ไม่พบผลการค้นหา
ประธานเจโทรยืนยันบริษัทญี่ปุ่นในไทยไม่ได้รับกระทบจากสงครามการค้า แต่กังวลกับรายได้ในอนาคต ชี้ส่งออกในอาเซียน 3 เดือนที่ผ่านมาดีขึ้น มีเวียดนามเป็นหัวแถว ฟากตัวแทนอียูมองยุโรปอยู่บนความไม่แน่นอนของเบร็กซิต

ในงานครบรอบ 25 ปี สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) มีวงเสวนาพูดคุยเรื่อง อนาคตของเศรษฐกิจไทยในมิติของความท้าทายจากความไม่แน่นอนรวมไปถึงโอกาสที่รออยู่ ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาทั้งจากฝั่งต่างประเทศและฝั่งในประเทศ ได้แก่ 'อะสึชิ ทาเคทานิ' ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ, 'ฟิลิปป์ ดูปุยส์' อัครราชทูตที่ปรึกษา หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและการค้า แห่งสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (อียู) , 'อรมน ทรัพย์ทวีธรรม' อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และ 'ศุภนิธิ์ จันทรศิริ' ผู้อำนวยการสายงานโครงสร้างพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) หรือ EEC

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย
  • ผู้ร่วมเสวนาเรื่องก้าวสู่ภูมิทัศน์ใหม่เศรษฐกิจ : ความท้าทายและโอกาสที่กลับมา

สถานการณ์รอบโลก

'ทาเคทานิ' กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์สงครามการค้าในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเห็นได้ชัด โดยตัวเลขการส่งออกของไทยไปจีนช่วงเดือน ม.ค. 2561 ตามข้อมูลของ เจโทร อยู่ที่ร้อยละ 11.4 ขณะที่ตัวเลขเมื่อเดือนกันยายน 2562 อยู่ที่ร้อยละ 13.7

โดยทาเคทานิ มองว่า ตัวเลขการส่งออกของประเทศในอาเซียนเริ่มกลับมาดีขึ้นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เวียดนาม ยังคงได้ส่วนแบ่งการส่งออกมากที่สุด

ในฝั่งของบริษัทญี่ปุ่นที่ตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ามากนัก เนื่องจากประเทศที่บริษัทเหล่านี้ส่งออกมากที่สุด คือญี่ปุ่น รองลงมาคือประเทศในอาเซียน แต่ก็สร้างความกังวลเรื่องรายได้ให้กับนักลงทุนไม่น้อย 

อะสึชิ ทาเคทานิ-ประธานเจโทร
  • อะสึชิ ทาเคทานิ' ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ

ผลสำรวจความมั่นใจของนักลงทุนที่มีต่อผลกระทบของสงครามการค้าเมื่อเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 46.2 จากเดิมที่อยู่ที่ร้อยละ 31.9 ในเดือน ตุลาคม - ธันวาคม 2561 อย่างไรก็ตาม บริษัทญี่ปุ่นค่อนข้างมองสถานการณ์ในปี 2563 จะคลี่คลายขึ้น 

ขณะที่ 'ฟิลิปป์' พูดถึงสถานการณ์ระหว่างสหภาพยุโรปและอังกฤษว่ายังอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอน และมีสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ถึง 3 รูปแบบ ได้แก่ (1) การที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปแบบมีข้อตกลงรวมกัน (2) การที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปแบบไม่มีข้อตกลงร่วมกัน และ (3) การที่อังกฤษตัดสินใจอยู่กับสหภาพยุโรปก่อน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดกรณีใดขึ้น ความสัมพันธ์ของประเทศไทยและสหภาพยุโรปยังคงเหมือนเดิม แต่ 'ฟิลิปป์' กล่าวว่า ตนไม่สามารถกล่าวแทนได้ว่า ความสัมพันธ์ของไทยกับอังกฤษจะเป็นเช่นไร 

ความพยายามเจรจาการค้าของไทย

'อรมน' กล่าวในงานนี้ ในประเด็นว่า สิ่งที่ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กำลังทำอยู่ในขณะนี้คือการเดินหน้าเจรจาเรื่องเขตการค้าเสรี โดย 3 ประเทศเป้าหมายในปัจจุบัน ได้แก่ ปากีสถาน ศรีลังกา และ ตุรกี 

สาเหตุที่กระทรวงพาณิชย์เลือก 3 ประเทศนี้ เพราะจำนวนประชากรและสถานที่ตั้ง อีกทั้งยังเป็นการเปิดตลาดการค้าใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการในประเทศไทย โดยคาดว่าจะสามารถปิดการเจรจาได้ภายในสิ้นปี 2563 

ขณะที่ การเจรจาอาเซป หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ที่เป็น ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค ระหว่างอาเซียน 10 ประเทศ กับคู่ภาคีที่มีอยู่ 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ก็กำลังดำเนินอยู่

โดย 'อรมน' กล่าวว่า หากรัฐบาลสามารถผลักดันได้สำเร็จ นี่จะเป็นการเจรจาการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นร้อยละ 32 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีของโลก และคิดเป็นร้อยละ 30 ของมูลค่าการค้าโลก

อีอีซี เป็นอย่างไรบ้าง

โครงการมูลค่า 1.7 ล้านล้านบาทของไทย ยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจชาติ 'ศุภนิธิ์' กล่าวว่า โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เน้นไปที่กฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย รวมไปถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ลงทุน

'ศุภนิธิ์' ชี้ว่า ไม่เพียงอีอีซีจะมีการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (อู่ตะเภา-ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ) อีอีซียังมีทั้งโครงการที่สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล รวมถึงอุตสาหกรรมการแพทย์เพื่อตอบโจทย์สังคมสูงอายุ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :