุการณ์ไม่บานปลายเป็นม็อบชนม็อบ

ทั้งนี้เหตุการณ์รวมพล ‘ศิษย์เก่า กปปส.’ ที่นัดล่วงหน้าเพียง 2-3 วันเท่านั้น โดยการมาพื้นที่ ถ.ราชดำเนิน นั้ง ทางกลุ่มคณะราษฎร ได้นัดหมายล่วงหน้ามาเกือบ 1 เดือน จึงทำให้มีการมองปรากฏการณ์ดังกล่าวมี ‘นัยยะแฝงหรือไม่’ เพราะเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าของ 2 ฝ่าย

จึงทำให้แกนนำคณะราษฎรต้องนำผู้ชุมนุมที่จะเดินทางมายัง ทำเนียบฯ ต้องเลี่ยง ถ.ราชดำเนิน ไปใช้เส้นทาง ถ.นครสวรรค์ เพื่อมายังแยกนางเลิ้ง แล้วเลี้ยวมาที่ สะพานชมัยมรุเชฐ แทนเป็นจุดที่ใกล้ ทำเนียบฯ แต่ก็ได้เกิด ‘เหตุการณ์ไม่คาดคิด’ ขึ้นมา

ซึ่งสุดท้ายการชุมนุมก็เกิดขึ้นบริเวณโดยรอบ ทำเนียบฯ มีการตั้งเวทีปราศรัยและพักค้าง 1 คืน ซึ่งเนื้อหาการปราศรัยก็เน้นถึง 3 ข้อเรียกร้อง 1.ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ลาออกทันที 2.ให้มีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน 3.ปฏิรูปสถาบัน การปราศรัยยาวไปถึงตี 1 ของวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา

โดย ‘ทนายอานนท์’ ได้ประกาศนัดชุมนุมคณะราษฎร ที่สี่แยกราชประสงค์ 15 ต.ค. 4โมงเย็น โดยให้มวลชนพักค้างแรมที่ข้าง ทำเนียบฯ ก่อนยุติการชุมนุมชั่วคราวช่วง 6 โมงเช้า พร้อมชี้ว่า’เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด’ เป็นการ ‘วางยา’ ของ ตร. เพราะผู้ชุมนุมได้หลีกเลี่ยงเส้นทาง ถ.ราชดำเนิน แล้ว 

แต่เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงเมื่อช่วงตี 4 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง” ในเขตท้องที่ กทม. ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชี้การชุมนุมเป็นการปั่นป่วน วุ่นวายมีการกระทำกระทบขบวนเสด็จฯ การชุมนุมมีมีการกระทำที่รุนแรง มิใช่การชุมนุมโดยสงบ กระทบการควบคุม ‘โควิด-19’ กระทบเศรษฐกิจที่เปราะบาง

จากนั้นทาง ตร. ควบคุมตัวแกนนำคณะราษฎรทั้งในพื้นที่ชุมนุมและที่อื่นๆ เช่น ทนายอานนท์ นำภา ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ ‘รุ้ง’ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นต้น จากนั้น ตร. เข้ากระชับพื้นที่การชุมนุม พร้อมยึดพื้นคืนที่รอบ ทำเนียบฯ ทั้งหมด

ม็อบ 15 ตุลา ราชประสงค์ ผู้ชุมนุมประท้วง ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก

จึงทำให้การชุมนุมที่แยกราชประสงค์ มีแกนนำคณะราษฎรลำดับรองลงมาในการนำชุมนุม เช่น ‘ไมค์’ภานุพงศ์ จาดนอก , ‘ฟอร์ด’ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี เป็นต้น ซึ่งการชุมนุมไม่มีการค้างคืน จากนั้น ‘เพนกวิน-พริษฐ์’ ได้โพสต์ข้อความลายมือ ถึงแนงทางการต่อสู้ ให้ต่อเนื่อง แต่ไม่ต้องค้างคืน กระจายการชุมนุม และจัดคู่ขนานกับต่างจังหวัด

ซึ่งตรงกับที่หน่วยงานความมั่นคงประเมินว่าการจัดการชุมนุมจะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัดด้วย และการชุมนุมจะเป็นลักษณะแรลลี่มากขึ้น โดยอีกวันหมุดหมาย คือ 1 พ.ย.นี้ ที่สภาเปิดประชุมอีกครั้ง โดยมีญัตติการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับอีกครั้ง ดังนั้นในช่วง 2 สัปดาห์ จะต้องมีกิจกรรมเลี้ยงกระแสต่อไป

อีกเหตุการสำคัญคือการชุมนุมที่แยกปทุมวัน วันที่ 16 ต.ค. ที่มีการสลายการชุมนุมด้วยการ ‘ใช้รถแรงดันน้ำ’ ทำให้เกิดภาพคล้ายกับที่ ‘ฮ่องกง’ ในการเผชิญหน้าระหว่างผู้ชุมนุมกับ ตร. ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็เลี่ยงที่จะตอบคำถามนี้ โดยให้ดูผลลัพธ์ที่ฮ่องกงว่าเกิดความเสี่ยหายอย่างไร

ส่วนจะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่ต่างจังหวัดหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “เอาทีละขั้นตอน” ส่วนการประกาศใช้กฎอัยการศึกหรือไม่นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ยังไม่ควรจะไปถึงตรงนั้น” หากดูจากคำตอบของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะพบว่าอยู่ในแผนทั้งหมด

สิ่งที่มาพร้อมกับสถานการณ์นั่นคือกระแส ‘ปฏิวัติ-รัฐประหาร’ รวมทั้งการตั้ง ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ ขึ้นมา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ได้ ‘ปิดประตูตัวเอง’ ไม่ฟันธงไปทางใดทางหนึ่ง

“สื่อคิดแหลมคมไปเองหรือเปล่า ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ผมยังไม่คิดไปถึงตรงนั้น ใครจะทำไปหามาสิ” นายกฯ ตอบคำถามสื่อเหตุการณ์มีความแหลมคมจะมีเหตุการณ์รัฐประหารหรือไม่

“ยังอีกไกล” นายกฯ กล่าวถึง กระแสข่าวการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้นำประชุม ครม.นัดพิเศษ โดยช่วงแถลงข่าวได้นำ ครม. มายืนแผงแถลงข่าว โดยย้ำถึงความเป็น ‘พรรคร่วมรัฐบาล’ ถึงแนวทางการทำงาน ที่เห็นชอบในการใช้กฎหมาย รวมทั้งเดินหน้าในเรื่องโควิดและเรื่องเศรษฐกิจ และทำความเข้าใจกับประชาชนในวงกว้าง

ทั้งนี้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ เบื้องต้นบังคับใช้ 30 วัน สิ้นสุดวันที่ 13 พ.ย.นี้ โดย ‘รองนายกฯวิษณุ เครืองาม’ ระบุว่า นายกฯ ยกเลิกได้ทันที เมื่อเห็นสถานการณ์เบาบางลง โดยไม่ต้องเรียกประชุม ครม. ส่วนเคอร์ฟิวประกาศเมื่อไหร่ก็ได้

แต่การออกประกาศเช่นนี้ ที่มาพร้อม ‘5 ข้อกำหนด’ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 และ 11 เช่น ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน การห้ามใช้เส้นทางหรือห้ามเข้าพื้นที่ต่างๆ และควบคุมการเสนอข่าวสาร เป็นต้น ถือเป็น ‘ไม้แรก’ ของการควบคุมสถานการณ์ รวมทั้งการจัดกำลังทหาร ร่วมเป็น ‘ผู้ช่วยเจ้าพนักงาน’ หนุนการปฏิบัติ ตร. ในรักษาความปลอดภัย “สถานที่ราชการที่สำคัญ” ใน กทม. ด้วย

ทำให้ปรากฏการณ์เช่นนี้ ถูกมองว่าเป็น ‘ปฏิบัติการกระชับอำนาจ’ หรือถูกเปรียบเทียบว่าเป็นการ ‘รัฐประหารครึ่งใบ’ ที่ยังไม่ใช่กำลังทหารและยังไม่มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ แน่นอนว่าหากมีการประกาศใช้ ‘กฎอัยการศึก’ ก็เปรียบเป็น ‘รัฐประหารเงียบ’ เพราะให้อำนาจทหารในการควบคุมสถานการณ์

ครม.jpg

หากย้อนคำพูดของ ‘บิ๊กบี้’ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ที่กล่าวถึงเหตุการรัฐประหาร ที่ก็ไม่ได้ ‘รับประกัน’ ว่าการทำรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้น โดยชี้ถึง ‘เงื่อนไข’ ที่อย่าให้เกิดขึ้น

“โอกาสของการทำเรื่องพวกนี้ทุกอย่างเป็นศูนย์หมด บนพื้นฐานที่อย่าให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสร้างเงื่อนไขปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรง และกระทบต่อความเดือดร้อน ผมถือว่าผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ตอบไปแล้ว อยากให้ทุกคนร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ ด้วยการขจัดเงื่อนไขต่างๆเหล่านี้ให้หมดไปจากประเทศไทยและติดลบ เพราะศูนย์ก็ไม่พอ แต่การจะติดลบได้ทุกคนต้องช่วยกัน” พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าว

หากดูเหตุการณ์ในสัปดาห์นี้ ‘เงื่อนไข’ ได้เกิดขึ้น โดยเฉพาะ ‘เหตุผลอมตะ’ คือเรื่อง ‘ความรุนแรง’ ที่เกิดภาพการปะทะกัน

การสลายการชุมนุม โดยเฉพาะ ‘เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด’ ด้วย แต่กองทัพยังคงนิ่งในเวลานี้ ไม่มีแอคชั่นใดๆออกมา โดยย้ำว่าเป็นหน้าที่ของ ตร. ในการดูแลสถานการณ์เป็นหลัก แม้จะมีการส่งกำลังทหารดูแลสถานที่ราชการในพื้นที่ กทม. ตามที่ ทบ. ได้ชี้แจง

หลัง พล.ท.เจริญชัย หินเธาว์ แม่ทัพภาคที่ 1 ได้มีคำสั่งด่วนเรียกผู้บังคับกองพันทุกกองพันของกองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9) กองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 (พัน.ร.มทบ.11) และกองพลทหารราบที่ 11 (พล.ร.11) เข้ามาประชุมที่กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 เมื่อวันที่ 15ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมความพร้อมดูแลสถานการณ์ในกทม. โดยมอบหมายให้ ร.9 พัน.1 , ร.9 พัน.2 และ ร.9 พัน.3 จัดเจ้าหน้าที่ทหารกองพันละ 1 กองร้อยเข้าดูแลความเรียบร้อยภายในทำเนียบรัฐบาล สำหรับส่วนที่เหลือให้เตรียมความพร้อมไว้ในที่ตั้ง หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินให้เข้าสมทบทันที

สถานการณ์ที่แต่ละฝ่ายมี ‘เพดาน-เดิมพัน’ ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อลดการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น แต่ละฝ่ายจะต้อง ‘ถอยคนละก้าว’ โดยฝ่ายรัฐบาลจะต้องมีความชัดเจนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีไทม์ไลน์ที่ชัดเจน ไม่เตะถ่วงเวลาอีกต่อไป

ส่วนฝั่งผู้ชุมนุมต้อง ‘ตีกรอบข้อเรียกร้อง’ ให้แคบลงและเป็นไปได้ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยผ่านกระบวนการที่ประชาชนทีส่วนร่วมมากที่สุด และการยุบสภาของรัฐบาล เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ เมื่อนั้นทุกคนต้องยอมรับกติกาและผลที่ทุกคนร่วมสร้างกันขึ้นมา

สุดท้ายแล้ว ‘เดิมพัน’ ครั้งนี้ หากไม่ถอยกันคนละก้าว ล้วนมีแต่ ‘ความเสี่ยง’ ทั้งสิ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog