ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า อาจส่งผลเกิดภาวะลิ่มเลือดในผู้รับวัคซีนบางราย ขณะที่โควิดสายพันธุ์อังกฤษ 'ซิโนแวค' เอาไม่อยู่ ส่วนการเปิดเอกชนนำเข้าวัคซีนเสรี "ไม่ชัดเจน" คนไทยมีทางเลือกอะไรบ้าง

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าที่วิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งไทยหมายมั่นเป็นวัคซีนหลักสำหรับแจกจ่ายประชาชนภายในปีนี้ กำลังเผชิญกับข้อบ่งใช้ที่ควรระวัง หลังจากที่องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ออกแถลงผลการตรวจสอบเกี่ยวกับการประเมินความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าฯ โดยระบุว่า "พบความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้ในการใช้วัคซีนโควิดของแอสตร้าฯ กับการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ใหญ่หลังการรับวัคซีนดังกล่าว" 

EMA ยังแนะนำว่า ทางผู้ผลิตควรเพิ่มข้อมูลดังกล่าวไว้บนฉลากเพื่อแสดงถึงข้อบ่งใช้ที่และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ยากจากกรณีลิ่มเลือดอุดตัน ข้อมูลขององค์การยายุโรป สอดคล้องกับคำแถลงขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุถึงความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนของแอสตร้าฯ กับกรณีเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน พร้อมกับจำนวนเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งถือว่ามีความเป็นไปได้ แต่ยังไม่มีการยืนยันอย่างชัดเจน

องค์การยาโรป ยังระบุว่า เป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และผู้เข้ารับวัคซีนต้องตระหนักถึงความเสี่ยงนี้ และระมัดระมังต่ออาการต่างๆ ที่อาจตามมาหลังการฉีดในระยะ 2 สัปดาห์แรก ซึ่งได้แก่ อาการหายใจติดขัด อาการปวดหน้าอก อาการบวมที่ขา อาการเจ็บที่ท้อง อาการปวดศรีษะ สายตาพร่ามัว และอาการบวมที่ผิวหนัง นอกเหนือจากบริเวณที่ได้รับการฉีดวัคซีน รวมทั้งอาการทางระบบประสาทอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม หน่วยงานด้านยาของอียู ยืนยันว่า ประโยชน์ของการรับวัคซีนแอสตร้าฯ ยังมีมากกว่าความเสี่ยงจากผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งถือว่ายังพบได้น้อยมาก

ก่อนหน้านี้ที่องค์การยายุโรปจะออกมาแถลง เดนมาร์ก เป็นประเทศแรกที่ออกมาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับวัคซีนดังกล่าวว่าอาจส่งผลให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ที่รับวัคซีนบางรายได้ ส่งผลให้บางประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มสหภาพยุโรป อาทิ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และออสเตรีย ระงับการแจกจ่ายวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าชั่วคราว

จากการตรวจสอบของคณะกรรมการความปลอดภัย (PRAC) ขององค์การยายุโรป จนถึงวันที่ 4 เม.ย. พบว่าในบรรดาผู้ได้รับวัคซีนโควิดของแอสตร้าฯ EMA รับรายงานเคสภาวะหลอดเลือดดำในสมองอุดตัน (cerebral sinus vein thrombosis - CSVT) จำนวน 169 เคส จากผู้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 34 ล้านโดสในสหภาพยุโรป และจากข้อมูลถึงสิ้นเดือนมี.ค. พบว่า จำนวนนี้ 19 คนเสียชีวิต


"อายุต่ำกว่า 30 ห้ามใช้"

ไม่นานหลังจากองค์การยายุโรป และอนามัยโลกออกแถลงการณ์ระบุถึงบ่งใช้พึงระวังของวัคซีนแอสตร้าฯ สหราชอาณาจักรประเทศซึ่งใช้วัคซีนดังกล่าวในการแจกจ่ายประชาชนเป็น โดยแจกไปมากกว่า 25 ล้านคนแล้วนั้น หน่วยงานด้านสำนักงานควบคุมยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (MHRA)ได้ออกคำแนะนำทันที โดยชี้ว่า คำเตือนดังกล่าวจากองค์การยายุโรปและอนามัยโลกนั้น ยังไม่ใช่ข้อพิสูจน์อย่างแท้จริงว่าวัคซีนทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน แต่พบความเชื่อมโยงที่ชัดเจนมากขึ้น 

ประธานของ MHRA กล่าวว่า ผลข้างเคียงของวัคซีนแอสตร้าฯ "พบได้น้อยมากอย่างยิ่ง" และจำเป็นต้องมีการตรวจสอบว่าวัคซีนทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันจริงหรือไม่ รวมถึงระบุข้อบ่งใช้เพิ่มเติม แต่เมื่อชั่งน้ำหนักถึงข้อดีและข้อเสียแล้ว วัคซีนยังคงเป็นผลดีต่อคนส่วนใหญ่อยู่

MHRA ซึ่งหารือร่วมกับคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการฉีดวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันโรคสหราชอาณาจักร (JCVI) จึงได้ข้อสรุปว่า สหราชอาณาจักรจะออกคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับวัคซีนโควิดของแอสตร้าฯ โดยแนะให้ประชาชนชนที่อายุระหว่าง 18-29 ปี รับวัคซีนชนิดอื่นจากผู้ผลิตรายอื่นแทน

ขณะเดียวกัน รัฐบาลอังกฤษซึ่งมีแผน "วัคซีนรอง" อยู่แล้วนั้น ได้ประกาศในทันทีว่า จะเดินหน้าเร่งอนุมัติการใช้วัคซีนโควิดของบริษัทโมเดอร์นา ให้เร็วกว่ากำหนดเดิมราว 2 สัปดาห์ เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันในระดับชุมชนได้ตามแผนต่อไป โดยอังกฤษสั่งซื้อวัคซีนจากโมเดอร์นาเป็นจำนวน 17 ล้านโดส ซึ่งเพียงพอสำหรับประชาชน 8.5 ล้านคน จากก่อนหน้านี้อังกฤษใช้วัคซีนของแอสตร้าฯ เป็นหลัก และตามด้วยวัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค เป็นวัคซีนเสริม

ส่วนแคนาดา ได้ออกคำแนะนำเกี่ยวกับวัคซีนแอสตร้าฯ ว่าไม่ควรฉีดในผู้ใหญ่ที่อายุต่ำกว่า 55 ปี ด้วยเหตุผลเดียวกัน คือความเสี่ยงภาวะลิ่มเลือดและเกล็ดเลือดต่ำ (VIPIT) เช่นเดียวกับเยอรมนีที่ออกประกาศในลักษณะคล้ายกันว่า ควรฉีดวัคซีนนี้เฉพาะในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ด้านสเปนและอิตาลี ได้เปลี่ยนนโยบายประกาศให้ใช้วัคซีนป้องกันโควิดของแอสตร้าฯ เฉพาะกับบุคคลที่อายุเกิน 60 ปีเท่านั้น

เพื่อนบ้านของไทยอย่าง มาเลเซียระบุว่า กำลังพิจารณาการแจกจ่ายวัคซีนแอสตร้าฯ เช่นกันหลังยุโรปออกมาเตือน ส่วนอินโดนีเซีย ซึ่งใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในการแจกจ่ายประชาชนควบคู่กับซิโนแวค ยังไม่มีข้อคิดเห็นใดๆ ออกมาเกี่ยวกับข้อบ่งใช้ดังกล่าว โดยระบุเพียงว่า ขณะนี้กำลังขาดแคลนวัคซีนผู้ผลิตส่งมอบล่าช้า เนื่องจากความต้องการวัคซีนทั่วโลกสูง

EMA ระบุว่า ข้อบ่งชี้เกี่ยวกับภาวะ VIPIT ดังกล่าวนั้น ให้เป็นดุลยพินิจของชาติยุโรปแต่ละประเทศ ในการปรับกลยุทธ์วัคซีนว่าเหมาะสมกับผู้เข้ารับการฉีดในวัยใด เพื่อเข้ากับสถานการณ์ระบาดในประเทศ


'ไทย' แทงม้าข้างเดียว ?

ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมาระบาด "อีกระลอก" ในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น มีรายงานว่าเชื้อที่พบส่วนใหญ่เป็น "สายพันธุ์อังกฤษ" จากคลัสเตอร์ย่านทองหล่อ ซึ่งจะเกิดการระบาดเร็วขึ้น มีปริมาณไวรัสในผู้ป่วยสูง แต่กลับไม่มีแสดงอาการหรือแสดงอาการป่วยน้อยมาก อีกทั้งไวรัสโควิดสายพันธุ์นี้ วัคซีนซิโนแวค ของจีนที่ไทยได้รับมอบในก่อนหน้านี้ และใช้ฉีดแจกจ่ายในบางส่วนนั้น ไม่อาจมีประสิทธิภาพเพียงพอในการป้องกันเชื้อชนิดดังกล่าวได้ "รัฐบาลไทย" ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งกำลังแทงม้าข้างเดียว ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่กำลังเผชิญข้อบ่งใช้ด้านความปลอดภัยในผู้เข้ารับการฉีดที่หลายชาติออกมาจำกัดอายุ อาจทำให้แผนการฉีดวัคซีนโควิดให้ครบ 50% ของประชากร คงไม่เพียงพอแล้วในขณะนี้ ไทยจำเป็นจะต้องฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 70% ของประชากรทั้งประเทศ คำถามคือ คนไทยมีทางเลือกไหนบ้าง นอกจากวัคซีนของแอสตร้า (ซึ่งอาจไม่เหมาะกับทุกคน) ส่วนวัคซีนจีนก็อาจมีข้อจำกัดต่อสายพันธุ์ไวรัสที่ระบาดในขณะนี้

ท่ามกลางคำถามดังกล่าว ส่งผลให้เริ่มมีกระแสว่าภาคเอกชนโดยเฉพาะบริษัทเอกชนบางแห่งกำลังให้ความสนใจ จัดหาวัคซีนเพื่อแจกจ่ายแก่พนักงานของตนเอง รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนที่ประสงค์นำเข้าวัคซีนเพื่อเป็น "ทางเลือก" ให้กับประชาชน แต่ทว่าความคลุมเคลือทางด้านนโยบาย "วัคซีนเสรี" ของหน่วยงานรัฐยังคงไม่ชัดเจน ประชาชนไทยที่ควรจะได้รับการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายภายในปีนี้จึงยังไม่ชัดเจนเช่นกันว่าจะครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด

เรื่องให้เอกชนนำเข้าวัคซีนนั้น ด้านรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า วัคซีนจากผู้ผลิตทุกรายในเวลานี้เป็นการใช้แบบกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use) ซึ่งหากเกิดอะไรขึ้นกับรัฐบาลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบไม่ใช่บริษัทผู้ผลิต ทำขณะนี้เกือบทุกประเทศทั่วโลกรัฐบาลจะเป็นผู้จัดหาและนำเข้าวัคซีน โดยถือว่าวัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะ (Public Goods) ยังไม่มีประเทศใดที่ให้ซื้อวัคซีนโควิด-19ได้เองแบบเชิงพาณิชย์ (Commercial) และยังมีประเด็นที่รัฐบาลต้องระมัดระวังอีกคือ การกระจายวัคซีนไปยังเอกชนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาวัคซีนปลอม

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองจาก อย. และขึ้นทะเบียนในประเทศไทยแล้ว 3 บริษัท คือ ซิโนแวค แอซตร้าเซนเนกา และ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ส่วนที่อยู่ในขั้นตอนยื่นเอกสารแบบต่อเนื่อง 


ที่มา: BBC , Astrazeneca , Euronews , CNN , Theguardian , Reuters , CNA , CanadaGOV


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: