นายธีรพันธ์ อธิรัฐธนภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงมาตรการกวดขันเรื่องการจอดหรือขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าในพื้นที่ กทม. แม้ปัจจุบัน กทม.จะกำหนดอัตราโทษการจับ-ปรับ ผู้กระทำผิดเป็นจำนวนเงิน 1,000 บาท ถือเป็นโทษที่ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ดำเนินการมาแล้ว 1 ปี แต่ยังพบผู้ฝ่าฝืนกระทำอยู่ ดังนั้น ได้ประชุมหารือกับผู้บริหาร กทม. กำหนดนโยบายเพิ่มโทษปรับผู้กระทำผิดเป็นจำนวนเงิน 2,000 บาท โดยจะเริ่มจับปรับอัตราใหม่วันที่ 1 ส.ค. นี้เป็นต้นไป จำนวนค่าปรับที่เพิ่มยังถือว่าอยู่ในกรอบของ พ.ร.บ.รักษาความสะอาด ที่สามารถจับปรับได้สูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท
ส่วนสถิติการจับปรับผู้กระทำผิดการขับขี่บนทางเท้าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา จับกุมได้ทั้งสิ้น 20,870 คน ดำเนินคดีแล้ว 14,870 คน ตักเตือนไปประมาณ 4,000 ราย ที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินคดี รวมเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 11,374,000 บาท
กทม.ยังคงเปิดให้ประชาชนแจ้งเบาะแสพบเห็นผู้ขับขี่รถ จักรยานยนต์ขับขี่บนทางเท้ามายังช่องทางต่างๆ ของสำนักเทศกิจ โดยเจ้าหน้าที่จะติดตามดำเนินคดี และเปรียบเทียบปรับ เป็นจำนวนเงิน 2,000 บาททุกรณี โดยจะแบ่งค่าปรับให้กับผู้แจ้งเบาะแสครึ่งหนึ่ง ในกรณีที่ดำเนินการถึงที่สุดแล้ว คือเมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับรูปหลักฐานมาจะประสานกับกรมการขนส่ง เพื่อตรวจสอบว่าเจ้าของคือใคร ก่อนส่งจดหมายเปรียบเทียบปรับให้กับเจ้าของรถ ถ้ามาจ่ายจะแบ่งเข้ารัฐครึ่งหนึ่ง คือ 1,000 บาท และประชาชน 1,000 บาท แต่ถ้าหมดอายุความ ตำรวจจะรับช่วงไปดำเนินคดีต่อ โดยที่ประชาชนจะไม่ได้ส่วนแบ่ง
ขั้นตอนการจ่ายเงินส่วนแบ่งค่าปรับสำหรับประชาชนที่ต้องการจะแจ้งเบาะแสมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. เบาะแสที่แจ้งต้องครบถ้วน เช่น ภาพหรือคลิปวิดีโอ ต้องบันทึกการกระทำความผิดที่ชัดเจน วันเวลา สถานที่เกิดเหตุ รายละเอียดรถ ทะเบียนรถ และอื่นๆ ให้มากที่สุดเพราะการส่งภาพมาเฉยๆ บอกเพียงกว้างๆ ไม่ถือเป็นเบาะแสที่เพียงพอ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดตามได้ทันที หรืออาจต้องใช้เวลามากจนเกินไป นอกจากนี้ยังต้องระบุชื่อและนามสกุลของผู้แจ้ง เลขประจำตัวประชาชน ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งข้อมูลของผู้แจ้งจะปกปิดเป็นความลับ
2. ช่องทางในการติดต่อ เมื่อเบาะแสครบถ้วนแล้ว สามารถแจ้งมาได้ที่ไลน์แอด ebn6703w ,Facebook : สำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร,สายด่วนสำนักเทศกิจ 02-465-6644 ,Email : [email protected] เว็บไซต์ http://203.155.220.179/reward/default.php หรือ http://www.bangkok.go.th/reward
3. เมื่อส่งเบาะแสเข้ามาแล้ว เจ้าหน้าที่เทศกิจจะต้องส่งข้อมูลไปยังกรมการขนส่วงทางบก เพื่อขอที่อยู่การจดทะเบียนของรถจักรยานยนต์คันดังกล่าว เมื่อได้มาแล้วจึงจะจัดส่งจดหมายไปยังเจ้าของรถให้มาชำระค่าปรับ ซึ่งถ้าเจ้าของรถเข้ามาชำระค่าปรับทันที ก็ถือว่าสิ้นสุดคดี
4. หากเจ้าของรถเพิกเฉยไม่มาชำระค่าปรับ ทางสำนักเทศกิจจะส่งเรื่องไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อติดตามดำเนินคดีต่อไป
5. การติดตามเรื่องสำหรับกรณีที่แจ้งเบาะแสมาสมบูรณ์ จะต้องมีเลขที่รับเรื่องสำหรับติดตามความคืบหน้า แนะนำให้ถามผู้รับเรื่องให้เรียบร้อยตั้งแต่แรก ส่วนการติดตามขอให้ใช้ช่องทางเดียวกันกับที่แจ้งหรือต้องติดต่อโดยตรงที่ฝ่ายเทศกิจของแต่ละสำนักงานเขต
6. การรับเงินส่วนแบ่งหากเป็นความผิดเล็กน้อย เจ้าหน้าที่อาจเรียกผู้กระทำความผิดเข้ามาเพื่อตักเตือนเท่านั้น แต่ถ้าเป็นความผิดที่มีการเปรียบเทียบปรับและมีการจ่ายค่าปรับเสร็จสิ้น ผู้แจ้งถึงจะได้เงินส่วนแบ่ง ซึ่งจะมีจดหมายส่งมาตามที่อยู่ที่กรอกไว้แต่ต้นให้มารับเงินภายใน 60 วัน ที่สำนักงานเขตพื้นที่รับผิดชอบ
Photo by Evan Krause on Unsplash
ข่าวที่เกี่ยวข้อง