ก่อนหน้านี้มีสื่ออังกฤษรายงานว่า นักท่องเที่ยวต้องโชว์เงินจำนวน 2 หมื่นบาทให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองก่อนเดินทางเข้ามาในไทย ซึ่งทางการไทยย้ำว่าเป็นหลักปฏิบัติสากล ทีมข่าววอยซ์ทีวีได้ไปสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวว่ารู้สึกอย่างไรบ้างกับมาตรการดังกล่าว
จากกรณีที่เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ ดิ อินดีเพนเดนท์ของอังกฤษรายงานว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของไทยเรียกดูเงินสดจำนวน 20,000 บาท จึงจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าประเทศได้ ซึ่งเกิดขึ้นที่สนามบินดอนเมือง เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา และด่านปาดัง เบซาร์เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม สำนักข่าววอยซ์ทีวี ได้สำรวจความคิดเห็นของต่างชาติกรณีดังกล่าว
นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่รู้สึกว่า มาตรการนี้เป็นการเลือกปฏิบัติ แต่ก็เข้าใจว่า ไทยมีสิทธิ์ออกมาตรการใดๆก็ได้ตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบไปยังเว็บไซต์สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองพบว่า ข้อที่ระบุถึงคุณสมบัติทั่วไปของผู้ที่จะยื่นขอวีซ่าเข้าไทยนั้น ต้องถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางที่ถูกต้องสมบูรณ์ และมีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 6 เดือน/ มีหลักฐานแสดงการเดินทางออกจากไทยหลังสิ้นสุดการพำนักในไทย และไม่เป็นบุคคลต้องห้ามเข้าราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ไม่มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชน หรือเป็นบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศได้ออกหมายจับ/ โดยเว็บไซต์ดังกล่าวยังระบุชัดเจนว่า นักท่องเที่ยวต้องมีเงินค่าใช้จ่ายเพียงพอในขณะพำนักในไทยตามระเบียบกำหนดคืออย่างน้อยคนละ 20,000 บาท ซึ่งสอดคล้องกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองนายหนึ่ง ที่ไม่ประสงค์ระบุนาม ให้สัมภาษณ์กับวอยซ์ทีวี
อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวรู้สึกว่า มาตรการดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อไทยได้
มาตรการเรียกดูเงินสดจากนักท่องเที่ยว ไม่ได้ใช้ในไทยเท่านั้น ถือเป็นมาตรการตามหลักสากลที่ปฏิบัติในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรป ที่นอกจากการแสดงหลักฐานทางการเงินระหว่างขอวีซาแล้ว หากได้วีซา นักท่องเที่ยวจะได้รับเอกสารเตือนว่าให้นำเงินสดจำนวนที่กฎหมายระบุติดตาม กรณีโดนเรียกตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่
ด้านเจ้าหน้าที่จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่ให้สัมภาษณ์กับวอยซ์ทีวีย้ำว่า การปฏิบัติดังกล่าวทำเพื่อป้องกันนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาทำงานหรืออยู่ในไทยอย่างผิดกฎหมาย โดยระบุว่า หากเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตาม จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 57 ว่าด้วยการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต