จากกรณีมีหนังสือจากตำรวจสันติบาลส่งไปยังมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ขอความร่วมมือให้ส่งรายชื่อนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลามทั้งหมดไปให้กับฝ่ายความมั่นคง และให้ระบุประวัติของนักศึกษา นิกาย ชมรมที่นักศึกษามุสลิมเข้าร่วม และประวัติประธานชมรม รวมถึงแนวทางการเคลื่อนไหวของชมรม ทราบว่า มีทั้งชมรมมุสลิม และ ชมรมภาษามลายู และภาษาอาหรับ ทั้งในมหาวิทยาลัยในจังหวัดประทุมธานี และจังหวัดสงขลา โดยการขอความร่วมมือนี้เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯ ช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง และความปลอดภัย นั้น
ผู้สื่อข่าวจังหวัดยะลา ได้สัมภาษณ์ ดร.ตายูดิน อุสมาน อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดย ดร.ตายูดิน มองว่าการที่ทางรัฐจะไปสืบหาประวัติเป็นสิ่งที่ไปกระทบ ไปลิดรอนสิทธิหลายๆ ประการด้วยซ้ำ เพราะการไปซักถามประวัติทั่วประเทศทำไม่ได้ แต่ถ้าสงสัยคนไหนค่อยไปสอบถามเป็นรายคนไป ซึ่งนักศึกษามุสลิมที่ไปเรียนในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ไม่ใช่ว่าทุกคนที่เป็นปัญหา ไม่ใช่ว่าทุกคนมีความคิดหัวรุนแรง ซึ่งการเหวี่ยงแหไปถามทุกคนย่อมมีผลกับชีวิตของนักศึกษา มีผลต่อสภาวะความเครียดของนักศึกษา เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ที่ไม่น่าทำอย่างยิ่ง จะสงสัยใคร นักศึกษาคนใด ขอให้ไปเจาะจงคนนั้น อย่าให้เป็นภาพรวม อย่าให้ถึงกับนักศึกษามุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ นักศึกษามุสลิมที่มาจากจังหวัดอื่นๆ ก็ถูกซักประวัติด้วย ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ตัวนักศึกษาควรมีจุดยืน
พร้อมขอไปยังภาครัฐ และกอ.รมน. ถ้าเลี่ยงตรวจสอบได้ก็ขอให้เลี่ยง ถ้าไม่จำเป็นไม่ทำ เพราะว่าเด็กนักศึกษาเขาตั้งใจมาเรียนหนังสือ เขามีความคิด ความดี ไปถามประวัติเขา เด็กบางคนอาจจะมีผล อาจจะเครียด คิดมาก ดีไม่ดีเด็กคนนั้นอาจจะไม่อยากเรียนหนังสือก็ได้ หรือมีมุมมองภาพลบกับภาครัฐ ซึ่งมีผลกระทบแน่นอน เพื่อนในมหาวิทยาลัยที่นับถือศาสนาอื่นๆ จะมองว่านักศึกษามุสลิมเป็นนักศึกษาที่มีปัญหาทั้งๆ ที่คนที่มีปัญหาไม่กี่คนเท่านั้น แต่ไปเจาะจงไปเหมารวม และเป็นไปได้ว่า นักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลามบางคนมาจากภาคอื่นๆ ที่ไม่ใช่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
อีกทั้งยังสร้างความไม่สบายใจให้กับครอบครัวของนักศึกษาด้วย เพราะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของบุตรหลานพวกเขา ตนจึงเห็นว่าสมควรให้ยกเลิก และหยุดเก็บประวัติดังกล่าว แต่ถ้าสงสัยใครให้เจาะจงไปเลยว่าคนนี้ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยไหน อย่าไปเหมารวม และอยากฝากถึงครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีหนังสือจาก กอ.รมน. ไป ขอให้ดูแลเด็กให้ดี อย่าปล่อย ต้องปกป้อง ถ้าไม่จำเป็นอย่าให้ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กๆ เหล่านี้เพราะว่าเป็นการลิดรอนสิทธิของเด็ก
ด้าน นส.มาดีน่า ยะโต๊ะ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ เอกรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา กล่าวว่า ในฐานะที่เรียนสาขารัฐศาสตร์มีความคิดเห็นว่า กอ.รมน.เป็นองค์กรของรัฐ เป็นหน่วยงานพิเศษที่สามารถออกคำสั่งแบบนี้ได้ รัฐสามารถกระทำได้ แต่ว่าถ้าในมุมความรู้สึกของตนคือ นักศึกษามุสลิมก็จะเกิดข้อสงสัยเรื่องสิทธิความเท่าเทียม การเอาประวัติของนักศึกษาไปโดยไม่ได้ชี้แจงชัดเจนว่าเอาไปทำอะไร ก็จะมีข้อสงสัยแต่ถ้าชี้แจงชัดเจน บอกชัดเจนว่าเอาประวัติไปทำอะไรก็พร้อมที่จะให้อยู่แล้ว จะเรียกร้องขอให้ตรวจสอบให้ชัดเจนว่าเอาข้อมูลไปทำไม ให้เจาะจงไปเลย อย่าเหมารวม
ภาพ : nathan-dumlao-572047-unsplash.jpg
ข่าวที่เกี่ยวข้อง