สถานการณ์รุนแรงทางการเมือง “ระเบิดป่วนเมือง” กับภารกิจของนักเก็บกู้วัตถุระเบิด ที่ต้องพร้อมทุกสถานการณ์
การจับกุมผู้ต้องหาที่เตรียมนำระเบิดไปวางบริเวณทำเนียบรัฐบาล เมื่อช่วงเย็นวันที่ 24 มกราคม 2554 ก่อนการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรฯ เพียงวันเดียว พร้อมกับขยายผลไปยังกลุ่มผู้ร่วมขบวนการอีก 4 คนที่ครอบครอบอาวุธสงครามร้ายแรงหลายรายการ โดยตำรวจเชื่อมโยงว่า มีลักษณะการประกอบระเบิดเหมือนกับเหตุระเบิดที่บิ๊กซีราชดำริ และย่านราชประสงค์ ในช่วงสถานการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดง
ในสถานการณ์รุนแรงทางการเมือง ระเบิดป่วนเมือง ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน จากสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า “ระเบิดการเมือง”ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2553 จนถึงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว มีจำนวน 130 เหตุการณ์ ส่วนสถิติการลอบวางระเบิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนถึง 1,964 เหตุการณ์
กลุ่มงานเก็บกู้ และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด กองบังคับการสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล รับผิดชอบพื้นที่นครบาล และปริมณฑล เมื่อได้รับแจ้งพบวัตถุต้องสงสัย ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด ที่ประกอบด้วยทีมงาน 4-5 คน จะต้องออกปฏิบัติหน้าที่ทันที
พ.ต.ท.กำธร อุ่ยเจริญ รองผู้กำกับการกลุ่มงานเก็บกู้ และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด ซึ่งถือเป็นนักกู้ระเบิดมือหนึ่ง และเป็นครูฝึกของนักเก็บกู้ระเบิด อธิบายปรัชญาของนักเก็บกู้ระเบิดว่ามี 4 ข้อ
1. ชีวิต ต้องปลอดภัยทั้งชีวิตของผู้เก็บกู้ และประชาชนทั่วไป
2.ทรัพย์สิน ต้องไม่เสียหาย
3.วัตถุพยานเพื่อประกอบการดำเนินคดี ต้องเก็บรวบรวมให้ครบถ้วน
4. ชุมชนต้องดำเนินชีวิตเป็นปกติ
ส่วนสถานการณ์ที่นักเก็บกู้วัตถุระเบิดต้องเผชิญมี 4 สถานการณ์ โดยในทีมเก็บกู้วัตถุระเบิดต้องประเมินสถานการณ์ร่วมกันก่อนตัดสินใจว่า จะเก็บกู้ระเบิดนั้นอย่างไร
1. สถานการณ์ที่ต้องเก็บกู้ระเบิดด้วยมือเท่านั้น เป็นสถานการณ์ที่อยู่กับบุคคลสำคัญ หรือพื้นที่พิเศษ เช่นโรงพยาบาล
2. สถานการณ์ระเบิดภายในอาคาร
3. สถานการณ์ระเบิดภายนอกอาคาร
4. สถานการณ์ระเบิดกลางแจ้ง
ติดตามภารกิจของนักเก็บกู้วัตถุระเบิด ที่ต้องพร้อมทุกสถานการณ์และชมอุปกรณ์ที่จำเป็นของนักเก็บกู้วัตถุระเบิด ทั้งบอมบ์สูท หุ่นยนต์ ปืนแรงดันน้ำ ในรายการ Intelligence
Produced by VoiceTV