กลุ่มประเทศสมาชิกสหประชาชาติ 170 ประเทศ ตั้งเป้าลดการใช้พลาสติกร่วมกันให้ได้ภายในปี 2030 หลังการเจรจาเกี่ยวกับกับประเด็นสิ่งแวดล้อมติดต่อกันนานถึง 5 วันเต็ม
นักการเมือง นักวิทยาศาสตร์ และนักธุรกิจกว่า 4,700 คน จาก 170 ประเทศ เข้าร่วมเจรจาเกี่ยวกับกับประเด็นสิ่งแวดล้อมนาน 5 วันในการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ในกรุงไนโรบี ของเคนยา โดยประเทศสมาชิกยูเอ็น 170 ประเทศทั่วโลกได้ลงมติที่ไม่มีการผูกมัดทางกฎหมาย ว่าจะลดการใช้พลาสติกอย่างมีนัยสำคัญให้ได้ภายในปี 2030
ประธานการประชุมกล่าวว่า นี่เป็นเรื่องยากที่จะหาทางแก้ไขแบบเดียวกันที่เหมาะสมสำหรับทุกประเทศสมาชิก แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมมาถึงจุดพลิกผันแล้ว ทุกประเทศควรมีความมุ่งมั่นแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในตอนแรกอินเดียเสนอให้ทุกประเทศยุติการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น ถุงพลาสติก แก้วพลาสติก หลอดดูดน้ำ ช้อนส้อมพลาสติก ภายในปี 2025 ซึ่งประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนจากหลายประเทศคัดค้านข้อเสนอดังกล่าว เช่น ซาอุดีอาระเบีย คิวบา รวมถึงสหรัฐฯ ด้วย ซึ่งถูกกล่าวหาเป็นประเทศที่ทำให้มติยูเอ็นครั้งนี้ไม่หนักแน่นและไม่มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน มีเพียงการระบุว่าจะลดพลาสติก "อย่างมีนัยสำคัญ" เท่านั้น ซึ่ง UN ระบุว่า ทุกปีมีการทิ้งถุงพลาสติกกว่า 5 แสนล้านถุงทั่วโลก มีการซื้อน้ำบรรจุขวดพลาสติกถึง 1 ล้านขวดต่อ 1 นาที นอกจากนี้ ยังมีขยะพลาสติกมากกว่า 8 ล้านตันตกลงไปในท้องทะเล ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและปะการัง การร่วมมือกันอย่าเร่งด่วนจริงเป็นมาตรการที่มากกว่าคำว่าจำเป็น