รายการ Intelligence ประจำวันที่ 18 มกราคม 2558
1.รศ.ดร.สังศิตไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาปฏิรูปแห่งชาติ
คณะกรรมาธิการเสนอให้ยกเลิกคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ยกเลิกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้มี "สภากิจการตำรวจแห่งชาติ" ที่มีกรรมการประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวกับความมั่นคง หัวหน้าส่วนราชการกระบวนการยุติธรรม กรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้ทรงคุณวุฒิที่ผ่านการคัดเลือกจาก ส.ส.และ ส.ว. เข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลการทำงานของตำรวจแทน
และเสนอให้กระจายอำนาจการบริหารจากเดิมที่รวมศูนย์ไว้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปลี่ยนเป็น ตำรวจส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น
ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ แต่งตั้ง โยกย้าย หรือถอดถอนตำรวจ รวมทั้งยังเสนอให้จัดโครงสร้างองค์กรตำรวจ รวมถึงปรับเปลี่ยนหน่วยงานให้มีความเหมาะสม โดยให้ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับงานด้านใด ให้โอนไปขึ้นตรงกับหน่วยงานนั้น เช่น ตำรวจป่าไม้ ไปอยู่กับกรมป่าไม้ ตำรวจรถไฟ ไปอยู่กับการรถไฟแห่งประเทศไทย และตำรวจท่องเที่ยว ให้ไปอยู่กับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นต้น
2.ข้อเสนอของสังศิตคือ ยกเลิกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แยกเป็นตำรวจจังหวัด ไม่ต้องมีส่วนภูมิภาคส่วนท้องถิ่น ไม่ต้องมีกองบัญชาการภาค ตำรวจจังหวัดรายงานต่อผู้ว่าฯ แล้วให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนกำกับดูแล
ในส่วนกลางก็เหลือแต่ตำรวจนครบาล ตำรวจสอบสวนกลาง ตำรวจสันติบาล โดยไม่ต้องมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ขึ้นต่อสำนักนายกฯ ตำรวจอื่นๆ เช่นรถไฟ ท่องเที่ยว ป่าไม้ ตม.ให้โอนไปขึ้นกับหน่วยงานอื่น
ตำรวจไม่ต้องมียศ
ให้อัยการมีอำนาจสอบสวน ตำรวจเป็นเพียงผู้ช่วยอัยการหาพยานหลักฐาน
(ยังต้องซักรายละเอียดมากกว่านี้ เช่น DSI จะมีหรือไม่ ไม่มียศ ตำรวจจะยอมไหม ให้อัยการมีอำนาจสอบสวน ตำรวจจะยอมไหม กองบัญชาการอื่นๆ จะทำอย่างไร เช่น ตชด.การศึกษา โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ฯลฯ)
3.โครงสร้างเดิมของตำรวจ
โครงสร้างเดิม ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มี ก.ต.ช. 11 คน ประกอบด้วย 1.นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน 2.รมว.มหาดไทย 3.รมว.ยุติธรรม 4.ปลัดมหาดไทย 5.ปลัดยุติธรรม 6.เลขาธิการ สมช. 7.ผบ.ตร. 8.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย 9.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านงบประมาณ 10.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพัฒนาองค์กร และ 11.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวางแผน/บริหารจัดการ
ก.ตช.เป็นผู้แต่งตั้ง ผบ.ตร.จากการเสนอชื่อของนายกฯ
ส่วนการโยกย้ายตำรวจระดับนายพลเป็นอำนาจของ ก.ตร.ซึ่งมี 22 คน มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย ก.ตร.โดยตำแหน่ง ได้แก่ ผบ.ตร. เลขาธิการก.พ. รองผบ.ตร. 7 คน จเรตำรวจแห่งชาติ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นอดีตตำรวจระดับผบช.ขึ้นไปที่เกษียณอายุราชการเกิน 1 ปี 5 คน มาจากการเลือกตั้งของตำรวจระดับผู้กำกับขึ้นไป และ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์ ด้านนิติศาสตร์ ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ อาชญาวิทยา งานยุติธรรม รวม 6 คน ซึ่งประเภทหลังนี้มาจากการเลือกของ ก.ตร.โดยตำแหน่งกับ ก.ตร.จากเลือกตั้ง ประชุมร่วมกันแล้วเลือก
แต่เมื่อเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา คสช.มีคำสั่งที่ 88/2557 ให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ก.ต.ช. ใหม่ เหลือคณะกรรมการเพียง 9 คน โดยตัด รมว.ยุติธรรม รมว.มหาดไทย และผู้ทรงคุณวุฒิออก 2 คน เพิ่มปลัดกลาโหม และรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ผู้ทรงคุณวุฒิเหลือ 2 คน ต้องผ่านการคัดเลือกจากวุฒิสภา พร้อมกับให้อำนาจเสนอชื่อ ผบ.ตร.คนใหม่เป็นของ ผบ.ตร.คนเดิม ไม่ใช่นายกฯ
ส่วน ก.ตร.เหลือกรรมการ 13 คน โดยปรับลดผู้ทรงคุณวุฒิลงเหลือเพียง 2 คน ผ่านการคัดเลือกจากวุฒิสภา