ไม่พบผลการค้นหา
'ซีไบโอติกส์' ธุรกิจสตาร์ทอัพในสหรัฐฯ กำลังถูกจับตาว่าโฆษณาเกินจริงหรือไม่ หลังเปิดตัวสินค้าแก้อาการ 'เมาค้าง' ตั้งแต่เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา และเจ้าของบริษัทชี้ว่าเครื่องดื่มนี้มีส่วนผสมของแบคทีเรียที่ถูกตัดต่อพันธุกรรมรวมอยู่ด้วย

'แซ็ก แอ็บบอต' ชาวอเมริกัน เจ้าของบริษัท 'ซีไบโอติกส์' และนักวิจัยปริญญาเอกด้านชีวเคมี เปิดตัวเครื่องดื่มที่มีชื่อเดียวกับบริษัท คือ 'ซีไบโอติกส์' เมื่อสองเดือนที่แล้ว หลังจากที่บริษัทได้รับอนุญาตจากสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ให้สามารถผลิตและจำหน่ายสินค้าดังกล่าวในประเทศได้ และเขากำลังพยายามประชาสัมพันธ์สินค้าตัวนี้อย่างหนัก เพราะแม้ว่าจะมีกระแสสนับสนุนจากคนในแวดวงชีวเคมี แต่ก็มีคนจำนวนมากตั้งคำถามว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีแบคทีเรียตัดต่อพันธุกรรมนั้นจะปลอดภัยต่อสุขภาพในระยะยาวหรือไม่

แอ็บบอตได้ให้สัมภาษณ์สื่อหลายสำนักในสหรัฐฯ โดยอธิบายว่าเครื่องดื่มแก้เมาค้างชนิดนี้ไม่ต่างจาก 'อินซูลินแบบฉีด' ที่ถูกสกัดขึ้นเพื่อช่วยผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลก และอธิบายต่อไปว่าเครื่องดื่มซีไบโอติกส์ทำงานอย่างไรเพื่อแก้อาการเมาค้าง โดยเขาระบุว่า สิ่งที่ผสมอยู่ในเครื่องดื่มของบริษัทก็คือ 'โพรไบโอติกส์' หรือ จุลินทรีย์ตามธรรมชาติ และเป็นชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ 

ทั้งนี้ โพรไบโอติกส์ที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องดื่มแก้เมาค้างของบริษัท มีชื่อว่า 'บาซิลลัส ซับทิลิส' เป็นแบคทีเรียชนิดดีที่ถูกนำมาตัดต่อพันธุกรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการย่อยสลาย 'อะซิทัลดีไฮด์' ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาเคมีในร่างกายของคนเราหลังจากบริโภคแอลกอฮอล์ และผลการทดสอบทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่าสารเคมีตัวนี้เองที่มีส่วนทำให้คนมีอาการเมาค้าง หรือที่เรียกกันติดปากว่า 'แฮงก์โอเวอร์' นั่นเอง แต่การใช้แบคทีเรียไปลดสารอะซิทัลดีไฮด์จะช่วยให้ผู้ดื่มแอลกอฮอล์ไม่มีอาการผะอืดผะอมหรือเมาค้างในภายหลังได้

Ruptly-สตาร์ทอัพในสหรัฐฯ ใช้แบคทีเรียตัดต่อพันธุกรรมทำเครื่องดื่มแก้เมาค้าง-ZBiotics-ซีไบโอติกส์
  • แซ็ก แอ็บบอต ผู้ก่อตั้งและ CEO บริษัทซีไบโอติกส์

แอ็บบอตย้ำว่า แบคทีเรีย 'บาซิลลัส ซับทิลิส' ที่นำมาผสมในเครื่องดื่มซีไบโอติกส์ ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมอะไร เพราะมีหลักฐานบ่งชี้ว่ามนุษย์บริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของแบคทีเรียชนิดนี้มานานนับพันปีแล้ว โดยเขาได้ยกตัวอย่างเมนู 'ถั่วเน่า' หรือ 'นัตโตะ' ของชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการนำถั่วเหลืองมาหมัก ถือเป็นหนึ่งในอาหารเก่าแก่ที่อุดมไปด้วยแบคทีเรีย 'บาซิลลัส ซับทิลิส' และพิสูจน์ได้ว่าแบคทีเรียตัวนี้ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์

ก่อนหน้านี้ นิตยสารฟอร์บส รายงานว่า ผลิตภัณฑ์แก้อาการเมาค้างไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรในตลาดเครื่องดื่ม แต่สิ่งที่อาจจะทำให้ซีไบโอติกส์แตกต่างจากเครื่องดื่มตัวอื่นๆ ก็คือ หลักการทำงานและกระบวนการทดลองที่มีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์รองรับ และความกล้าที่จะรับประกันประสิทธิภาพของซีไบโอติกส์ โดยเขาระบุว่า กลุ่มเป้าหมายที่ดื่มซีไบโอติกส์ก่อนจะดื่มเหล้า ไม่มีอาการเมาค้างเกิดขึ้น และเป็นสถิติสูงถึงร้อยละ 90 ของการทดลองทั้งหมด ซึ่งถือว่าสูงกว่าเครื่องดื่มแก้เมาค้างยี่ห้ออื่นๆ ที่มีในท้องตลาดตอนนี้

อย่างไรก็ตาม แอ็บบอตอธิบายเพิ่มเติมว่า การทำงานของเครื่องดื่มซีไบโอติกส์ในการลดสารเคมีที่ทำให้เกิดอาการเมาค้าง จะมีประสิทธิภาพเต็มที่ก็ต่อเมื่อผู้บริโภคดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้ก่อนที่จะไปดื่มแอลกอฮอล์ แต่ถ้าดื่มไปพร้อมๆ กับเหล้า หรือดื่มหลังจากกินเหล้า ก็จะไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก และเขายังย้ำอีกด้วยว่า ต่อให้ดื่มซีไบโอติกส์ก่อนดื่มเหล้า ก็ไม่ได้ช่วยลดอาการมึนเมาลง เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่สนับสนุนให้ดื่มซีไบโอติกส์แล้วไปกินเหล้าเมาขับอย่างเด็ดขาด และย้ำว่า ผู้บริโภคควรดื่มสุราอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

Ruptly-สตาร์ทอัพในสหรัฐฯ ใช้แบคทีเรียตัดต่อพันธุกรรมทำเครื่องดื่มแก้เมาค้าง-ZBiotics-ซีไบโอติกส์

ส่วนการเติบโตของบริษัทซีไบโอติกส์ ค่อยๆ กระเตื้องขึ้นไปพร้อมกับเครื่องดื่มแก้เมาค้างที่เป็นผลิตภัณฑ์ตัวแรกของบริษัท โดยก่อนหน้านี้แอ็บบอตสามารถระดมทุนก่อตั้งบริษัทได้ด้วยวงเงิน 3.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปี 2015 และเป้าหมายต่อไปของเขาก็คือการพัฒนาสินค้าอื่นๆ ที่อาศัยเทคโนโลยีตัดต่อพันธุกรรม หรือ GMOs (จีเอ็มโอ) เข้ามาเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ 

แอ็บบอตยอมรับว่าเขากังวลเรื่องการต่อต้านจากกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับเทคโนโลยีจีเอ็มโอในสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศทั่วโลก ที่เรียกร้องให้ผู้ผลิตอาหารประเภทต่างๆ แปะฉลากบอกผู้บริโภคอย่างชัดเจนว่าสินค้าตัวไหนบ้างที่ได้มาจากวัตถุดิบที่เกิดจากการตัดต่อพันธุกรรม แต่เขายืนยันว่าจะเดินหน้าต่อไปเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าเทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรมนั้นมีประโยชน์ถ้าใช้อย่างระมัดระวัง

Ruptly-สตาร์ทอัพในสหรัฐฯ ใช้แบคทีเรียตัดต่อพันธุกรรมทำเครื่องดื่มแก้เมาค้าง-ZBiotics-ซีไบโอติกส์

ที่มา: Forbes/ Ruptly/ The Spoon