รอยเตอร์ชี้คนไทยเจอโรคเลื่อนเลือกตั้งจนครบ 4 ปีรัฐประหาร คนยากไร้ยิ่งจนลง เกิดการชุมนุมประท้วงถี่ขึ้น ขณะดัชนีคอร์รัปชั่น-มาตรการแจกไม่แตกต่างจากรัฐบาลชุดก่อน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน เมื่อ (17 พ.ค.61) ว่า ขณะที่คณะรัฐประหารของไทยครองอำนาจครบ 4 ปีในวันที่ 22 พ.ค.2561 ผลโพลทั้งภายในและนอกประเทศพบว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังเผชิญวิกฤตการยอมรับ
รายงานระบุว่า รัฐบาลทหารเคยบอกว่าจะนำประเทศกลับสู่ประชาธิปไตยภายใน 2 ปี แต่กำหนดการเลือกตั้งได้เลื่อนมาแล้วหลายครั้ง ล่าสุดกำหนดในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บอกว่า การเลือกตั้งอาจเลื่อนไปจนถึงกลางปีหน้า
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ระบุว่า การลงมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติอาจทำให้ต้องเลื่อนการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่จำเป็นสำหรับการจัดเลือกตั้งออกไปอีก ดังนั้น การเลือกตั้งอาจล่าช้าไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2562
รอยเตอร์รายงานอีกว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลทหารเผชิญกับการประท้วงหลายกรณี ตั้งแต่บ้านพักตุลาการที่เชียงใหม่ จนถึงการชุมนุมของกลุ่มคนยากจนในนาม พี-มูฟ
ด้านนายเดชรัต สุขกำเนิด นักเศรษฐศาสตร์การเกษตรแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า ภาคการเกษตร ซึ่งมีขนาด 8 % ของเศรษฐกิจไทย ได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายหลายอย่างของรัฐบาลทหาร ชาวนาและชาวสวนยางเผชิญกับปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ
นอกจากนี้ในรายงานของรอยเตอร์ยังเผยว่า รัฐบาลทหารให้คำมั่นที่จะปล่อยเงินกู้หลายพันล้านบาท เพื่อพยุงราคาสินค้าเกษตร รวมทั้งแจกเงินคนจน ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า มาตรการแบบนี้ไม่ต่างจากนโยบายที่ถูกเรียกว่า ประชานิยม ของรัฐบาลที่กองทัพได้ยึดอำนาจไป
ตามตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2560 กลุ่มคนรายได้ต่ำ ซึ่งมีสัดส่วน 45 % ของประชากร มีรายได้ต่อหัวน้อยกว่าเมื่อปี 2558 แม้ว่า GDP ไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 1 % เมื่อปี 2557 เป็น 3.9 % ในปี 2560 แต่ภาคการเกษตรมีอัตราเติบโตติดลบอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ไตรมาสตั้งแต่ปี 2557-2559 เพิ่งขยายตัวขึ้น 6.2 % ในปี 2560
เรื่องการปราบปรามคอร์รัปชั่น ซึ่งรัฐบาลทหารใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจนั้น ดัชนีการรับรู้การทุจริต จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ Transparency International พบว่า ไทยได้ 37 จากคะแนนเต็ม 100 นับว่าต่ำกว่าตอนที่ทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 เพียงเล็กน้อย