รายการ Intelligence ประจำวันเสาร์ ที่ 29 กันยายน 2556
ทำไมคนเดือนตุลาที่เคยต่อสู้ร่วมเป็นร่วมตายกันมา จึงแตกแยกเป็น 2 ความคิด เข้าไปอยู่ในขั้วเหลืองแดง
มองย้อนคนเดือนตุลาจากนักวิชาการรุ่นหลัง ที่ทำวิจัยเรื่องคนเดือนตุลามาทั้งคู่ ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับธิกานต์ ศรีนารา จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ทั้งสองชี้ว่าคนเดือนตุลาไม่ได้มีความคิดเหมือนกัน อย่างที่สังคมเคยเข้าใจ ขบวนการโค่นล้มเผด็จการถนอม ประภาส เมื่อ 14 ตุลา 2516 มีความคิดหลากหลาย เพียงแต่หลัง 14 ตุลา กระแสหลักในขบวนการนักศึกษาเทไปที่ความคิดสังคมนิยม เป็น "ฝ่ายซ้าย" จนถูกปราบปรามเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 ก็เข้าป่าไปต่อสู้ด้วยอาวุธร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
แต่เมื่อ พคท.ล่มสลาย ป่าแตก คนเดือนตุลาก็กลับสู่ความคิดหลากหลายอีกครั้ง คนส่วนหนึ่งหันไปหากระแสแบบพุทธ กระแสวัฒนธรรมชุมชน กลับไปสู่แนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม ซึ่งแม้แตกต่างกันบ้างแต่ก็มีจุดร่วมคือ ต่อต้านทุนนิยมโลกท้ายที่สุด ความคิดหลากหลายของคนเดือนตุลาก็กลับมามีเพียง 2 กระแส
หมายเหตุ
คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ร่วมกับสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เชิญร่วมการสัมมนา "หลัง 14 ตุลา" นำเสนองานวิจัยของนักวิชาการรุ่นหลัง วิพากษ์การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของ "คนเดือนตุลา" อาทิเช่น ธิกานต์ ศรีนารา, อุเชนทร์ เชียงแสน, กนกรัตน์ เลิศชูสกุล, เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ฯลฯ และวิจารณ์โดย ธเนศ อาภร์สุวรรณ, ประจักษ์ ก้องกีรติ, ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์ และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
วันที่ 5-6 ตุลาคม 2556 นี้ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 ตึกอเนกประสงค์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์