มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และสแตนฟอร์ด พัฒนาซอฟท์แวร์ Magic Sauce ใช้ข้อมูลจากการกด Like ในเฟสบุค มาวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์ พบว่าความสามารถในการวิเคราะห์ทำได้ดีกว่าเพื่อน หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัว
นายไมเคิล โคซินสกี้ อาจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ระบุว่า เรากำลังเข้าสู่ยุคที่คอมพิวเตอร์สามารถคาดการณ์พฤติกรรมมนุษย์ โดยใช้การกด Like เป็นตัวชี้วัดความชอบของได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ทีมนักวิจัยออกแบบแบบสอบถาม 100 ข้อ ประกอบกับการใช้ข้อมูลการ Like ในเฟสบุค ผ่านมิติของบุคลิกภาพ 5 ประการ ประกอบด้วย ความเปิดเผย ความประนีประนอม ความยึดมั่นในหลักการ ความมั่นคงทางอารมณ์ และการเปิดใจสู่การเรียนรู้
การวิจัยนี้ยังบอกด้วยว่า ซอฟท์แวร์นี้สามารถวิเคราะห์คนๆหนึ่งได้ดีกว่าเพื่อนร่วมงาน โดยพิจารณาจากสิ่งที่เขาเลือกกด Like เพียง 10 Like เท่านั้น หากวิเคราะห์จากข้อมูลจำนวน Like 70 ครั้ง สามารถวิเคราะห์ตัวตนของคนเราได้ดีกว่าเพื่อนสนิท และหากศึกษาจากจำนวนที่มากขึ้น จากการกด Like 150 ครั้ง จะให้ภาพชัดเจนก��่าพ่อแม่หรือพี่น้อง และเมื่อดูจากการกด Like จำนวน 300 Like จะวิเคราะห์ได้ดีกว่าสามีภรรยาเสียอีก
เพราะการกด Like ในเฟสบุค ทั้งเรื่องของสินค้า กิจกรรม ดนตรี กีฬา จะเป็นตัวชี้วัดได้อย่างดีว่า คนกด ชอบหรือไม่ชอบอะไรบ้าง สำหรับการวิจัยครั้งนี้ ใช้อาสาสมัคร 8 หมื่น 6 พันคน ในการตอบคำถาม 100 ข้อ และได้รับการอนุญาตจากพวกเขาให้ใช้ข้อมูลการ Like ประกอบการวิจัย โดยซอฟท์แวร์นี้สามารถวิเคราะห์ได้เลยว่า คนๆหนึ่งมีโอกาสเป็นคนรักร่วมเพศได้กี่เปอร์เซ็นต์ มีมุมมองทางการเมือง ศาสนาเป็นอย่างไร มีความพอใจในชีวิตมากน้อยแค่ไหน และมีความฉลาดหรือไม่
เป็นที่น่าสนใจว่า เราอาจสามารถใช้ข้อมูลจากการ Like บนเฟสบุค ประกอบการตัดสินใจจ้างงาน เลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งแต่งงานได้ แ ละฉากจากภาพยนตร์เรื่อง Her ที่นักเขียนหนุ่มที่ตกหลุมรักระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ อาจกลายเป็นความจริงได้ เพราะระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เนต ดูจะทวีความอัจฉริยะต่อไปไม่หยุดยั้ง
ภาพจาก : AFP