รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563
นักวิเคราะห์ Talking Thailand เปิดมุมมอง หลังงานเสวนา “เงินกับการเมือง :อิสระกับการตรวจสอบ” ที่นักวิชาการหลายสาขามองว่า...ถึงอย่างไรก็ไม่ควรยุบอนาคตใหม่ ที่ “ใบตองแห้ง” ยกความเห็นของ “แก้วสรร อติโพธิ” ที่ยืนตรงข้าม แต่ก็มองไม่ควรถึงขั้นยุบพรรค .... “คำผกา” แจง 3 ปม “พรรคอนาคตใหม่” หายใจก็ผิด
รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. กล่าวภายในงานเสวนา “เงินกับการเมือง : อิสระกับการตรวจสอบ” ว่า ตัวกฎหมายที่เป็นปัญหาและประเด็นของการนำไปสู่คดีของพรรคอนาคตใหม่ มี 3 มาตราตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองปี 2560 คือมาตรา 62 ว่าด้วยรายได้ของพรรคการเมือง /มาตรา 66 การบริจาคเงินเกิน 10 ล้านบาทต่อปีไม่ได้ ซึ่งทั้งสองมาตราไม่มีเหตุให้ยุบพรรค และมาตรา 72 การห้ามบริจาคเงินและทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้ว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งสามารถนำไปสู่การยุบพรรคได้ ซึ่งกรณีนี้ตนขอชวนทุกคนตั้งคำถามให้ตอบสามข้อ
ข้อที่หนึ่ง เงินกู้เป็นเงินบริจาคหรือไม่ ใน พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับใหม่ ได้ให้นิยามเงินบริจาคว่า หมายถึงการให้เงินหรือทรัพย์สิน เลยต้องถามต่อไปว่าเงินกู้เมื่อให้กู้แล้วถือเป็นการให้หรือไม่ ถ้าใช่ตนจะได้รีบไปกู้ เพราะเงินกู้คือการให้ ดังนั้นข้อสรุปแรก เงินกู้ไม่ใช่เงินบริจาค
ข้อที่สอง เงินกู้เป็นรายได้หรือไม่นั้น ปัจจุบันมี 16 พรรคการเมืองที่ทำการกู้เงิน และยังมีอีก 16 พรรคการเมือง ที่ปรากฏเงินยืมบันทึกไว้ในรายการหนี้สิน ไม่ใช่รายได้ซึ่งกรณีนี้ กกต.ยังนำไปเชื่อมโยงกับมาตรา 72 คือการไปรับเงินหรือประโยชน์อื่นใดโดยรู้ว่ามีแหล่งที่มา โดยมิชอบ และยังมีโทษจำคุกด้วย ซึ่งเจตนาในมาตรานี้ ควรจะหมายถึงการไปรับเงินสีเทา บ่อน การพนัน ค้ายา คอรัปชั่น ฟอกเงิน แต่ตอนนี้ กกต.นำมาเล่นในแง่ที่ว่าเงินกู้เป็นรายได้อื่น
ข้อที่สาม เงินกู้เป็นผลประโยชน์อื่นใดหรือไม่ เรื่องนี้ต้องไปดูว่า เงินกู้ทำให้หนี้ลดลงหรือไม่ หรือทำให้หนี้เพิ่มขึ้นกันแน่ ถ้ากู้แล้วหนี้ลดลงตนจะรีบไปกู้ เพราะฉะนั้นการกู้ไม่ได้ทำให้หนี้ลดลง ดังนั้นเงินกู้จึงไม่ใช่ประโยชน์อื่นใด
นายสมชัย กล่าวว่า สุดท้ายแล้วเงินกู้คืออะไรกันแน่ ถ้าไม่ใช่ทั้งเงินบริจาค รายได้ หรือประโยชน์อื่นใด ขอตอบว่าเงินกู้ก็คือเงินกู้นั่นแหละ อย่าคิดอะไรมาก
และคือหนี้สินที่ไม่ใช่รายได้ ไม่ใช่เงินบริจาคหรือประโยชน์อื่นใด และพรรคการเมืองจำนวนมากใช้เงินกู้เป็นแหล่งเงินทุนในการหาเสียง ตราบใดที่เขาไม่สามารถระดมทุนได้ให้หาเสียงทัน และตราบที่ คสช.ยังกั๊กไม่ให้ทำกิจกรรมทางการเมืองมาห้าปีแล้วค่อยมาผ่อนคลายเพียงไม่กี่วันก่อนการออกกฤษฎีกาเลือกตั้ง
รศ.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตามหลักการแล้วสิทธิในการรวมตัวคือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ในทุกประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ถ้าตามประวัติศาสตร์แล้วก็คือการรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมือง พรรคการเมืองจึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐ มีหน้าที่ต้องส่งเสริมและปกป้อง ไม่ใช่ไปบีบคั้น เพราะฉะนั้นในต่างประเทศเขาจึงส่งเสริมมากกว่าควบคุม เฉพาะในด้านการเงินอย่างเดียว พรรคการเมืองในประเทศประชาธิปไตยมีข้อจำกัดน้อยมาก ขอแค่มีความโปร่งใสเปิดเผยให้ครบถ้วน ไม่มีเงินสีเทาก็เป็นใช้ได้ และในหลายประเทศรัฐยังมีเงินให้ด้วย เพราะฉะนั้นในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเขาส่งเสริมพรรคการเมือง ไม่มีการยุบพรรคการเมือง
ร.ศ.พิชิต กล่าวว่า กฎหมายพรรคการเมืองในประเทศไทยเป็นกฎหมาย คุมกำเนิดพรรคการเมือง คือชนชั้นนำรู้แล้วว่าตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นมาพรรคการเมืองกลายเป็นเครื่องมือของประชาชน ที่จะใช้ในการต่อรองและแบ่งปันอำนาจ ถ้าเราไปดูโครงสร้างรัฐทั้งหมด ถามว่ามีส่วนไหนบ้างที่มาจากการเลือกตั้งมีแค่ส่วนเดียวคือสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากพรรคการเมือง
ทุกวันนี้เป็นรูเล็กๆนิดเดียวที่ประชาชนจะขอเข้าไปดูว่าประเทศนี้ทำอะไรกันบ้าง รูแค่นี้ไม่พอยังเอาเชือกไปคล้องไว้อีก โผล่หัวออกไปมากก็รัดคอให้ตาย เพราะฉะนั้นกฎหมายพรรคการเมืองในประเทศนี้คือกฎหมายควบคุมพรรคการเมืองไม่ให้โต แล้วยังมีองค์กรอิสระ ก็คือการใช้อำนาจตุลาการมาอยู่เหนืออำนาจนิติบัญญัติและบริหาร ณ วันนี้การเมืองไทยวันนี้ยังไม่ได้ก้าวหน้าไปถึงไหน แทนที่เพื่อไทยจะตายไป กลับมีพรรคใหม่ขึ้นมาท้าทาย คือ พรรคอนาคตใหม่ เพราะฉะนั้นเขามีบทเรียน เขาจะปล่อยให้พรรคอนาคตใหม่โตไม่ได้ เขาพลาดมาแล้วทีนึงที่ปล่อยให้พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งถึงสองครั้ง เพราะฉะนั้นเขาจึงปล่อยให้อนาคตใหม่โตไม่ได้ ต้องจัดการ