การกลั่นแกล้งในที่ทำงาน หรือ Workplace Bullying ภัยร้ายที่ส่งผลกระทบต่อทั้งประสิทธิภาพของการทำงานและสุขภาพทางจิตใจ เป็นพฤติกรรมที่ทำให้พนักงานหมดไฟ ซึ่งทุกหน่วยงานและบริษัทควรใส่ใจและให้ความสำคัญ
เว็บไซต์ 'ฟอร์บส' เผยแพร่บทความที่เกี่ยวกับประเด็น 'การกลั่นแกล้งในสถานที่ทำงาน' หรือที่เราเรียกกันว่า Workplace Bullying โดยมีการอ้างอิงผลงานวิจัยของ Acas เมื่อปี 2015 ซึ่งระบุว่า กว่า 75 % ของพนักงานบริษัทที่ทำการตอบแบบสำรวจ เคยมีประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนร่วมงานและหัวหน้ามาก่อน ขณะที่ ผลวิจัยปี 2017 ของ Workplace Bullying Institute หรือ WBI ของสหรัฐฯ ชี้ว่า พนักงานกว่า 60 % ที่ถูกทำการศึกษานั้น ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมการกลั่นแกล้งในที่ทำงาน
งานวิจัยชิ้นนี้ยังระบุอีกด้วยว่า พฤติกรรมการกลั่นแกล้งในที่ทำงานไม่ได้เกิดขึ้นกับความสัมพันธ์ระดับหัวหน้างานกับลูกน้องน้องเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแล้วการกลั่นแกล้งเกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมงานระดับเดียวกันด้วย โดยสิ่งที่พบเห็นได้อย่างชัดเจนคือการแย่งชิงอำนาจทางสังคม ซึ่งงานวิจัยจากออสเตรเลียชิ้นหนึ่งยืนยันว่า ชาวออสเตรเลียอย่างน้อย 1 ใน 2 คนต้องเคยประสบกับพฤติกรรมการกลั่นแกล้งในที่ทำงานอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิตการทำงาน ซึ่งนั่นคืออัตราครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว
ขณะที่ โพลของ YouGov ปี 2015 เปิดเผยว่า ผู้คนในวัยทำงาน 29 % เผชิญกับการถูกกลั่นแกล้งในที่ทำงาน ซึ่งผู้หญิงมีโอกาสถูกกลั่นแกล้งมากกว่าผู้ชายในอัตรา 34 ต่อ 23 % ซึ่งโพลดังกล่าวระบุด้วยว่า กลุ่มคนที่มักถูกกลั่นแกล้งมากที่สุด คือ คนที่มีอายุระหว่าง 40 ถึง 59 ปี และกลุ่มพนักงานชาวเอเชียถูกกลั่นแกล้งมากถึง 29 % ขณะที่ พนักงานผิวขาวถูกกลั่นแกล้งราว 18 % เท่านั้น และ UNISON เคยรายงานผลสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 60,000 คนในปี 2011 ผลปรากฏว่า มีพนักงานราว 36,000 คน ที่เคยพบเห็นพฤติกรรมการกลั่นแกล้งในสถานที่ทำงาน
แม้ว่าตัวเลขของผลการศึกษาเหล่านี้จะแสดงความชัดเจนได้อย่างมาก ว่ากลุ่มคนวัยทำงานต้องรับมือกับภัยร้ายที่เกิดขึ้นรอบตัวในสถานการณ์มากเพียงใด คำถามที่สำคัญที่สุดยังคงหนีไม่พ้นประเด็นที่ว่า เรามีความเข้าใจปัญหา Workplace Bullying กันมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากทางกฎหมายแล้วไม่มีคำจำกัดความตายตัวที่จะสามารถช่วยอธิบายความหมายที่แท้จริงของพฤติกรรมเชิงลบเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน ว่าครอบคลุมถึงพฤติกรรมประเภทใดบ้าง
สภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แรงงาน หรือ TUC อธิบายไว้ว่าการบุลลี่ในสถานที่ทำงาน คือ การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งรู้สึกว่ากำลังถูกกีดกัน หรือแบ่งแยกจากการกระทำที่ไม่ยุติธรรม จากบุคคลที่ลงมือกลั่นแกล้ง ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างานก็ตาม ส่วน Acas ระบุว่าการถูกกลั่นแกล้งในที่ทำงาน คือ การถูกปฏิบัติด้วยความรุนแรง ข่มขู่ หรือดูถูก รวมถึงการใช้อำนาจเพื่อสร้างความขายหน้า ทำให้รู้สึกอับอาย หักหลัง หรือการทำให้บาดเจ็บ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างเป็นประจำ
นอกจากนั้น การบุลลี่ยังหมายรวมถึงการละเมิด การทำตัวเป็นใหญ่ด้วยความตั้งใจที่จะกดขี่ผู้อื่น ส่งผลโดยตรงให้ผู้ที่ถูกกระทำนั้นรู้สึกกลัว และเกิดความรู้สึกหดหู่ และที่แย่ไปกว่านั้น พฤติกรรมการกลั่นแกล้งเช่นนี้มักจะเกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนตัวของบุคคลที่มีอำนาจเหนือกว่า และยากที่จะหาหลักฐานเอาผิดคนที่มีพฤติกรรมแบบนี้ได้
ฟอร์บส ยังระบุอีกด้วยว่า พฤติกรรมการกลั่นแกล้งเพื่อนร่วมงานนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถเรียกว่าเป็นความบังเอิญได้ เนื่องจากการจะกลั่นแกล้งใครสักคน ผู้กลั่นแกล้งจะต้องมีการวางแผนล่วงหน้ามาก่อนแล้ว ด้วยเจตนาที่ไม่ดี จึงทำให้การเอาผิดเป็นไปได้ยาก เพราะไม่มีการแสดงออกถึงสาเหตุการบุลลี่ที่แท้จริง และเหยื่อก็จะตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เพราะไม่รู้จะไปปรึกษาใครดี เนื่องจากกลัวจะกระทบต่อหน้าที่การงานของตน และไม่มั่นใจด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองคือการกลั่นแกล้งในที่ทำงานจริงหรือไม่
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือผลกระทบที่เกิดขึ้นเสมอเมื่อมีการบุลลี่ ผลวิจัยจาก TUC ของอังกฤษชี้ว่า 46 % ของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ได้รับผลกระทบที่รุนแรงต่อประสิทธิภาพในการทำงาน และพวกเขายังเชื่อว่าปัญหานี้ส่งผลต่อสุขภาพจิต และมากกว่า 28 % กล่าวว่า พวกเขาไม่ได้รับผลกระทบแค่ทางจิตใจด้วยซ้ำ เพราะมันยังส่งผลต่อความรู้สึกทางกายภาพอีกด้วย ส่งผลให้พนักงานราว 36 % ถึงขั้นต้องลาออกจากสถานที่ทำงานเดิมเพราะถูกกลั่นแกล้งจนไม่สามารถทนได้อีกต่อไป และหากคิดมูลค่าความเสียหายเป็นตัวเงิน Acas ชี้ว่า อังกฤษจะสูญเสียเงินมูลค่ากว่า 18,000 ล้านปอนด์ต่อปี จากปัญหาการเปลี่ยนงานของคนวัยทำงาน การลางานเพราะทนกับการถูกบูลลี่ไม่ไหว และคุณภาพในการทำงานที่ลดลง
ฟอร์บส กล่าวว่า เหยื่อของการบุลลี่มักจะไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกกลั่นแกล้งในช่วงแรก แต่นานวันเข้าการเผชิญกับพฤติกรรมแบบนี้บ่อย ๆ จะส่งผลให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกหดหู่และไม่มีความสุขมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว และทำให้เกิดความรู้สึกไม่อยากแม้แต่จะเข้าออฟฟิศไปทำงานในที่สุด เพราะกลไกของ Workplace Bullying คือการทำลายความเชื่อมั่นของบุคคล ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นผู้ที่มีความภาคภูมิใจหรือความเชื่อมั่นในตัวเองแค่ไหนก็ตาม เมื่อความมั่นใจเริ่มสูญหายไประหว่างทางของการถูกบุลลี่ ผู้ถูกกระทำจะเริ่มมีอาการหมดไฟในการทำงาน เชื่อมั่นในสัญชาตญาณตัวเองน้อยลง สุขภาพกายใจไม่แข็งแรง และรู้สึกว่าตนไม่เหมาะกับงานที่ทำอยู่อีกต่อไป