สำนักข่าวต่างประเทศเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า แม้ลำโพงอัจฉริยะในปัจจุบันจะสามารถทำตามคำสั่งได้หลายอย่าง และหลายรุ่นก็โทรออกแทนโทรศัพท์ได้ แต่การโทรแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย หรือ เรียกตำรวจ กลับเป็นข้อจำกัดที่ลำโพงเหล่านี้ทำไม่ได้
สำนักข่าวต่างประเทศด้านเศรษฐกิจอย่าง The Wall Street Journal ตีพิมพ์บทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับลำโพงอัจฉริยะที่กำลังเป็นที่นิยมไปทั่วสหรัฐฯ ในปัจจุบัน เช่น Amazon Echo และอุปกรณ์ Google Home ที่ผู้ใช้มักเลือกสั่งการให้ทำสิ่งต่าง ๆ ทั้งเล่นเพลงฮิต รายงานสภาพอากาศ หรือแม้แต่โทรหาเพื่อน แต่ไม่ว่าลำโพงเหล่านี้จะอัจฉริยะขนาดไหน ผู้ใช้กลับไม่สามารถสั่งให้โทร 911 หรือก็คือ การโทรเรียกตำรวจ ได้
บทความที่ตั้งชื่ออย่างตรงไปตรงมาว่า Alexa Can Do Many Things But Won’t Call 911 หรือ 'อเล็กซาทำได้หลายอย่าง แต่จะไม่โทร 911' ของ ซาราห์ เคราส์ คอลัมนิสต์ด้านสารสนเทศ ระบุว่า บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง แอมะซอน และกูเกิล ภายใต้บริษัทแม่ อัลฟาเบต ไม่พัฒนากลไกส่วนที่จะอำนวยความสะดวกด้านการแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายสำหรับลำโพงเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเหล่านี้ แม้ว่าฟีเจอร์ในลำโพงอัจฉริยะในปัจจุบันจะพัฒนามาให้โทรหาเบอร์โทรศัพท์มือถือและโทรศัพท์บ้านได้แล้วก็ตาม และขณะนี้ก็มีผู้ใช้ลำโพงอัจฉริยะในสหรัฐฯ มากถึง 20 ล้านครัวเรือน เพิ่มจากปีที่แล้วเกือบเท่าตัว
สาเหตุพื้นฐานมาจากปัญหาเรื่องความเสถียรของอินเทอร์เน็ต โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารในภาวะฉุกเฉินระบุว่า การโทรแจ้งเหตุกับตำรวจหรือเบอร์ฉุกเฉินต่าง ๆ นั้น จำเป็นต้องส่งข้อมูลโลเคชันและเบอร์โทรกลับไปยังผู้รับสายด้วย ในขณะที่ลำโพงส่วนใหญ่ทำได้แค่สื่อสารทางเดียว หรือก็คือ แค่โทรออกไปยังผู้รับเท่านั้น แต่ไม่มีข้อมูลจีพีเอสแบบรีลไทม์อย่างที่สมาร์ตโฟนมี
หรือแม้แต่การส่งข้อมูลโลเคชันไปยังเบอร์ 911 โดยโทรศัพท์มือถือปัจจุบันก็ตาม เมื่อส่งไปยัง 911 แล้ว โครงสร้างพื้นฐานของกรมตำรวจสหรัฐฯ ก็ยังไม่สามารถรับข้อมูลนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะระบบที่ทำไว้นั้นผูกอยู่กับโทรศัพท์บ้านเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าผู้ใช้ในสหรัฐฯ จะโทร 911 จากลำโพงอัจฉริยะไม่ได้เสียทีเดียว และจะทำได้หากจ่ายค่าบำรุงระบบรายเดือนเพิ่ม ซึ่งจะไปซัปพอร์ตค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่สมบูรณ์นี้ ซึ่งปัจจุบันค่าใช้จ่ายดังกล่าวยังแตกต่างกันไปตามมลรัฐ โดยจะอยู่ระหว่าง 25 เซ็นต์ ถึง 3 ดอลลาร์ หรือก็คือ 8 บาท ถึง 100 บาท และจะรวมอยู่ในค่าโทรศัพท์แต่ละเดือนเลย
ด้านองค์กรบริหารคลื่นความถี่ของสหรัฐฯ หรือ FCC กำลังอยู่ในขั้นต้นของการพิจารณาปรับปรุงกฎเกณฑ์การโทรแจ้งเหตุฉุกเฉินเช่นกัน โดยเบื้องต้นอาจผ่อนผันให้แอปพลิเคชันบางประเภท เช่น บริการดูแลผู้สูงอายุ ติดต่อเบอร์ฉุกเฉินได้ทันท่วงที ซึ่งแม้สุดท้ายแล้วแนวคิดนี้จะได้รับการอนุมัติ ก็อาจจะยังไม่ครอบคลุมถึงลำโพงอัจฉริยะอยู่เช่นเดิม เพราะยังไม่ถูกรวมอยู่ในระบบคลื่นความถี่ของ FCC
ขณะที่ โฆษกของแอมะซอนกล่าวว่า ผู้ใช้สามารถใช้ดีไวซ์ที่เรียกว่า Echo Connect ในการเชื่อมต่อกับโทรศัพท์บ้านหรือบริการโทรศัพท์บ้านอื่น ๆ เพื่อโทรออกไปยังเบอร์ฉุกเฉินได้ แม้ว่า Amazon Echo และ Echo Dot ทั่วไปจะไม่สามารถทำได้ก็ตาม ส่วนโฆษกของกูเกิลก็ออกมาระบุอย่างตรงไปตรงมาว่า การโทร 911 อยู่ภายใต้ระเบียบที่เคร่งครัดของรัฐบาล ผู้ใช้จึงจำเป็นต้องโทรออกผ่าน 'ตัวช่วย' เช่น แอปพลิเคชัน Google Assistant บนมือถือแทน
ด้าน แดน เฮนรี ผู้อำนวยการแผนก 911 ของสมาคมเบอร์โทรฉุกเฉิน ให้ความเห็นว่า เขาเห็นด้วยที่จะเพิ่มเบอร์โทรฉุกเฉินต่าง ๆ เข้าไปในลำโพงอัจฉริยะ ตราบใดก็ตามที่ระบบสามารถส่งข้อมูลโลเคชันและเบอร์โทรกลับออกไปยังผู้รับได้ ขณะเดียวกัน ระบบ 911 ก็ต้องได้รับการปรับปรุงเช่นกัน และดีไวซ์ใหม่ ๆ ในอนาคตก็ควรที่จะมีศักยภาพพอจะเชื่อมต่อไปยังหน่วยงานให้ความช่วยเหลือพื้นฐานเช่นกัน
สำหรับผู้บริโภคคนหนึ่ง ก็คือ บริดเจ็ต เทย์เลอร์ วัย 62 ปี ระบุว่า เธอเพิ่งหกล้มหลังเดินก้าวออกจากอ่างอาบน้ำเมื่อช่วงต้นปี แต่เธอไม่มีโทรศัพท์มือถือเพื่อโทรแจ้งเหตุ และไม่สามารถสั่งอเล็กซาให้โทรหาตำรวจแทนได้ แม้จะอยู่ในระยะที่ออกคำสั่งได้ก็ตาม ทำให้เธอหวังว่าในอนาคต ลำโพงอัจฉริยะจะรองรับฟังก์ชันที่จำเป็นต่อชีวิตเช่นนี้ในที่สุด โดยตอนนี้ เทย์เลอร์ใช้บริการปุ่มขอความช่วยเหลือฉุกเฉินสำหรับผู้สูงอายุ ที่ต้องเสียค่าบริการ 40 ดอลลาร์ หรือ 1,320 บาทต่อเดือน
ปัจจุบัน ลำโพงอัจฉริยะยังไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ 100% นอกสหรัฐฯ ทำให้การใช้งานในเมืองไทยยังค่อนข้างจำกัดอยู่เพียงการพูดคุยทักทาย การบอกสภาพอากาศ สภาพการจราจร ตารางนัดหมาย เล่นเกมผ่านเสียง และให้หาข้อมูลเบื้องต้นในอินเทอร์เน็ตเท่านั้น