รายการ Intelligence ประจำวันที่ 27 ตุลาคม 2555
นโยบายด้านการต่างประเทศของไทยเป็นนโยบายที่ถูกจับตามอง เพราะถูกผูกโยงเข้ากับความเคลื่อนไหวนอกประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ล่าสุดหลังจากผู้ตรวจการแผ่นดิน มีคำสั่งให้รัฐมนตรีต่างประเทศเพิกถอนหนังสือเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ และฝ่ายค้านก็รับลูกด้วยการเตรียมยื่นถอดถอน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
รศ.ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ จากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น วิเคราะห์ว่า ปัญหารากเหง้าของการเมืองภายในประเทศ ทำให้นโยบายด้านการต่างประเทศถูกจับเป็นตัวประกัน โดยเฉพาะกรณีพิพาทปราสาทพระวิหารของไทย - กัมพูชา ยังเป็น "ระเบิดเวลา" ในอนาคตที่อาจถูกปลุกจากกลุ่มพันธมิตร และพรรคประชาธิปัตย์ได้อีก หากศาลโลกมีคำสั่งออกมาในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้าเพราะความสัมพันธ์ไทยกัมพูชา เป็นความสำเร็จระยะสั้น โดยยังไม่มีนโยบายในระยะยาว นักวิชาการจากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ยังวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างไทย กับประเทศกลุ่มอาเซียน อาทิ พม่า มาเลเซีย เวียดนาม รวมถึงยักษ์ใ��ญ่โลกตะวันตก อย่างสหรัฐ และโลกตะวันออกอย่าง จีนว่า ความสัมพันธ์ไทย-จีน อยู่บน "การแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง" ทำให้ไทยขาด จุดยืนต่อกรณีที่จีนมีข้อพิพาทด้านดินแดนต่อประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และเวียดนาม
รศ.ดร.ปวิน ยังเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า จากผลงานวิจัยการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ไทยอยู่ในอันดับสุดท้ายของกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้ง ๆที่ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ริเริ่มก่อตั้งกลุ่มอาเซียน โดย 3 ประเทศแรก ที่เตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนมากที่สุด คือ ลาว กัมพูชา และเวียดนาม จึงเรียกร้องให้รัฐบาลปัจจุบันเร่งปรับนโยบายเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า