ไม่ใช่เรื่องแปลกในยุคนี้ที่จะเห็นผู้หญิงทำงานในสายอาชีพที่หลากหลายและท้าทายกว่าในอดีต ซึ่งหลายคนก็ทุ่มเททำงานหนัก จนแทบไม่มีเวลาพัก โดยผลวิจัยล่าสุดชี้ว่า ผู้หญิงที่ทำงานหนักจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานสูงกว่าคนที่ไม่บ้างาน
วารสารวิจัยโรคเบาหวาน BMJ Open Diabetes Research & Care เผยผลวิจัยที่ทดสอบชาวแคนาดา 7,065 คน เป็นเวลา 12 ปีว่า ผู้หญิงที่ทำงานมากกว่า 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานมากกว่าคนที่ทำงาน 35 ถึง 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ถึง 63 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม เมื่อนำปัจจัยอื่นมาร่วมคำนวณด้วย เช่น การสูบบุหรี่ การออกกำลังกาย การดื่มแอลกอฮอล์ และมวลกาย พบว่าจะทำให้ความเสี่ยงลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
สำหรับผู้ชายที่ทำงานนานหลายชั่วโมงกลับไม่พบว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น ซึ่งผู้วิจัยยังไม่ทราบแน่ชัดถึงว่าความแตกต่างทางเพศส่งผลอย่างไร แต่คาดว่าน่าจะเกี่ยวกับกิจกรรมที่ผู้หญิงทำนอกเวลางานที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน เช่น การทำงานบ้าน หรือการได้ค่าแรงน้อยกว่าผู้ชาย ที่อาจทำให้เกิดความเครียด นอกจากนั้น ผู้หญิงที่ทำงานหนักอาจมีเวลาดูแลตัวเองน้อยลง จึงทำให้กินอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่ไปออกกำลังกาย และอาจไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ
ก่อนหน้านี้ ในปี 2016 งานวิจัยจากญี่ปุ่นได้เผยความเชื่อมโยงระหว่างความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานกับการทำงานมากกว่า 45 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่การค้นคว้าในปี 2006 ซึ่งเน้นศึกษาผู้หญิงก็ได้ผลลัพธ์คล้ายกันว่า การทำงานต่อเนื่องหลายชั่วโมงส่งผลเสียต่อร่างกายหลายด้าน ซึ่งรวมถึงโรคหัวใจเช่นกัน
ขณะเดียวกัน ผลการศึกษาด้านสุขภาพชี้ว่า การพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานได้ ซึ่งผู้หญิงวัยกลางคนมักเสี่ยงที่จะมีอาการนอนไม่หลับอยู่แล้ว จึงอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ผลวิจัยล่าสุดออกมาเช่นนี้
สำหรับโรคเบาหวานถือเป็นปัญหาใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าในปี 2030 จะมีผู้ป่วยเบาหวานมากถึง 439 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าในปี 2010 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ นักวิจัยจึงแนะนำให้สถานประกอบการช่วยทำให้คนทำงานน้อยลงด้วย เพราะมีผลต่อสุขภาพของลูกจ้าง