นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประสบความสำเร็จในการคิดค้นวิธีสังเคราะห์แสงในห้องทดลอง ซึ่งอาจทำให้เกิดการผลิตพลังงานทดแทนมาใช้ได้อย่างไร้ขีดจำกัด
‘คาร์ตาซินา ซอคอล (Katarzyna Sokol)’ นักศึกษาระดับปริญญาเอกด้านเคมีจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ได้คิดค้นวิธีสังเคราะห์แสงในห้องทดลองได้สำเร็จ โดยกระบวนการนี้ใช้เพียงแสงอาทิตย์เท่านั้น ในการแยกแก๊สไฮโดรเจนและออกซิเจนออกมาจากหยดน้ำ
โดยปกติแล้วการสังเคราะห์แสงเป็นกระบวนการที่พืชเปลี่ยนแสงอาทิตย์และน้ำให้กลายเป็นพลังงาน หรือน้ำตาล และผลิตแก๊สออกซิเจนออกมาเป็นผลพลอยได้ ในขณะที่กระบวนการที่เพิ่งคิดค้นได้ในห้องทดลองนี้จะใช้แสงอาทิตย์และน้ำมาในการผลิตแก๊สออกซิเจนและไฮโดรเจน ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่ง่ายกว่าและสะอาดมากกว่า ซึ่งการสังเคราะห์แสงของพืชมีประโยชน์มากต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก เพราะเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนที่สำคัญที่สุด นอกจากนั้น แก๊สไฮโดรเจนที่ได้จากการสังเคราะห์แสงในห้องทดลองยังสามารถนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนได้อย่างไร้ขีดจำกัด
การศึกษานี้ได้ทดลองเทคนิคกึ่งสังเคราะห์แสงเทียมเพื่อมาใช้ผลิตและกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้มา ซึ่งนอกจากทีมวิจัยจะผลิตพลังงานได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังคิดค้นวิธีที่จะนำสาหร่ายมาผลิตออกซิเจนอีกด้วย ซึ่งกระบวนการนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อหลายล้านปีก่อน ในยุคที่ยังไม่มีออกซิเจนในชั้นบรรยากาศ โดยเอนไซม์ในสาหร่ายสามารถสังเคราะห์แสงได้จากแก๊สไฮโดรเจน แต่หลังจากที่ชั้นบรรยากาศมีออกซิเจน สาหร่ายจึงสิ้นสุดกระบวนการนี้