นักวิจัยเกาหลีใต้ชี้ว่า เทรนด์การกินข้าวคนเดียวที่พบเห็นได้มากขึ้นในประเทศ อาจสอดคล้องกับความเสี่ยงเป็นโรคอ้วนของคนรุ่นใหม่ ในช่วงวัย 20 ถึง 30 ปี
ก่อนหน้านี้เคยมีงานวิจัยในเกาหลีใต้ชี้ว่า ผู้สูงอายุ 25 เปอร์เซ็นต์ กินอาหารตัวคนเดียวเป็นประจำ ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ล่าสุดมีอีกงานวิจัยที่พบความเชื่อมโยงระหว่างการกินข้าวคนเดียวกับสุขภาพ โดยระบุว่าคนวัย 20 และ 30 ปี ที่กินข้าวคนเดียวเสี่ยงเป็นโรคอ้วน งานวิจัยนี้นำโดยศาสตราจารย์ ชังซองอิน จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยยอนเซ ในกรุงโซล โดยใช้ดัชนีมวลร่างกายหรือ BMI เป็นเกณฑ์จำแนกกลุ่มตัวอย่าง หรือก็คือการหาดัชนีชี้วัดการใช้น้ำหนักตัวหารด้วยส่วนสูงกำลังสอง ซึ่ง BMI ที่เกินจาก 25 จัดว่าอ้วน
งานวิจัยชี้ว่า กลุ่มตัวอย่างช่วงวัย 20 ถึง 29 ปี มี BMI เฉลี่ยที่ 22.76 และเมื่อคำนวณออกมาเป็นน้ำหนักแล้วพบว่าคนที่กินข้าวคนเดียวน้ำหนักมากกว่าคนที่กินกับคนอื่นเฉลี่ย 1.2 กิโลกรัม ซึ่งชังซองอินให้ความเห็นว่า คนที่กินอาหารคนเดียวอาจไม่คำนึงเรื่องโภชนาการและปริมาณที่พอเหมาะ ซึ่งการจะทราบถึงพฤติกรรมการเลือกอาหารที่แน่ชัดได้ จำเป็นต้องทำวิจัยเพิ่มเติม
เบื้องต้น งานวิจัยนี้รวบรวมข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง 13,300 คน ที่ให้ข้อมูลโภชนาการกับกระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ระหว่างปี 2013 - 2015 ท่ามกลางเทรนด์การกินข้าวคนเดียว หรือ 'ฮนบับ' ที่มีให้พบเห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ สอดคล้องกับการมีครัวเรือนเดี่ยวในสังคมเกาหลีใต้ หรือก็คือ ครอบครัวที่มีสมาชิกคนเดียว ไม่มีคู่สมรส พ่อแม่ หรือบุตรต้องดูแล