วันที่ 28 ก.ย. ปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 5/2565 คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 1.00 ต่อปี โดยให้มีผลทันที
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับสูงจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาแม้แรงกดดันด้านอุปทานจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มคลี่คลาย ในภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อใกล้เคียงกับที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้า คณะกรรมการฯ เห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ร้อยละ 0.25 ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.3 และ 3.8 ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ ตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ โดยภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดีกว่าคาดจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความทั่วถึงมากขึ้น ทั้งในมิติของสาขาธุรกิจโดยเฉพาะภาคบริการและในมิติของรายได้ที่เริ่มกระจายตัวดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงกว่าคาดส่งผลต่อภาคการส่งออก แต่ไม่ได้กระทบแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในภาพรวม
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.3 และ 2.6 ตามลำดับ โดยมีแนวโน้มปรับลดลงตามราคาน้ำมันโลกและปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ทยอยคลี่คลาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.6 และ 2.4 ตามลำดับ โดยโน้มสูงขึ้นจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ด้านค่าจ้างแรงงานปรับเพิ่มขึ้นในบางภาคธุรกิจและบางพื้นที่ที่ขาดแคลนแรงงาน แต่ยังไม่เห็นสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นในวงกว้าง นอกจากนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังมีจำกัดเนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัว สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย คณะกรรมการฯ จะติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นหากผู้ประกอบการเผชิญกับแรงกดดันด้านต้นทุนหลายด้านพร้อมกัน
ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรอง ที่เข้มแข็ง ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังมีผู้ประกอบการ SMEs ในบางสาขาธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าและครัวเรือนรายได้น้อยบางกลุ่มที่ยังอ่อนไหวต่อค่าครองชีพ คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง เห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง
ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทยอยปรับสูงขึ้น ในขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนโดยรวมยังเอื้อต่อการระดมทุน ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่าเร็วและต่อเนื่องตามการแข็งค่าของดอลลาร์ สรอ. สอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าเงินบาทมีความผันผวนสูง
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว และในกรณีที่แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ คณะกรรมการฯ พร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ทันทีที่มติ กนง. เอกฉันท์ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 1% ค่าเงินบาทได้พุ่งทะยานแตะ 38.22 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง แม้ว่าจะเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ โดยก่อนหน้านี้ค่าเงินบาทแกว่งตัวอยู่ในระดับ 38.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร ได้กล่าวถึงกรณีนี้ไว้ในรายการ CareTalk x CareClubHouse เมื่อค่ำวานนี้ (27 ก.ย.) ว่า ธนาคารกลางของสหรัฐฯ หรือ Federal Reserve System (Fed) ประกาศขึ้นดอกเบี้ยอีก 3.2% และอาจจะพุ่งสูงถึง 4.5-4.75% ในปลายปีนี้ ถึงกลางปีหน้า ด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ต้องเอาเงินเฟ้อให้อยู่หมัด
เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยขยับดอกเบี้ยขึ้นมาเป็น 1% จะทำให้เกิดส่วนต่างทางดอกเบี้ยจากสหรัฐฯ ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยน้อย และไม่ทันท่วงทีจะเกิดปัญหาทำให้เงินทุนไหลออก
ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง 6 ไตรมาส จึงต้องยอมให้ค่าเงินอ่อนเพื่อแก้ปัญหา แต่ปัญหาคือ ถ้าปล่อยให้ค่าเงินอ่อนมากๆ จะทำให้เงินเฟ้อขึ้นทางตรง และทางอ้อม สินค้าทุกอย่างที่ส่งออก และนำเข้าจะขึ้นราคาหมด ฉะนั้นมันถึงเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ต้องไปปรับเงินเฟ้อ เพราะรัฐบาลปรับไม่ได้
ส่วนการแก้ปัญหานั้นต้องทำให้ ‘ค่าเงิน’ กับ ‘เงินเฟ้อ’ ไปด้วยกัน ด้วยหลักที่เรียกว่า ‘ความเท่าเทียมกันของกำลังซื้อ’ ค่าเงินบาท และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะต้องมีเสถียรภาพเท่ากัน ถึงแม้จะบอกว่า เงินเฟ้อพุ่งขึ้นไปจะส่งผลดีกับผู้ส่งออก แต่ไม่มีสินค้าบริโภคในประเทศ ดังนั้นต้องเพิ่มศักยภาพเรื่อง แรงงาน เงินทุน พลังงาน และเทคโนโลยี โดยใช้ทฤษฎี ‘Supply Side’ มาแก้ปัญหา