เอเชียไทมส์ เสนอบทวิเคราะห์ความพยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยโดยยกตัวอย่างการผลักดันกฎหมายภาษีที่ดินที่ไม่คืบหน้า ชี้สาเหตุเพราะทหาร นักธุรกิจ นักการเมือง เป็นพันธมิตรกัน
หนังสือพิมพ์ออนไลน์ เอเชียไทมส์ เผยแพร่บทรายงานของผู้สื่อข่าว ปีเตอร์ แจนเซน ระบุว่า แม้ครองอำนาจมานาน 4 ปี รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่คลอดกฎหมายที่ดินตามที่เคยประกาศไว้ภายหลังการทำรัฐประหาร ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านคณะรัฐมนตรีตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว แต่จนถึงวันนี้ ร่างฯยังคงติดค้างอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บอกว่า เข้าใจกันว่ากฎหมายฉบับนี้คงไม่ผ่านสนช. ตอนนี้เรื่องถูกระงับไว้ ตนมองไม่เห็นสัญญาณว่าสมาชิกสนช.จะผลักดันออกมาเป็นกฎหมาย
บทรายงานบอกว่า ต่อให้สามารถออกกฎหมายฉบับนี้สำเร็จ การกระจายความมั่งคั่งก็จะแทบไม่เกิดขึ้นเนื่องจากอัตราภาษีที่ดินนั้นต่ำมาก โดยคาดว่าจะทำให้มีรายได้เข้ารัฐเพียงแค่ 20,000 ล้านบาท ในขณะที่เป้าการเก็บภาษีของไทยในปี 2561 อยู่ที่ประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท
ตามร่างฉบับปัจจุบัน รัฐจะเก็บภาษีเฉพาะคนที่มีทรัพย์สินเป็นมูลค่าเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป และผู้ถือครองบ้านหลังที่สองจะถูกเก็บภาษีในอัตราเพียงร้อยละ 0.1 ของมูลค่าทรัพย์สิน ดังนั้น เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะถูกเก็บภาษีจึงมีแค่ร้อยละ 1 ซึ่งเป็นคนกลุ่มที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศ
ผลการศึกษาของผาสุก พงษ์ไพจิตร กับคริส เบเกอร์ พบว่า ในเมืองไทย คนส่วนน้อยถือครองที่ดินมาก คนส่วนมากถือครองที่ดินน้อย โดยกลุ่มคนรวยที่สุด 10 % ของประชากร 66 ล้านคน ถือครองที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 61 ขณะกลุ่มคนยากจนที่สุด 10 % นั้น มีที่ดินรวมกันแค่ 0.1 %
ภาพความเหลื่อมล้ำในไทยยังสะท้อนผ่านการจัดอันดับมหาเศรษฐีด้วย เมื่อปี 2554 นิตยสารฟอร์บพบว่า มหาเศรษฐีไทยในกลุ่ม 10 อันดับแรกมีสินทรัพย์รวมกันเท่ากับ 32,050 ล้านดอลลาร์ฯ ล่าสุดในปี 2561 ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวเป็น 111,500 ล้านดอลลาร์ฯ
รายงานบอกว่า ทั้งรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ขึ้นภาษีคนรวย เนื่องจากความเป็นพันธมิตรระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองกับชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ
ความเป็นพันธมิตรนี้แนบแน่นยิ่งขึ้นในยุคของพล.อ.ประยุทธ์ ผ่านทางนโยบาย “ประชารัฐ” ซึ่งเป็นการจับมือกันระหว่างธุรกิจยักษ์ใหญ่กับรัฐบาลทหาร ซึ่งนโยบายนี้เปิดทางให้มหาเศรษฐีมีอิทธิพลในการกำหนดนโยบาย