ไม่พบผลการค้นหา
สวนดุสิตโพล ระบุคนให้ความสนใจการเลือกตั้ง 24 มี.ค. มากที่สุด แต่ก็วิตกกังวลในเรื่องความโปร่งใส

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมากระแสข่าวการเมืองค่อนข้างร้อนแรง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเลือกตั้งที่กำลังเป็นที่จับตามองและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่สนใจติดตามข่าวการเมือง จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,186 คน ระหว่างวันที่ 12-16 ก.พ. 2562 สรุปผลได้ ดังนี้  

1) "5 อันดับข่าวการเมือง" ที่ประชาชนสนใจติดตามมากที่สุด คือ ประชาชนให้ความสนใจการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. มาเป็นอันดับที่ 1 ในสัดส่วนร้อยละ 54.68 เพราะใกล้จะถึงวันเลือกตั้งแล้ว สถานการณ์ร้อนแรง เป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง อยากออกไปใช้สิทธิ ฯลฯ

รองลงมาสนใจในเรื่องการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ /การดำเนินการทางกฎหมาย ให้สัดส่วน ร้อยละ 30.22 เพราะมีคดีต่าง ๆ เกิดขึ้นหลายคดี เช่น คดียุบพรรค ตัดสิน 6 แกนนำพันธมิตร ปิดวอยซ์ทีวี เป็นต้น ฯลฯ       

อันดับ 3 การสรรหานายกรัฐมนตรี /เสนอรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ร้อยละ 21.04 เพราะเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญต่อบ้านเมือง อยากรู้ว่ามีใครจะมาเป็นนายกฯ อยากฟังนโยบาย ดีเบตกันเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ ฯลฯ       

อันดับ 4 ผู้สมัครหน้าใหม่และพรรคการเมืองใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ร้อยละ 19.87 เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้เห็นอะไรใหม่ ๆ หลายคนน่าสนใจ เป็นกระแสสังคมที่เกิดขึ้น โด่งดังในโลกโซเชียล ฯลฯ        

อันดับ 5 การหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ร้อยละ 15.29 เพราะมีรูปแบบวิธีการหาเสียงที่แปลกใหม่ น่าสนใจมากขึ้น การแข่งขันสูง แต่ละพรรคมีนโยบายที่แตกต่างกัน ฯลฯ      

2) จากข่าวที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนวิตกกังวลในเรื่องใดบ้าง

อันดับ 1 การเลือกตั้งอาจไม่โปร่งใส มีการทำผิดกฎ กติกาที่ตั้งไว้ ในสัดส่วน ร้อยละ 39.49

อันดับ 2 กระแสข่าวการทำรัฐประหาร ปฏิวัติซ้อนในสัดส่วน ร้อยละ 31.98

อันดับ 3 อนาคตของประเทศหลังการเลือกตั้ง เศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ ในสัดส่วน ร้อยละ 27.41       

อันดับ 4 การเลือกนายกรัฐมนตรี ใครจะได้เป็นนายกฯ ในสัดส่วน ร้อยละ 20.52       

อันดับ 5 วิธีการเลือกตั้ง จำนวนบัตร การลงคะแนน ในสัดส่วน ร้อยละ 14.21    

3) จากข่าวที่เกิดขึ้นมีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไรบ้าง

อันดับ 1 ต้องศึกษาข้อมูลให้มากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายและคุณสมบัติของผู้สมัคร ในสัดส่วน ร้อยละ 35.44  

อันดับ 2 ไม่มีผลต่อการตัดสินใจ มีผู้สมัครและพรรคการเมืองในใจอยู่แล้ว ในสัดส่วน ร้อยละ 24.67

อันดับ 3 ตัดสินใจยากขึ้น กระแสข่าวมีทั้งดีและไม่ดี ในสัดส่วน ร้อยละ 21.56     

อันดับ 4 ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ ในสัดส่วนร้อยละ 15.89

อันดับ 5 อยากเปิดโอกาสให้พรรคใหม่ๆ คนใหม่ๆ เข้ามาทำงาน ในสัดส่วน ร้อยละ 12.33