การพึ่งพาหุ่นยนต์ในการทำงานหรือกิจกรรมอื่น ๆ อาจไม่ได้ส่งผลดีต่อผู้ใช้เพียงอย่างเดียว เพราะวิจัยจากประเทศอังกฤษชี้ว่า 'เด็ก' เป็นกลุ่มผู้ใช้ที่ได้รับอิทธิพลจากจักรกลรอบตัวอย่างมาก และอาจมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดี
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพลีมัท ในอังกฤษ เปิดเผยผลการศึกษาระบุว่า หุ่นยนต์สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กที่มีอารมณ์อ่อนไหว เปราะบาง ไปในทางที่ไม่ดีได้ โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างอายุ 7 ถึง 9 ขวบ ซึ่งทดสอบให้เด็ก ๆ เลือกเส้นตรง 2 จาก 4 เส้น ที่มีความยาวเท่ากัน ซึ่งเมื่อเด็กเหล่านี้ทำแบบทดสอบเองจะได้คำตอบถูกเกือบทั้งหมด แต่เมื่อมีหุ่นยนต์อยู่ข้าง ๆ ความแม่นยำกลับลดลง 12 เปอร์เซ็นต์ และทุกข้อที่ตอบผิดก็ตรงกับคำตอบของหุ่นยนต์ด้วย เท่ากับว่าเด็กเลือกที่จะเชื่อจักรกล แม้ว่าจะผิด และตัวเด็กก็รู้ว่าผิดก็ตาม
ศาสตราจารย์ โทนี เบลเพมี ผู้นำการวิจัย เปิดเผยว่า ตามปกติคนทั่วไปจะคล้อยตามความเห็นของคนอื่นอยู่แล้ว แต่เมื่อหุ่นยนต์เริ่มถูกใช้อย่างแพร่หลายขึ้น ทีมวิจัยจึงต้องการหาคำตอบว่า คนเราจะคล้อยตามความเห็นของหุ่นยนต์หรือไม่ นำมาสู่งานวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งเพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science Robotics ฉบับล่าสุด
ขณะที่ ศาสตราจารย์ โนล ชาร์กีย์ ประธานมูลนิธิ Responsible Robotics เพื่อการใช้จักรกลอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ระบุผ่านทางทวิตเตอร์ถึงผลวิจัยดังกล่าวว่า 'ถ้าข้อมูลนี้เป็นจริง การจะนำหุ่นยนต์มาใช้ในกิจกรรมการดูแลเด็กและการเรียนการสอนในเชิงพาณิชย์ จะเป็นสิ่งที่น่ากังวลทีเดียว'
โดยทีมวิจัยยังได้ทดลองเก็บข้อมูลในลักษณะเดียวกัน จากกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ ซึ่งพบว่าผู้ใหญ่ไม่คล้อยตามคำตอบที่ผิดของหุ่นยนต์ สะท้อนว่า การใช้งานหุ่นยนต์อาจไม่ได้ส่งผลเสียต่อครัวเรือนที่ระดับที่น่าตกใจนัก