'จาตุรนต์' วิเคราะห์ จุดแข็งเพื่อไทยคือประชาธิปไตย พร้อมหนุนพรรคการเมืองใหม่ ที่ชูธงประชาธิปไตย แม้จะกระทบฐานเสียงพรรคเพื่อไทยก็ตาม
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เผยกับ Voice TV ถึง มุมมองต่อพรรคการเมืองใหม่ และ การปรับตัวของพรรคการเมืองเก่า โดยเห็นว่า การเกิดขึ้นของพรรคใหม่ - เป็นเรื่องดี ที่มีพรรคการเมืองเพิ่มขึ้น แต่แค่จำนวนพรรคก็ยังตอบไม่ได้ว่า จะทำให้การเมืองไทย คึกคัก เข้มข้นแค่ไหน แต่ที่น่าสนใจ คือ มีหลายพรรค ประกาศจุดยืนชัดเจนแล้ว เช่น สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี , เป็นพรรคของ กปปส. , หรือ เป็นพรรคที่พยายามทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย พร้อมเสนอแนวคิดใหม่ๆ
'จาตุรนต์' มองอย่างไรกับการตั้งพรรค กปปส.?
'จาตุรนต์' ระบุ เป็นเรื่องดีพรรค กปปส. ที่เข้าสู่ระบบการเมือง ดีกว่าอยู่นอกระบบต่อ แล้วสร้างแรงต่อต้านการเลือกตั้ง ทำลายประชาธิปไตย
'จาตุรนต์' มีมุมมองต่อพรรคแบบใหม่ (พรรคของธนาธรและปิยบุตร) อย่างไร ?
'จาตุรนต์' ระบุ 'เป็นเรื่องน่ายินดี เพราะยังไม่มีพรรคไหนชูเรื่องการเป็นพรรคคนรุ่นใหม่ มีความคิดสร้างประชาธิปไตยแบบใหม่ๆ
พรรคของธนาธรและปิยบุตร คล้ายกับตอนก่อตั้งพรรคไทยรักไทยหรือไม่?
'จาตุรนต์' ระบุ มีส่วนคล้ายอยู่บ้าง ตรงที่เป็นพรรคใหม่ แต่บริบทอาจไม่เหมือนกันนัก เพราะตอนปี 2544 พรรคไทยรักไทยเข้ามาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ ประชาชนกำลังเรียกหาผู้นำ แต่อย่างไรก็ตาม น่าจับตาแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยหลังจากนี้ ที่ขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่
พรรคของธนาธรและปิยบุตร จะแย่งฐานเสียงพรรคเพื่อไทย หรือไม่?
'จาตุรนต์' ระบุ แม้จะเร็วไปที่จะมองเรื่องแย่งฐานเสียง แต่ยอมรับว่า จะแบ่งคะแนนไป เพราะฐานเสียงกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตย คือ กลุ่มเดียวกัน หรือ อาจจะได้คะแนนจากกลุ่มที่เพื่อไทยไม่เคยได้มาก่อน
พรรคเก่าปรับตัวอย่างไร?
'จาตุรนต์' ระบุ พรรคการเมืองเก่า มีโจทก์ที่ต้องแก้ คือ ภาพลักษณ์นักการเมือง และพรรคการเมือง ที่ถูกโจมตีมาตลอดว่า เป็นคนไม่ดี และตอนนี้ ก็มีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้น ที่ชูเรื่องประชาธิปไตย วิสัยทัศน์ใหม่ คนรุ่นใหม่ ดังนั้น พรรคเก่า ต้องคิด และทำให้เกิดความชัดเจนว่า จะทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร ขณะเดียวกัน ก็ต้องดึงคนรุ่นใหม่เข้าร่วม และสื่อสารให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ไปในคราวเดียวกันด้วย
'จาตุรนต์' มอง จุดแข็ง-จุดอ่อน พรรคเพื่อไทย อย่างไร?
'จาตุรนต์' ระบุ จุดแข็ง คือ ประชาชนเชื่อถือนโยบายพรรค ว่าปฏิบัติได้จริง แต่ผ่านมาหลายปีแล้ว บ้านเมืองเปลี่ยนไป ปัญหาสะสม พรรคต้องมีนโยบายที่ตรงกับปัญหา และจุดแข็งอีกข้อ คือ มีภาพชัดเจน เรื่องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งพรรคเพื่อไทยต้องเข้าไปแก้กฎหมายต่างๆ รวมทั้งรัฐธรรมนูญ ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ส่วนจุดอ่อน ยอมรับว่า เพื่อไทย ยังไม่เป็นสถาบันพรรคการเมือง สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ เข้าใจได้ในเบื้องต้นว่า ตามกฎหมายพรรคการเมืองบังคับไว้ชัดเจน ว่า ไม่ให้บุคคลภายนอกมายุ่งเกี่ยวกับพรรค ดังนั้น บุคคลที่เคยผูกพันกับพรรค จะมีส่วนช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาในรูปแบบใด คงต้องจัดการให้เหมาะสมโดยไม่ผิดกฎหมาย
ความชัดเจนด้านผู้นำพรรคเพื่อไทย?
'จาตุรนต์' ระบุ ยังไม่ชัดเจน เพราะยังติดเงื่อนไข คสช. ประชุมไม่ได้ แต่ก็มีหลายแนวทาง เช่น จะแยก หัวหน้าพรรค กับ คนที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ออกจากกัน หรือไม่ และจะให้ผู้นำพรรคกับกรรมการบริหารพรรค เป็นกลุ่มเดียวกันหรือไม่
ถ้าเสนอ จาตุรนต์ เป็นหัวหน้าพรรค?
'จาตุรนต์' ระบุ เป็นเพียงการสมมุติ จึงยังตอบไม่ได้ และยังไม่ถึงเวลา
พรรคการเมือง (ทั้งหมด) จะร่วมกันผ่าทางตันประเทศได้ไหม?
'จาตุรนต์' ระบุ ปัญหาใหญ่ คือ เรื่องนายกฯ คนนอก ถ้ามีพรรคการเมืองสนับสนุน จนมีนายกฯ คนนอก และต้องใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ต่อไป ก็หมายความว่า ไม่ฟังเสียงประชาชน ประเทศเสียหาย แต่ถ้าพรรคการเมือง รวมพลัง ไม่เอานายกฯ คนนอก รัฐบาลก็จะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ แต่...ก็จะถูกกลไกรัฐธรรมนูญจัดการ พรรคการเมือง ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้ได้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเพราะรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งต้องใช้เวลา ถ้าประชาชนเข้าใจ ก็จะผ่าทางตันได้ เชื่อว่า การเมืองช่วง 15 - 20 ปีมานี้ ทำให้ประชาชนตระหนักว่า ระบบพรรคการเมือง ระบบรัฐสภา มีประโยชน์กับประชาชน และประเทศไทย